top of page
ค้นหา

ครรภ์ไข่ปลาอุกอันตรายแค่ไหน ทำไมถึงเป็นฝันร้ายของคุณแม่ตั้งครรภ์


ครรภ์ไข่ปลาอุกเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดและเป็นอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นภาวะตั้งต้นของการเกิดโรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็งไข่ปลาอุก (Choriocarcinoma) แต่ก็เป็นภาวะที่เราสามารถรักษาและลดความเสี่ยงต่อการเกิดได้ด้วยเช่นกัน เพื่อคลายความกังวลจากภาวะดังกล่าว วันนี้ครูก้อยมีข้อมูลจะมาเล่าให้ฟังกันค่ะ


ครรภ์ไข่ปลาอุกคืออะไร


เป็นภาวะที่มีถุงน้ำรังไข่ (ซีสต์) คล้ายไข่ปลาแต่ไม่มีตัวอ่อนของทารกอยู่ภายใน ส่วนสิ่งที่อยู่ข้างในกลับกลายเป็นเนื้องอกที่ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกได้ โดยภาวะดังกล่าวเกิดจากการตั้งครรภ์ผิดปกติ ส่งผลให้ตัวอ่อนและรกไม่มีพัฒนาการด้านการเจริญเติบโต สำหรับภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกมักพบในคุณแม่ตั้งครรภ์อายุยังน้อย (ต่ำกว่า 20 ปี) และคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป


ส่วนลักษณะของครรภ์ไข่ปลาอุกมี 2 ประเภท ได้แก่ ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว เป็นไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิแต่ได้รับโครโมโซมจากพ่อมาอย่างเดียว และครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับทารก เป็นไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิโดยที่ได้รับโครโมโซมจากแม่มา 23 โครโมโซม แต่ได้จากพ่อมามากถึง 46 โครโมโซม ทำให้เกิดโครโมโซมซ้ำ (Duplication) ส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์และไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้


แม้จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ประจำเดือนขาด คล้ายคนแพ้ท้องก็ตาม แต่หากคุณแม่ท่านไหนมีอาการรุนแรง อาจมีเลือดไหลผิดปกติออกจากช่องคลอด, สูญเสียเลือดปริมาณมาก ส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติได้ด้วย และที่สำคัญภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกสามารถพัฒนาจากเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงกลายเป็นโรคมะเร็งไข่ปลาอุก หรือมะเร็งเนื้อรก (Gestational Trophoblastic Disease) ในระยะยาว


ครรภ์ไข่ปลาอุกมีกี่ประเภท


ในปัจจุบันตรวจพบว่ามีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่

  • ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว (Complete Molar Pregnancy) เป็นภาวะการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ที่ไม่มีตัวอ่อนอยู่ภายในถุงน้ำ

  • ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับทารก (Partial Molar Pregnancy) เป็นภาวะการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ ส่งผลให้ตัวอ่อนผิดปกติและไม่สามารถเจริญเติบโตได้เหมือนการตั้งครรภ์ปกติ

  • ครรภ์ไข่ปลาอุกบริเวณเนื้องอกรก (Invasive mole) เป็นภาวะเนื้องอกรกลุกลามเข้าไปยังกล้ามเนื้อมดลูก จึงเพิ่มโอกาสแพร่เชื้อและพัฒนากลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก

  • มะเร็งไข่ปลาอุก (Choriocarcinoma) เป็นภาวะการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ที่พัฒนาเนื้อเยื่อตัวอ่อนให้กลายเป็นเนื้องอกชนิดเดียวกับมะเร็ง สามารถแพร่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย (ต่ำกว่า 20 ปี) และคุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป

  • คุณแม่ที่มีประวัติเคยมีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกมาก่อน

  • คุณแม่ที่เคยแท้งบุตรมาก่อน

  • คุณแม่ที่ได้รับกรดโฟลิก (Folic Acid) และแคโรทีน (Carotene) น้อยเกินไป

ครรภ์ไข่ปลาอุกมีอาการอย่างไร

  • คลื่นไส้อาเจียนคล้ายอาการแพ้ท้อง แต่อาการรุนแรงกว่า

  • เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ เช่น ความดันโลหิตสูง, มีโปรตีนปนกับปัสสาวะ

  • มดลูกขยายใหญ่ผิดปกติ รู้สึกปวดท้องกะทันหันจากมดลูกบีบอุ้งเชิงกราน

  • มีเลือดสีแดงอ่อนหรือสีน้ำตาลเข้มไหลออกจากช่องคลอด

  • มีความดันโลหิตสูงสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท

  • พบโรคไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย

  • หายใจไม่สุด ไอเป็นเลือด (เกิดจากมะเร็งไข่ปลาอุกลามไปถึงปอด)

รักษาครรภ์ไข่ปลาอุกด้วยวิธีไหนได้บ้าง


1. ขูดมดลูก (Suction curettage)


โดยแพทย์จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดภายนอกปากมดลูกและบริเวณใกล้เคียง จากนั้นจึงส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) สำหรับตรวจดูภายใน จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องมือขูดทางการแพทย์ (Curettes) ในการขูดเอาเนื้อเยื่อออกจากภายในมดลูกโดยใช้ทีนาคูลัม (Tenaculum) และสเปคคูลั่ม (Speculum) สำหรับเปิดและขยายช่องคลอด


2. ผ่าตัดมดลูก (Hysterectomy)


ปัจจุบันในวิธีการผ่าตัดมดลูกทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy), การผ่าตัดมดลูกโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง (Laparoscopic hysterectomy), การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติ (Abdominal hysterectomy) และการผ่าตัดมดลูกโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-assisted hysterectomy)

  • การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด (Vaginal hysterectomy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้เทคโนโลยีสำหรับผ่าตัดเอามดลูกออก ข้อดีของเทคนิคนี้จะไม่ทิ้งรอยแผลหลังการผ่าตัดเอาไว้ นอกจากนี้ยังลดโอกาสติดเชื้อบริเวณแผล, ลดโอกาสเกิดแผลเพิ่มเติมจากบริเวณใกล้เคียงกับแผล และที่สำคัญยังใช้เวลาพักฟื้นน้อยอีกด้วย

  • การผ่าตัดมดลูกโดยใช้กล้องส่อง (Laparoscopic hysterectomy) แพทย์จะเปิดแผลเป็นรอยขนาดเล็กประมาณ 8-12 มิลลิมิตร ทั้งหมด 5 รอย ได้แก่ บริเวณสะดือ 3 รอย และหน้าท้องอีก 2 รอย ข้อดีของเทคนิคนี้จะช่วยให้เจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้องแบบปกติ

  • ผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกทางหน้าท้อง (Abdominal hysterectomy) เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบปกติที่แพทย์จะจะวางยาสลบและใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อกำจัดน้ำทั้งหมดออกจากกระเพาะปัสสาวะไปจนกว่าการผ่าตัดจะเสร็จ ก่อนที่จะทำความสะอาดบริเวณหน้าท้องและช่องคลอดเพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อหลังผ่าตัด จากนั้นจึงผ่าตัดเป็นแนวขวางหรือแนวยาวตามดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งนี้การผ่าตัดอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาง่ายกว่าวิธีอื่น จึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก

  • การผ่าตัดมดลูกโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด (Robotic-assisted hysterectomy) จะใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการรักษาที่มากขึ้น

3. ยุติการตั้งครรภ์ (Induced abortion)


โดยแพทย์ฉีดยาชาเฉพาะจุดเพื่อผ่าตัดและขูดมดลูกออกจากมดลูก ทั้งนี้อาจใช้ยาร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้การขูดเนื้อเยื่อออกมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาจากการยุติการตั้งครรภ์ ได้แก่ การทำแท้งไม่เสร็จภายในรอบเดียว ต้องกลับมาทำซ้ำ, เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ยากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขณะทำแท้งหากทำแท้งกับคลินิกหรือสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน


ป้องกันครรภ์ไข่ปลาอุกได้ด้วยการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม


อย่างที่ครูก้อยกล่าวไปข้างต้นว่า ภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกโดยส่วนใหญ่จะพบในคุณแม่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีและสูงกว่า 35 ปี, คุณแม่ที่เคยแท้งบุตรมาก่อนและคุณแม่ได้รับกรดโฟลิก (Folic Acid) และแคโรทีน (Carotene) น้อยเกินไป ดังนั้นสิ่งที่คุณแม่อยากมีลูกควรทำคือการดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนอย่างเพียงพอตามช่วงวัย, ออกกำลังกายเป็นประจำแต่ไม่หักโหมเกินไป, งดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ยาก เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อย ๆ รวมถึงเลือกรับประทานอาหารบำรุงร่างกายและปรับสุขภาพให้พร้อมต่อการตั้งครรภ์ด้วยการทานไขมันดีหรือ High Density Lipoprotein (HDL) ซึ่งเป็นไขมันคอเลสเตอรอลที่ทำหน้าที่รวบรวมไขมันไม่ดี (Low-Density Lipoprotein หรือ LDL) ตามเลือดทั่วร่างกายเพื่อส่งไปให้ตับกำจัดออกจากร่างกาย โดยไขมันดีจะช่วยลดความเสี่ยงก่อโรคร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด และที่สำคัญยังช่วยลดคอเลสเตอรอล ส่งผลให้น้ำหนักไม่เกินมาตรฐาน สุขภาพแข็งแรง พร้อมต่อการตั้งครรภ์มากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ



บทความที่น่าสนใจ

ดู 540 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page