หนึ่งในปัญหาสุขภาพที่คุณแม่หลายคนอาจต้องระวังเป็นพิเศษถึงแม้ว่าจะตั้งครรภ์แล้วก็ตาม นั่นคือการตั้งครรภ์นอกมดลูกที่สามารถสร้างความลำบากในการตั้งครรภ์และเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่เอง จนถึงขั้นต้องยุติการตั้งครรภ์อีกด้วยนะคะ ว่าแต่ภาวะดังกล่าวเกิดจากอะไร มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับคุณแม่ได้อย่างไรบ้าง วันนี้ครูก้อยจะมาเล่าให้ฟังค่ะ
ตั้งครรภ์นอกมดลูกคืออะไร
เป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่เกิดจากไข่กับสเปิร์มปฏิสนธิกันและกลายเป็นตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่ผนังมดลูก โดยการฝังตัวอ่อนผิดปกติมักพบได้ในท่อนำไข่, ปากมดลูก, รังไข่ หรือช่องท้อง จึงทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นทารกได้ หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจทำให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตภายในท่อนำไข่และไม่สามารถขยายได้อีกต่อไปจนทำให้ท่อนำไข่แตก ส่งผลให้สูญเสียเลือดปริมาณมากและตกเลือดในช่องท้องที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยทั่วไปภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 7 สัปดาห์ขึ้นไป
สาเหตุของการตั้งครรภ์นอกมดลูก
คุณแม่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
ท่อนำไข่ได้รับความเสียหายจนมีรูปร่างที่ผิดไปจากเดิม
มดลูกอักเสบ ท่อนำไข่อักเสบ อุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือรังไข่อักเสบ
การพัฒนาภายในไข่ผิดปกติหลังจากปฏิสนธิ
มีประวัติทำหมันหรือผ่าตัดแก้หมันหญิงมาก่อน
มีรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดอุ้งเชิงกราน
ฮอร์โมนไม่สมดุลระหว่างตั้งครรภ์
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด
การใช้ยาบางชนิดและการรักษาภาวะมีบุตรยาก
สัญญาณเตือนท้องนอกมดลูก
มีอาการเหมือนคุณแม่ตั้งครรภ์ทั่วไป ได้แก่ ขาดประจำเดือน คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก แต่บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
มีเลือดจำนวนมากไหลออกจากช่องคลอด
ปวดตามตัว ทั้งปวดท้องน้อย, ปวดคอ, ปวดไหล่, ปวดทวารหนัก
วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หน้ามืดเป็นลม
บางรายอาจถึงขั้นช็อกหมดสติ
ภาวะแทรกซ้อนจากการท้องนอกมดลูก
กรณีที่คุณแม่มีภาวะดังกล่าวแต่เข้ารับการรักษาช้าเกินไป อาจทำให้ท่อนำไข่และอวัยวะภายในบริเวณที่ไข่ฝังตัวเสียหายจนฉีกขาดหรือติดเชื้อและก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดแพร่กระจายในหลอดเลือด (Disseminated intravascular coagulation: DIC) ส่งผลให้ผู้ป่วยตกเลือด เลือดออกเป็นจำนวนมากออกจากช่องคลอด, ความดันโลหิตต่ำลงและมีภาวะช็อกตามมา หากปล่อยไว้นานหรือมารักษาไม่ทัน อาจนำมาสู่ภาวะช็อกหมดสติและอาจเสียชีวิตในเวลาต่อมา
วิธีรักษาภาวะท้องนอกมดลูก
หากตรวจพบภาวะดังกล่าว คุณหมอจะแนะนำให้นำตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่นอกมดลูกโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ เนื่องจากตัวอ่อนตัวนั้นไม่สามารถเจริญเติบโตได้อีกต่อไป หากปล่อยไว้อาจขยายตัวและสร้างความเสียหายให้แก่อวัยวะภายในของคุณแม่ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของคุณแม่ในระยะยาว ทั้งนี้คุณหมอจะรักษาตามพัฒนาการของตัวอ่อน
หากอยู่ในระยะเริ่มต้นคุณหมอจะจ่ายยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนพัฒนากลายเป็นเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโต แต่หากอาการอยู่ในระดับรุนแรง คุณหมอจะผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparotomy) เริ่มจากการเปิดแผลเพื่อสร้างรูขนาดเล็ก จากนั้นจึงนำกล้องขยายขนาดเล็กและเครื่องมือชนิดพิเศษสอดเข้าไป โดยคุณหมอแพทย์จะส่องดูอวัยวะภายในและผ่าตัดโดยใช้ภาพจากกล้องในการนำตัวอ่อนนอกมดลูกออกไป รวมถึงผ่าตัดซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณที่ตัวอ่อนฝังตัวซึ่งได้รับความเสียหาย หากพบว่ามีเนื้อเยื่อเสียหายมาก คุณหมออาจผ่าตัดนำท่อนำไข่ออกไปด้วย
ป้องกันการท้องนอกมดลูกได้มั้ย
แม้ว่าภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน ไม่วิธีใดที่สามารถป้องกันได้ 100% แต่คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยตัวเองเพียงแค่ดูแลตัวเองดังวิธีต่อไปนี้
1.รับประทานอาหารบำรุงร่างกาย
สำหรับคุณแม่ที่ชื่นชอบอาหารผัด ๆ ทอด ๆ มัน ๆ อย่างพวกอาหารขยะ (Junk food) หรือขนมหวานก็ตาม ควรเบรกตัวเองโดยด่วนค่ะ เนื่องจากอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยไขมัน โซเดียมสูง และน้ำตาล ที่อาจนำมาสู่ภาวะน้ำหนักเกินซึ่งมีผลต่อการมีลูกโดยตรง เนื่องจากน้ำหนักที่มากเกินเกณฑ์มาตรฐานจะลดโอกาสตั้งครรภ์ให้น้อยลง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นอาการประจำเดือนขาด หรือมาไม่สม่ำเสมอ หรือมีภาวะตกไข่ไม่ปกติด้วยค่ะ
สำหรับอาหารที่ครูก้อยแนะนำ ได้แก่ โปรตีนจากพืชอย่างถั่วเหลือง, งาดำ และโปรตีนจากสัตว์อย่างไข่, ปลา, นมแพะ, อกไก่ไม่ติดมัน เพื่อบำรุงเซลล์ไข่ให้อ้วนโต, ผักใบเขียวอย่างผักโขม คะน้า บรอกโคลี อุดมไปด้วยกรดโฟลิกช่วยสร้างและป้องกันความผิดปกติของระบบประสาทของตัวอ่อน, อาหารทะเลอย่าง แซลม่อน ทูน่า หอยนางรม ที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะสืบพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(อ่านเพิ่มเติม: 10 อาหารคนท้อง กินแบบนี้ท้องง่ายขึ้น)
นอกจากนี้ครูก้อยขอแนะนำสารอาหารจำพวกไขมันด้วยค่ะ แต่อย่าเพิ่งตกใจนะคะว่าทำไมต้องเป็นไขมัน ไขมันในที่นี้คือ ไขมันดี ค่ะ หรือชื่อเต็มว่า High Density Lipoprotein: HDL) เป็นไขมันคอเลสเตอรอลสำหรับดักจับไขมันเลว (Low-Density Lipoprotein: LDL) ที่อาศัยอยู่ตามเลือดทั่วร่างกายและส่งไปให้ตับกำจัดออกจากร่างกายผ่านทางรูปแบบข้อเสียต่าง ๆ ส่งผลให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง น้ำหนักไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้มากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ นอกจากนี้ยังป้องกันภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศอันเป็นสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากอีกด้วยนะคะ
(อ่านเพิ่มเติม: ไขมันดีคนท้อง ดีอย่างไร ทำไมคุณแม่อยากท้องต้องทาน)
2. งดดื่มงดสูบ
หากคุณแม่เป็นสายปาร์ตี้ ชิบดื่มชอบสูบ ครูก้อยแนะนำให้งดไปเลยยาว ๆ ค่ะ เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ จะส่งผลต่อความผิดปกติของระบบฮอร์โมนต่อมใต้สมองและฮอร์โมนควบคุมการทำงานของรังไข่ ทำให้ช่วงเวลาตกไข่ผิดปกติ ระยะเวลาคลาดเคลื่อนจากเดิม หรืออาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกปกติ
หรือแม้ว่าคุณแม่จะไปสังสรรค์โดยที่ไม่ดื่มไม่สูบก็ตาม อย่าลืมนะคะว่าควันบุหรี่มือสองมือสามทั้งหลายก็อาจมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวด้วยค่ะ โดยเฉพาะแม่ ๆ คนไหนก็ตามที่อยากมีน้อง เพราะควันบุหรี่จะส่งผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ ทำให้ร่างกายผลิตไข่ได้น้อยลงและลดโอกาสการตั้งครรภ์ให้น้อยลง ลดประสิทธิภาพของมดลูกซึ่งเป็นบริเวณที่ฝังของตัวอ่อน การฝังตัวอ่อนจึงยากขึ้น เกิดภาวะวัยทองก่อนวัยอันควรเร็วขึ้น บางรายอาจถึงขั้นเป็นหมันตลอดชีวิตอีกด้วยค่ะ
3. มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
หากคุณแม่คนไหนกำลังวางแผนมีเจ้าตัวน้อย ครูก้อยขอแนะนำให้คุณแม่ให้ความสำคัญกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยนะคะ เพราะการมีคู่นอนมากกว่า 1 คน อาจเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเสี่ยงต่อภาวะท้องนอกมดลูกได้ง่ายกว่าคนที่มีคู่นอนเพียงคนเดียว นอกจากนี้อย่าลืมทำความสะอาดน้องสาวอย่างถูกวิธีทุกครั้งหลังมีเพศสัมพันธ์ด้วยนะคะ
댓글