ขึ้นชื่อว่าภาวะครรภ์เป็นพิษ ต่อให้ไม่รู้จักแต่ถ้าใครได้ยินชื่อแล้วก็คงรู้สึกกลัวกันแล้วใช่มั้ยคะ ใช่ค่ะ ภาวะดังกล่าวถือว่าเป็นภาวะอันตราย เป็นภัยร้ายระหว่างตั้งครรภ์ที่คุณแม่ทุกคนควรให้ความสำคัญและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเองเท่าที่พอจะป้องกันได้ ว่าแต่ภาวะดังกล่าวคืออะไร มาอ่านกันค่ะ
ครรภ์เป็นพิษคืออะไร
เป็นภาวะความดันโลหิตสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท และมีภาวะอื่นแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น พบโปรตีนในน้ำปัสสาวะ มือเท้าบวมขึ้น ดวงตาพร่ามัว ฯลฯ ส่งผลให้รกบางส่วนขาดออกซิเจนและเลือด เลือดจึงไหลไปเลี้ยงรกน้อยลงและหลั่งสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ รกจึงฝังตัวไม่แน่นพอ แต่หากคุณแม่มีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท จัดอยู่ในภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แม้ว่าจะไม่ทราบสาเหตุของการเกิดครรภ์เป็นพิษอย่างแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากรกเกาะตัวผิดปกติ เส้นเลือดจึงตีบและเกิดภาวะความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
ระดับความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ
ระดับไม่รุนแรง (Non severe preeclampsia) เป็นระดับไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท
ระดับรุนแรง (Severe Preeclampsia) ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท มักพบอาการแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น เลือดแดงแตก เกล็ดเลือดต่ำเม็ด ตับอักเสบ
ระดับรุนแรงและมีภาวะชักร่วมด้วย (Eclampsia) ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท พร้อมกับภาวะอันตรายอย่างอาการชักเกร็ง หมดสติ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาทันที
ภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์เป็นพิษ
อาการชัก
รกลอกตัวก่อนกำหนด
อวัยวะภายในเสียหาย
โรคหลอดสมอง (ตามระดับความรุนแรง)
ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าลง หรืออาจเสียชีวิตในครรภ์
สังเกตอาการครรภ์เป็นพิษได้ด้วยตัวเอง หากมีอาการต่อไปนี้
ตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูง
รกลอกหรือหลุดก่อนกำหนด
ปวดศีรษะ
ดวงตาพร่ามัว
รู้สึกจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่
ลูกมีพัฒนาการที่ด้อยลง สังเกตได้จากการดิ้นที่น้อยลง
ท้องแข็งเป็นเวลานาน
น้ำหนักเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด
เกิดภาวะชักเฉียบพลัน
มีอาการ HELLP เป็นอาการที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงแตก ส่งผลให้ค่าเอนไซม์ในตับสูงและมีเกล็ดเลือดต่ำ แม้จะเป็นอาการที่ขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ทั้งนี้สังเกตได้คร่าว ๆ จากอาการปวดศีรษะ ปวดบ่าไหล่ คลื่นไส้อาเจียน มือเท้าบวม ชักเกร็ง เป็นต้น
ใครเสี่ยงครรภ์เป็นพิษบ้าง
คุณแม่ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกินมาตรฐาน
คุณแม่ที่ได้รับกรรมพันธุ์จากคนในครอบครัว
คุณแม่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ
คุณแม่ที่ผ่านการตั้งครรภ์แฝด หรือมากกว่า 1 คน
คุณแม่ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี และมากกว่า 35 ปี
คุณแม่ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์
คุณแม่ที่มีภาวะมีบุตรยาก
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก
คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น แพ้ภูมิตัวเอง โรคไต ไทรอยด์ โรคเบาหวาน
ภาวะครรภ์เป็นพิษ รักษาได้อย่างไรบ้าง
วิธีเดียวที่สามารถรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษได้ถาวรคือการคลอดลูกค่ะ แต่หากคุรแม่ได้รับผลข้างเคียงจากภาวะครรภ์เป็นพิษ หมอจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการคลอด หากไม่มีอาการรุนแรง สามารถประคองไปจนถึงช่วงเวลาคลอดได้ แพทย์จะไม่แนะนำให้คลอดก่อนกำหนดด้วยการผ่าคลอดหรือเร่งคลอดทารก แต่จะให้คุณแม่อยู่บ้านและนัดดูอาการเท่าที่จำเป็น แต่หากคุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิศชนิดรุนแรง แพทย์จะให้นอนโรงพยาบาลและใช้ยาบรรเทาอาการตามความเหมาะสม เช่น ใช้ยาละลายลิ่มเลือดและหยุดยาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนคลอด
แต่หากคุณแม่มีอาการ HELLP ที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ แพทย์จะทำการรักษาโดยการเร่งคลอดก่อนกำหนดเพื่อลดความเสี่ยงที่จะตามมาในภายหลัง เช่น ตกเลือดหลังคลอดอย่างรุนแรง, ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) ฯลฯ จากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังการรักษาอย่างน้อย 2-3 วัน
ภาวะครรภ์เป็นพิษ ป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเอง
1. ฝากครรภ์
นอกจากจะช่วยให้เห็นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกน้อยแล้วการฝากครรภ์ยังช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของร่างกายคุณแม่ ซึ่งจะช่วยรักษาและป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้เป็นอย่างดี
2. เลือกทานอาหารบำรุงครรภ์
สำหรับอาหารบำรุงครรภ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ จะเน้นไปที่สารอาหารจำพวกกรดไขมันโอเมก้า 3 และไอโอดีนจากปลาทะเล, โปรตีนจากเนื้อสัตว์, คาร์โบไฮเดรตจากแป้ง, วิตามินจากผักผลไม้, ธาตุเหล็กจากธัญพืช รวมถึงไขมันดีที่อุดมไปด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว สำหรับทำหน้าที่นำไขมันเลว LDL (Low Density Lipoprotein) ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดเลวและไตรกลีเซอไรด์ออกจากหลอดเลือดแดงและเนื้อเยื่อ เพื่อส่งไปยังตับและขับออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไขมันเลวที่สร้างปัญหาน้ำหนักเกินมาตรฐานที่ส่งให้ต่อการมีลูกยากมากขึ้นด้วยค่ะ
และที่สำคัญควรงดอาหารรสเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง, อาหารแสลง ไม่ผ่านการปรุงสุก, เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้อย่าลืมดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วต่อวันด้วยนะคะ เพราะน้ำสะอาดจะช่วยนำพาสารอาหารต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย และที่สำคัญน้ำเป็นส่วนประกอบของร่างกายมากถึง 2 ใน 3 หากร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอ อาจทำให้ประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ ในร่างกายด้อยลง และมีผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์โดยตรง
3. พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนตามช่วงวัยจะช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อร่างกายพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะช่วยให้ร่างกายทำงานเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยป้องกันภาวะเครียดในคนท้อง อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร่างกายคุณแม่ไม่แข็งแรง เกิดภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจกระทบไปถึงเจ้าตัวน้อยในครรภ์อีกด้วย ทางที่ดีคุณแม่ควรนอนพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง/คืนจะดีที่สุดค่ะ
Comentarios