แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะเตรียมตัวในการมีลูกมากแค่ไหนก็ตาม แต่หากไม่ควบคุมอาหารที่ทานเข้าไป นอกจากจะทำให้น้ำหนักเกินมาตรฐานจนลดโอกาสมีลูกแล้ว ยังส่งผลเสียต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย โดยเฉพาะอาหารคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งบางชนิดที่คุณกินไปโดยไม่รู้ว่ามีปริมาณคอเลสเตอรอลเยอะขนาดนี้ วันนี้ครูก้อยจะพามาทำความรู้จักกับอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงว่าคืออะไร มีประเภทไหน และมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง มาอ่านไปพร้อมกันเลยค่ะ
อาหารคอเลสเตอรอลสูงคืออะไร
เป็นอาหารที่มีปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำในปริมาณที่สูง (Low Density Lipoprotein: LDL) หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในชื่อว่า ไขมันชนิดไม่ดี เป็นไขมันที่นำพาคอเลสเตอรอลไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อนำไปใช้ โดยทั่วไปแล้วร่างกายของคนเราไม่ควรมีไขมัน LDL มากเกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากร่างกายได้รับ LDL จากการทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงมากเกินไป จะก่อให้เกิดการสะสมและเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดแดงตีบและแข็งขึ้น อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, หลอดเลือดสมองตีบ และหัวใจวายตามมาในอนาคต
อันตรายจากคอเลสเตอรอลสูงที่มีต่อคุณแม่อยากท้อง
จากงานวิจัยเรื่อง Lipid Concentrations and Couple Fecundity: The LIFE Study ที่ตีพิมพ์ในThe Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism ปี 2014 เผยว่าคู่สามีภรรยาที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงจะใช้เวลานานกว่าจะตั้งครรภ์ ต่อให้ฝ่ายชายจะมีระดับคอเลสเตรอลปกติก็ตาม แต่ถ้าฝ่ายหญิงมีระดับคอเลสเตอรอลสูง ก็ส่งผลให้มีลูกยากขึ้นหากเทียบกับคู่สามีภรรยาที่มีระดับคอเลสเตอรอลปกติ เนื่องจากร่างกายของผู้หญิงอย่างเรามีฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงระบบสืบพันธุ์ด้วย หากร่างกายได้รับคอเลสเตอรอลปริมาณสูงเป็นเวลานาน ฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สามารถกำจัดไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของรังไข่และมดลูกด้อยลง ไข่จึงไม่ตก ประจำเดือนมาไม่ปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากนั่นเองค่ะ
รวมอาหารคอเลสเตอรอลสูงที่คุณแม่อยากท้องต้องเลี่ยง
1.ฟาสต์ฟู้ด (อาหารจานด่วน)
เนื่องด้วยชีวิตประจำวันของใครหลายคนที่ไม่มีเวลาทำอาหารกินเองหรือบางครั้งก็ต้องพึ่งฟาสต์ฟู้ดในชั่วโมงเร่งด่วน อาจนำมาสู่โรคร้ายโดยไม่รู้ตัว เพราะอาหารประเภทนี้มีส่วนประกอบหลายชนิดที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นไขมันอิ่มตัวจากน้ำมันสัตว์, โซเดียมจากเกลือ, น้ำตาลจากน้ำอัดลม และคาร์โบไฮเดรตจากเฟรนฟราย แม้ว่าจะเป็นสารอาหารจำเป็นต่อร่างกายก็ตาม แต่อาหารเหล่านี้กลับให้ปริมาณสารอาหารที่มากเกินจำเป็น กลายเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและนำมาสู่โรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการมีลูกยากค่ะ
2. อาหารทะเลบางชนิด
ข้อดีของอาหารทะเลมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่พบได้มากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ป้องกันสมองเสื่อม ป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ, มีโปรตีนสูง เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย รวมถึงมีกรดอะมิโน เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวังที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้ เพราะนอกจากจะมีคอเลสเตอรอลสูงแล้ว ยังก่อให้เกิดอาการแพ้ขั้นรุนแรงตามมา หากอยู่ในช่วงภูมิคุ้มกันตก ถ้าต้องการทานอาหารทะเลจริง ๆ ครูก้อยขอแนะนำให้ไปตรวจอาการแพ้อาหารกับแพทย์ก่อนทานนะคะ สำหรับอาหารทะเลบางชนิดที่ไม่ควรกินบ่อย มีดังนี้
กุ้ง มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 189 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัม
ปลาหมึก มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 384 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัม
หอยนางรม มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 350 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัม
3.ไข่
แม้ว่าไข่จะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญต่อร่างกาย แต่ก็อุดมไปด้วยคอเลสเตอรอลปริมาณสูงด้วยเช่นกัน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้ทานวันละ 1 ฟอง ก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว เพราะหากรับประทานมากเกินไป อาจทำให้คอเลสเตอรอลสะสมตามผนังด้านในหลอดเลือด จนกลายมาเป็นเส้นเลือดในสมองตันหรือโรคหัวใจวายได้ด้วยนะคะ
ไข่แดงเป็ด มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 1,120 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัม
ไข่แดงไก่ มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 2,000 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัม
ไข่นกกระทา มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 3,640 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัม
ไข่ปลา มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 7,300 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัม
4.น้ำมันสัตว์
แม้ว่าน้ำมันสัตว์จะอุดมไปด้วยวิตามิน 3, วิตามิน K และปราศจากไขมันทรานส์ อีกทั้งทนต่อความร้อนได้ดีและก่อให้เกิดสารอนุมูลอิสระน้อยกว่าน้ำมันพืช เหมาะสำหรับการปรุงอาหารผัดทอดมากแค่ไหนก็ตาม แต่น้ำมันสัตว์มีส่วนประกอบของไขมันอิ่มตัวที่อาจสะสมตามเซลล์ไขมันภายในร่างกาย ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มสูงขึ้น และพัฒนามาเป็นโรคร้ายในอนาคตอย่างเช่นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดแข็ง ฯลฯ
5. เบเกอรี่
สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในการทำขนมส่วนใหญ่จะมาจากแป้ง ไขมัน และยีสต์ ทำให้เบเกอรี่มีไขมันทรานส์ที่มาจากเนยเทียมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลง และทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น ไขมันจึงอุดตันในเส้นเลือดมากขึ้น
นอกจากนี้ขนมเบเกอรี่จากผู้ผลิตหลายแห่งยังคงใช้สารกันบูดเพื่อถนอมอาหาร หากรับประทานเบเกอรี่ที่ใส่สารกันบูดเข้าไปมาก ๆ อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรืออาจถึงขั้นเมทฮีโมโกลบินนีเมีย (Methemoglobinemia) กลายเป็นลมหมดสติได้เช่นกัน
6. ขนมไทยบางชนิด
แม้ว่าขนมไทยหลายชนิดจะทำมาจากผลไม้หรือผ่านกระบวนการปรุงที่ช่วยให้ทานแล้วไม่อ้วน เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล, ทับทิมกรอบ, ลอดช่อง ฯลฯ แต่ก็ยังมีขนมไทยบางชนิดที่หากทานบ่อยเกินไป อาจทำให้อ้วนง่ายขึ้นนะคะ เนื่องจากผลิตจากไข่แดงหรือใส่น้ำตาลมากเกินไปตามสูตรขนมชนิดนั้น สำหรับขนมไทยบางชนิดที่ควรเลี่ยงมีดังนี้
ทองหยอด มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 305 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัม
เม็ดขนุน มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 347 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัม
ทองเอก มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 414 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัม
ฝอยทอง ทำมาจากไข่แดง จึงมีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงถึง 420 มิลลิกรัม ในปริมาณ 100 กรัม
ป้องกันไม่ให้ไขมันไม่ดีมาทำร้าย ด้วยการทานไขมันดี
จริงอยู่แล้วการเลี่ยงทานอาหารคอเลสเตอรอลสูงจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ยากได้ดี แต่หากเหล่าคุณแม่ต้องการเตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการตั้งครรภ์จริง ๆ ก็ควรดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายอย่างพอดี ไม่หักโหมจนร่างกายทรุดหนัก, บริหารจัดการกับความเครียดไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตมากเกินไป, นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอตามวัยของตัวเอง และที่สำคัญอย่าลืมเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยบำรุงมดลูกและไข่ให้แข็งแรง
ทั้งนี้ครูก้อยขอแนะนำให้เหล่าแม่ ๆ ทานไขมันดีให้บ่อยขึ้น เพราะไขมันดีเป็นไขมันคอเลสเตอรอลชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่รวบรวมไขมันไม่ดี (Low-Density Lipoprotein หรือ LDL) ที่สะสมอยู่ในเลือดทั่วร่างกายหลายร้อยโมเลกุล เพื่อส่งไปให้ตับขับออกจากร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงโรคร้ายต่าง ๆ อีกทั้งลดคอเลสเตอรอลภายในร่างกายได้ดีอีกด้วย ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมต่อการตั้งครรภ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ไขมันดียังช่วยป้องกันภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อันเป็นสาเหตุของการมีลูกยากด้วยค่ะ
Comments