โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะมีสภาวะเป็นด่างอ่อนๆ โดยร่างกายจะรักษาสมดุลค่า pH ให้อยู่ในระดับปกติ แต่หากมีสภาวะเป็นกรดมากเกินไป อาจส่งผลร้ายต่อร่างกายได้ วันนี้ครูก้อยจะมาอธิบายให้ฟังค่ะ
โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะมีสภาวะเป็นด่างอ่อนๆ (Akalinity) ร่างกายปกติจะรักษาสมดุลค่า pH อยู่ที่ 7.35-7.45 ซึ่งเป็นสภาวะที่เป็นด่าง แต่หากร่างกายมีสภาวะเป็นกรดมากเกินไป อาจทำให้เลือดเป็นกรดจนทำให้จุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรียบางชนิด, เชื้อรา, ยีสต์ หรือไวรัสเติบโตได้ดี และก่อให้เกิดสภาวะหรือโรคต่างๆ ตามมา จนถึงขั้นเสียชีวิต เช่น
เซลล์ต่างๆ ในร่างกายอักเสบ
เซลล์เสื่อม, ทำให้แก่ก่อนวัย
อ่อนเพลีย, ไม่มีแรง
เจ็บป่วยง่าย
ปวดกระดูกและข้อง่ายขึ้น
ระบบเผาผลาญและระบบขับถ่ายไม่ดี
เป็นโรคหัวใจ, โรคเบาหวาน
สภาวะกรด-ด่างในร่างกายมีผลกับระบบสืบพันธุ์และภาวะเจริญพันธุ์หรือไม่
หากเกิดสภาวะดังกล่าวย่อมส่งผลให้ทุกระบบในร่างกายด้วยเช่นกัน ทำให้เชื้อโรคเติบโตได้ดีและส่งผลให้ติดเชื้อบริเวณอวัยวะต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เช่น ติดเชื้อในมดลูก, หลั่งฮอร์โมนเพศผิดปกติและทำให้รอบเดือนผิดปกติ ส่งผลต่อการตกไข่และประจำเดือนมาไม่ปกติ
สภาวะกรด-ด่างในร่างกายมีผลต่อคู่สมรสที่อยากมีลูกมั้ย
โดยปกติแล้วร่างกายจะควบคุมค่า pH ของช่องคลอดให้อยู่ในสภาวะที่เป็นกรดอ่อนๆ อยู่ที่ 3.8-4.5 เพื่อสร้างเกราะป้องกันแบคทีเรีย (BV) และยีสต์ (Candida) ไม่ให้เจริญเติบโตในช่องคลอด ผลเสียคือสภาวะกรดเองก็ไปทำลายสเปิร์มด้วยเช่นกัน เนื่องจากสเปิร์มสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่เป็นด่าง แต่เมื่อถึงช่วงเวลาตกไข่ของแต่ละรอบเดือนร่างกายก็จะปรับสภาวะกรด-ด่างตามธรรมชาติ ในช่วงตกไข่นั้นร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนลูทิไนซิง หรือ LH (Luteinizing Hormon) ออกมา ส่งผลให้สร้างมูกไข่ตกที่ช่วยปรับค่า pH ของช่องคลอดให้มีความเป็นด่างประมาณ pH 7 เพื่อให้สเปิร์มว่ายผ่านเข้ามาง่ายขึ้น และทำให้สเปิร์มมีชีวิตอยู่ในร่างกายของผู้หญิงได้ประมาณ 2-5 วัน และเพิ่มโอกาสว่ายไปถึงท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิต่อไป
อย่างไรก็ตามสภาวะที่เป็นกรด-ด่างในร่างกายนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการนอนหลับที่มีคุณภาพ, อาหารที่ทาน, ความเครียด และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอของคุณแม่ โดยเฉพาะอาหาร นับเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ร่างกายมีสภาวะเป็นกรดหรือด่าง โดยดูจากกระบวนการทางเคมีในร่างกายว่าจะเปลี่ยนอาหารที่กินเข้าไปให้กลายเป็นกรดหรือด่างในกระบวนการสุดท้าย
จากการศึกษาพบว่า กรดซิตริคที่พบในผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะกรูดและมะนาว เป็นกรดผลไม้ที่จะถูกเปลี่ยนต่อไปเป็นไบคาร์บอเนต และเพิ่มสภาวะความเป็นด่างให้กับร่างกาย ส่วนอาหารที่เพิ่มสภาวะเป็นกรดให้กับร่างกาย ได้แก่ เนื้อแดง, น้ำตาล, ไขมันทรานส์, ผลิตภัณฑ์จากนม, เกลือ, คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ ส่วนอาหารที่เพิ่มความเป็นด่างให้กับร่างกาย ได้แก่ ผักและผลไม้ เช่น มะเขือเทศ, แครอท บีทรูท บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง มะกรูด มะนาว ถั่ว และธัญพืชต่างๆ เช่น อัลมอนด์, เมล็ดฟักทอง, งาดำ
โดยเฉพาะวีทกราส มีงานวิจัยพบว่าวีทกราสมีฤทธิ์เป็นด่างที่ช่วยปรับสมดุล pH ในร่างกายให้ปกติ และยังมีคลอโรฟิลล์สูง ช่วยดีท็อกซ์ระบบเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นด้วย
แม่ๆ ทั้งหลายที่วางแผนตั้งครรภ์ ครูก้อยแนะนำให้ทานอาหารที่ช่วยรักษาสภาวะความเป็นกรด-ด่างในร่างกายให้เหมาะสม เน้นทานผักผลไม้, ธัญพืช, โปรตีนจากพืช และหลีกเลี่ยงของหวาน, น้ำตาล, เนื้อแดง, ของมันของทอด และที่สำคัยอย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและรักษาฮอร์โมนให้สมดุล หากสภาวะความเป็นกรด-ด่างในร่างกายสมดุลแล้วก็เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ตามธรรมชาติให้มากขึ้นด้วยค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
Comments