ความเครียดกับคุณแม่ท้องถือว่าเป็นของคู่กัน ไม่ว่าคุณแม่คนนั้นจะมีพื้นฐานเป็นคนอารมณ์ดีมากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่ภาวะเครียดในคนท้องเกิดขึ้นเองตามกลไกตามธรรมชาติ คุณแม่หลายคนอาจรับมือได้ง่ายและไม่กระทบต่อการใช้ชีวิต แต่อีกหลายคนกลับไม่เป็นอย่างนั้นค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกคนแรก อาจมีความวิตกกังวลมาเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ตั้งครรภ์มาก่อน และเมื่อคุณแม่มีความเครียดมากเกินไป อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กระทบความสัมพันธ์ของคนในบ้าน รวมไปถึงมีผลร้ายต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย วันนี้ครูก้อยเลยมี 5 วิธีลดความเครียดมาฝากคนท้องเครียดบ่อยกันค่ะ
ทำไมคนท้องเครียดง่าย
1.น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวก็จะเพิ่มขึ้นตามกลไกทางธรรมชาติเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ จึงส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่ ยกตัวอย่างเช่น มดลูกขยายตัวขึ้นเนื่องจากการตั้งครรภ์ ส่งผลให้มดลูกเคลื่อนตัวไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ เลือดจึงไหลมายังอุ้งเชิงกรานมากขึ้น เป็นเหตุให้คุณแม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน หรือการมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องสะสมสารอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อส่งไปยังลูกน้อย จึงทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดตัว เดินลำบากยิ่งขึ้น ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกผิดปกติไปจากเดิมและเกิดความกังวลขึ้นมา
2.ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
ฮอร์โมนในร่างกายคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ ส่งผลให้คุณแม่มีอารมณ์แปรปรวนไป เซนซิทีฟง่ายขึ้น จากเดิมที่อารมณ์ดีสดใส กลายเป็นอารมณ์สวิง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย น้อยใจง่าย เอาแต่ใจ ไม่มีเหตุผลในหลาย ๆ เรื่อง นอกจากนี้ยังส่งผลให้คุณแม่เครียดง่าย ร้องไห้บ่อย วิตกกังวลไปต่าง ๆ นา ๆ ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
3.ความกังวลในอนาคต
นอกจากความเครียดที่มาจากฮอร์โมนในร่างกายแล้ว คุณแม่อาจเกิดความเครียดจากความกังวลเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นความเครียดเกี่ยวกับลูกน้อยในครรภ์ว่าจะอยู่รอดครบ 32 หรือไม่, เราจะสามารถเลี้ยงลูกได้ดีมั้ย, คุณสามีจะยังรักเราหรือไม่ หากวันหนึ่งเราต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูกตามลำพัง, ทำไมคนรอบข้างถึงดูไม่รับฟังเราเลย และความวิตกอื่น ๆ อีกมาก
อันตรายจากภาวะเครียดในคนท้อง
1.รับประทานอาหารน้อยลง
การรับประทานอาหารน้อยลงไม่ได้เกิดขึ้นกับคนทั่วไปเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดความเครียดง่ายกว่าช่วงเวลาอื่น อย่าลืมนะคะว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะรับประทานอาหารยากมากเนื่องจากความไม่สะดวกไม่สบายในการรับประทาน ทานได้น้อย จุดง่าย เพราะมีเจ้าตัวน้อยเบียดตามอวัยวะต่าง ๆ ภายในท้อง ยิ่งถ้าคุณแม่เครียดมากด้วยแล้วล่ะก็ กินข้าวกินอะไรไม่ได้เลยล่ะค่ะ นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพคุณแม่แล้ว ยังมีผลร้ายต่อพัฒนาการของลูกน้อยด้วยนะคะ เพราะถ้าลูกได้รับสารอาหารน้อย ก็เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจะเสี่ยงต่อการแท้งบุตรง่ายขึ้นด้วยค่ะ
2.ร่างกายอ่อนแอลง
เป็นผลมาจากภาวะความเครียดที่ทำให้คุณแม่หลายคนนอนไม่หลับ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่อันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าคุณแม่นอนน้อย นอนหลับแป๊บ ๆ ก็ตื่นมาเครียดต่อ อาจทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ภูมิคุ้มกันตกลง และตามมาด้วยอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนบ่อย เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย ลูกน้อยในครรภ์ก็ไม่แข็งแรงตามหรืออาจแท้งบุตรได้อีกด้วยค่ะ
3.ภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ (Depression during pregnancy)
อีกหนึ่งอันตรายจากความเครียดระหว่างตั้งครรภ์คือภาวะซึมเศร้าซึ่งในปัจจุบันมีคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นภาวะดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน คิดเป็น 1 ใน 4 ของคุณแม่ตั้งครรภ์ และ 1 ใน 5 ของคุณแม่หลังคลอด ทั้งนี้หากคุณแม่สังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ อย่าชะล่าใจ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและดูแลอย่างถูกวิธี
รู้สึกเบื่อทุกอย่างรอบตัว ไม่อยากทำอะไรเลย
รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความสนใจจากคนรอบข้างเท่าเมื่อก่อน
นอนหลับยาก หรือหลับนานกว่าปกติ
อ่อนเพลีย แต่เมื่อถึงเวลานอนกลับนอนไม่หลับ
สมาธิสั้นลง ลังเลสิ่งต่าง ๆ บ่อยขึ้น
ซึมเศร้าตลอดทั้งวัน
ทำอะไรช้าลง
ร้ายแรงสุดอาจถึงขั้นคิดว่าตนเองไร้ค่า อยากฆ่าตัวตาย
รับมืออย่างไรเมื่อคุณแม่อยู่ในภาวะคนท้องเครียดบ่อย
ทำความเข้าใจกับภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าคุณแม่จะมีอารมณ์สวิงจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่หากคุณแม่ทำความเข้าใจว่าที่เป็นอยู่มันคือสภาวะปกติที่คุณแม่ทุกคนต้องเจอ และหากปล่อยไว้นานอาจเป็นอันตรายทั้งต่อตัวเองและลูกน้อยด้วย เมื่อยอมรับได้แล้วจะช่วยให้คุณแม่ดูแลตัวเองด้วยความเข้าใจมากขึ้น
หากิจกรรมทำแก้เครียด การได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากการทำงาน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ถักนิตติ้ง อ่านหนังสือ เดินเล่น หรือลองทำอะไรใหม่ ๆ โดยไม่เป็นกิจกรรมที่รุนแรงจนมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ ก็ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยเติมเต็มความรู้สึกทางใจให้แก่คุณแม่ได้ไม่น้อยเลยค่ะ
พูดคุยกับคนในครอบครัวให้มากขึ้น การพูดคุยสามารถปลดความรู้สึกอัดอั้นในใจได้เป็นอย่างดี ยิ่งถ้าเป็นคนในครอบครัว โดยเฉพาะคุณสามี ที่พร้อมรับฟังปัญหาต่าง ๆ โดยความเต็มใจด้วยแล้วล่ะก็ จะช่วยให้คุณแม่ผ่านช่วงเวลาแห่งความเครียดและกลับมาตั้งหลักดูแลตัวเองและลูกน้อยได้แน่นอนค่ะ
ออกกำลังกายเบา ๆ การออกกำลังกายสามารถช่วยลดความเครียดและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบเผาผลาญภายในร่างกายให้ดียิ่งขึ้น จึงช่วยจำกัดน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์ไม่ให้มากเกินไป และที่สำคัญการออกกำลังกายยังช่วยให้ร่างกายหลั่งให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและยืดเส้นยืดสาย ช่วยให้ร่างกายกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้นค่ะ สำหรับการออกกำลังกายที่ครูก้อยแนะนำ ได้แก่ การเดิน, ว่ายน้ำ, เล่นโยคะ เป็นต้น
Comments