top of page
ค้นหา

ภาวะมีบุตรยากเกิดจากอะไร รับมืออย่างไรหากอยากมีลูก

อัปเดตเมื่อ 14 ก.ย. 2566



แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนหลายจะพยายามมีเบบี๋มาหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่เจ้าเบบี๋ก็ยังไม่มาสักที นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะมีบุตรยากที่อาจสร้างความลำบากใจให้แก่คุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพทั้งคุณพ่อและคุณแม่ที่อาจคาดไม่ถึง หากปล่อยไว้นานอาจก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเรื้อรังที่ยากต่อการรักษา วันนี้ครูก้อยจะพามาทำความรู้จักกับภาวะนี้กันว่าคืออะไร เกิดจากอะไร พฤติกรรมเสี่ยงแบบไหนบ้างที่มีผลต่อการมีลูกยาก พร้อมทั้งวิธีแก้ไขและดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าว ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านไปด้วยกันเลยค่ะ


ภาวะมีบุตรยากคืออะไร


เป็นภาวะของการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่คุมกำเนิดอย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่คุณแม่ก็ยังไม่ตั้งครรภ์สักที สำหรับอัตราส่วนของการมีบุตรยากในไทยเกิดจากฝ่ายหญิง 40% ฝ่ายชาย 25% เกิดจากทั้งสองฝ่ายรวมกันอีก 20% รวมถึงไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดอีก 15% แม้ว่าจะตรวจร่างกายของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอย่างละเอียดแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ตรวจคุณภาพอสุจิ ฯลฯ แต่กลับไม่พบความผิดปกติใด ๆ ส่วนใหญ่มักพบระหว่างการทำเด็กหลอดแก้ว


สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก


ในที่นี้ครูก้อยจะขอแบ่งสาเหตุของภาวะมีบุตรยากออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ สาเหตุจากฝ่ายหญิงและสาเหตุจากฝ่ายชาย ดังนี้


1. สาเหตุจากฝ่ายหญิง

  • อายุเพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่จึงลดลงตาม สำหรับโอกาสมีลูกของฝ่ายหญิงจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่อายุ 37 ปีขึ้นไป และแทบจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เลยเมื่ออายุ 45 ปี

  • รังไข่ผิดปกติ เช่น มีเนื้องอก หรือมีก้อนซีสต์ (Cyst) ในรังไข่

  • มดลูกผิดปกติ เช่น มีเนื้องอก หรือมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

  • ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ เช่น ผลิตฮอร์โมนไม่เพียงพอต่อการสร้างเซลล์ไข่

  • หลอดมดลูกเสียหาย

  • ต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ ได้แก่ ต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไต ต่อมไทรอยด์

  • มีโรคประจำตัวหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ติดเชื้อคลามัยเดีย อุ้งเชิงกรานอักเสบ หนองใน รวมถึงโรคทางพันธุกรรมอย่างดาวน์ซินโดรม (Down syndrome) โรคไทรอยด์ผิดปกติ รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร

  • ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ

  • มีประวัติแท้งมากกว่า 2 ครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ

  • มีประวัติผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกรานมาก่อน

  • ภาวะความเครียด เป็นโรคซึมเศร้า

  • พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศผิดวิธีหรือทำความสะอาดไม่ทั่วถึง ใช้สารเสพติดเป็นเวลานาน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สูบบุหรี่ ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี การใช้ยาฆ่าแมลง

2. สาเหตุจากฝ่ายชาย

  • การสร้างเชื้ออสุจิผิดปกติ

  • เส้นลำเลียงน้ำเชื้ออสุจิโป่งพอง (Varicocele)

  • คุณภาพอสุจิด้อยลง เช่น รูปร่างผิดปกติ เคลื่อนที่น้อย

  • โรคทางพันธุกรรมอย่างโรคอัณฑะบิด (Testicular torsion)

  • ภาวะความเครียด เป็นโรคซึมเศร้า

  • ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ (Hypogonadism)

  • ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ

  • มีโรคประจำตัวหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต หนองใน โรคเริมอวัยวะเพศ ต่อมลูกหมากอักเสบ รวมถึงโรคทางพันธุกรรมอย่างดาวน์ซินโดรม (Down syndrome)

  • อวัยวะเพศผิดปกติมาแต่กำเนิด เช่น เซลล์สร้างตัวอสุจิไม่เจริญตามวัย

  • มีประวัติเข้ารับการผ่าตัดบริเวณถุงอัณฑะ เนื่องจากอัณฑะอักเสบ

  • พฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใส่กางเกงชั้นในรัดเกินไป การทำหมันด้วยการผ่าตัดผูกท่อนำอสุจิ ใช้สารเสพติดเป็นเวลานาน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สูบบุหรี่ การดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศผิดวิธี ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี การใช้ยาฆ่าแมลง

สัญญาณของภาวะมีบุตรยาก

1. สัญญาณของฝ่ายหญิง

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนหมดก่อนวัย

  • ปวดท้องน้อยเมื่อมีประจำเดือน

  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

  • มีเลือดออกบริเวณช่องคลอด

  • เคยแท้งลูกมาก่อน

2. สัญญาณของฝ่ายชาย

  • อวัยวะเพศไม่แข็งตัว

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งน้ำอสุจิ เช่น หลั่งช้าหรือหลั่งไวกว่าปกติ

ตรวจภาวะมีบุตรยากได้อย่างไรบ้าง

1. ฝ่ายหญิง

  • ตรวจระดับฮอร์โมน AMH (Anti-Müllerian hormone) เพื่อตรวจดูภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ POCS (Ploycystic Ovary Syndrome) และประเมินภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัย

  • ตรวจระดับฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของการทำงานของรังไข่

  • ตรวจระดับฮอร์โมน LH (Luteinizing hormone) หากพบว่าค่าฮอร์โมน LH สูงหรือต่ำเกินไป อาจส่งผลต่อภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัย

  • ส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Diagnostic Hysteroscopy) เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในโพรงมดลูก เช่น มีเนื้องอก มีติ่งเนื้อ

  • อัลตราซาวด์ภายในมดลูกและรังไข่ (Ultrasound Pelvis) เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในโพรงมดลูก, ปีกมดลูกและพังผืดบริเวณท่อนำไข่

  • ฉีดสีดูท่อนำไข่ (Hysterosalpingography) เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในมดลูก, ปีกมดลูกและก้อนเนื้อในอุ้งเชิงกราน

2. ฝ่ายชาย

  • ตรวจระดับฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) เพื่อตรวจดูความผิดปกติของลูกอัณฑะ หากค่าฮอร์โมน FSH สูง แสดงว่าลูกอัณฑะไม่สามารถสร้างตัวอสุจิได้ แต่ถ้าค่าฮอร์โมน ต่ำ แสดงว่าต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ร่างกายสร้างอสุจิน้อยลง

  • ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำเชื้อ (Semen Analysis) ว่าอสุจิมีรูปร่างอย่างไร คุณภาพดีไหม และมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน แล้วนำอสุจิไปวิเคราะห์เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาภาวะมีบุตรยาก

วิธีรักษาภาวะมีบุตรยาก

  • รักษาโดยใช้ยา เช่น ยากระตุ้นไข่ตก, ยาโคลมีฟีน (Clomiphene), ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (Gonadotrophin)

  • เข้ารับการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดท่อนำไข่, ผ่าตัดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ผ่าตัดพังผืดในอุ้งเชิงกราน, ผ่าตัดแก้หมัน

  • รักษาด้วยเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ ได้แก่ การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF (In vitro fertilization) โดยใช้เทคโนโลยีในการเก็บไข่เพื่อนำมาผสมกับอสุจิของฝ่ายชายเพื่อให้เกิดตัวอ่อนและเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะฝังตัว หรือระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) แล้วจึงนำตัวอ่อนใส่เข้าในโพรงมดลูกเพื่อให้ฝังตัวและเจริญเติบโตเป็นทารกในครรภ์ ส่วน การทำอิ๊กซี่ หรือ ICSI (Intracytiplasmic sperm injection) เป็นการฉีดอสุจิ 1 ตัวเข้าไปในเซลล์ไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิและตั้งครรภ์ ทั้งนี้การทำอิ๊กซี่สามารถนำตัวอ่อนมาแช่แข็งเก็บไว้ได้นานกว่า 10 ปี หากยังไม่มีแพลนจะมีลูกทันที ก็สามารถแช่เก็บไว้ได้ค่ะ

ป้องกันภาวะมีบุตรยากได้อย่างไรบ้าง


หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ใครหลายคนมีลูกยากเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์โดยตรง หากคุณพ่อคุณแม่คนไหนมีพฤติกรรมเสี่ยงอยู่ ครูก้อยขอแนะนำให้งดพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • งดสูบบุหรี่และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีสารประกอบที่มีผลทำให้ระบบสืบพันธุ์มีประสิทธิภาพการทำงานด้อยลงและลงท้ายด้วยภาวะมีบุตรยากในที่สุด

  • พักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายก็จะทำงานแปรปรวนตามไปด้วย ทางที่ดีควรนอนหลับประมาณ 7-8 ชั่วโมง ภายใน 20.00-22.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) เข้าสู่กระแสเลือดและทำให้หลับง่าย หากคุณพ่อคุณแม่คนไหนฝืนตัวเองจนนอนดึก นอนน้อย อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา รวมถึงระบบสืบพันธุ์ด้วยค่ะ

  • จัดการความเครียด เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งสารคอร์ติซอล (Cortisol) ที่รบกวนระบบการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ส่งผลให้มีลูกยาก ทางที่ดีครูก้อยขอแนะนำให้หาวิธีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมด้วยการหากิจกรรมที่หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีแสงบลูไลท์ (Blue light) ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สมองตื่นตัว ส่งผลให้หลับยากขึ้นนั่นเอง

  • เลือกรับประทานอาหารบำรุงร่างกาย นอกจากเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารบำรุงร่างกายอย่างโปรตีน, วิตามิน A, B1, B2, D, แคลเซียม และธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงสมอง ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือดให้สมดุล เสริมสร้างความแข็งแรงของไข่และมดลูกให้พร้อมต่อการตั้งครรภ์แล้ว การรับประทานไขมันดีหรือ HDL (High Density Lipoprotein) ยังช่วยรักษาปัญหาสุขภาพและช่วยเตรียมความพร้อมต่อการตั้งครรภ์มากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ เนื่องจากไขมันดีอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ช่วยนำไขมันเลว หรือ LDL (Low Density Lipoprotein) ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและนำไตรกลีเซอไรด์ออกจากหลอดเลือดแดงและเนื้อเยื่อ จากนั้นจึงส่งไปยังตับเพื่อขับออกจากร่างกาย ช่วยป้องกันไขมันชนิดเลวที่อาจสร้างปัญหาสุขภาพตามมา โดยเฉพาะปัญหาน้ำหนักเกินมาตรฐานซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการมีลูกยากนั่นเองค่ะ


Q&A คำถามที่พบบ่อย


อายุ 30 มีลูกได้ไหม


มีได้ค่ะ เพียงแต่มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่าผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี เนื่องจากคุณแม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ภาวะรกเกาะต่ำ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอยุ 35 ปีขึ้นไป ทั้งนี้หากคุณแม่ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ตั้งครรภ์ได้มากขึ้น เผลอ ๆ อาจมีโอกาสเท่ากับผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ด้วยนะคะ



อายุ 40 ปีมีลูกได้ไหม


มีได้เหมือนกันค่ะแต่โอกาสน้อยกว่าผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปี เนื่องจากรังไข่และเซลล์ไข่จะเสื่อมสภาพลงตามอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้โอกาสเกิดการปฏิสนธิเพื่อตั้งครรภ์มีน้อยลงกว่าเดิมด้วยค่ะ แต่หากคุณแม่ดูแลสุขภาพดีหรือถึ่งเทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้วก็อาจมีโอกาสตั้งครรภ์ได้เช่นกันค่ะ


โรคอะไรที่ทำให้มีลูกยาก


สำหรับโรคที่ทำให้มีลูกยากจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม ภาวะติดเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia) ฯลฯ ส่งผลให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติและมีลูกยาก นอกจากนี้ยังรวมไปถึงโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือมะเร็งมดลูก เป็นต้น


กินอะไรทำให้มีลูกยาก


สำหรับอาหารที่ควรเลี่ยงหากต้องการมีลูก ได้แก่ อาหารจำพวกไขมันทรานส์ (Trans Fat) อย่างคุกกี้ โดนัท พาย เฟรนช์ฟรายส์, ของหวานที่มี น้ำตาลสูงอย่างน้ำอัดลม, ลูกอม, ขนมหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol) เป็นต้น


บทความที่น่าสนใจ

ดู 55 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page