หนึ่งในกระบวนการสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงทุกคนมีลูกได้นั่นคือการตกไข่ แต่หลายคนกลับประสบปัญหาไข่ไม่ตก ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาดเป็นเวลานาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้คุณแม่หลายคนตั้งครรภ์ไม่ได้สักที พอท้องแล้วก็แท้งลูก วันนี้ครูก้อยเลยจะมาแนะนำวิธีง่าย ๆ ที่นอกจากจะช่วยให้ตกไข่ดี มีลูกง่ายแล้ว ยังช่วยบำรุงร่างกายของคุณแม่ให้แข็งแรงด้วยนะคะ ด้วยการเลือกทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันดีค่ะ ว่าแต่ปัญหาไข่ไม่ตกเกิดจากอะไร ทำไมต้องทานไขมันดี ครูก้อยจะมาอธิบายให้ฟังค่ะ
ทำไมถึงไข่ไม่ตก
ไข่ไม่ตกเป็นภาวะที่ไม่มีฟองไข่ตกลงมาจากรังไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิในช่วงประมาณวันที่ 14 หลังจากมีประจำเดือนรอบก่อนหน้านี้ สำหรับผู้หญิงทั่วไปจะมีไข่ตกเดือนละ 1 ฟองเป็นประจำทุกเดือน หรือไข่ตกทุก ๆ 28-30 วัน แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์ในรอบเดือนนั้น จะมีเลือดประจำเดือนมาเดือนละ 1 ครั้ง (โดยบวกลบจากวันที่ไข่ตกไปอีก 5-7 วัน) แต่ละครั้งจะใช้เวลานาน 3-5 วัน แต่หากแม่ ๆ ประสบปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นเวลานานหลายเดือน 2-3 เดือนมา 1 ครั้ง หรืออาจถึงขั้นปีละ 1-2 ครั้ง อาจมีสาเหตุมาจากภาวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
ความผิดปกติทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีภาวะไข่ไม่ตก ลูกหลานมีโอกาสไข่ไม่ตกได้เช่นกัน
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุล
วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause) หรือสภาพรังไข่ต่ำ (Low ovarian reserves)
ไทรอยด์ผิดปกติ หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
ระดับโปรแลคตินสูง (Hyperprolactinemia)
รังไข่หยุดทำงานก่อนเวลาอันควร (Premature ovarian failure)
น้ำหนักเกินมาตรฐาน ทำให้ไขมันสะสมเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนและควบคุมการตกไข่ไม่ได้
ออกกำลังกายหักโหม ทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนแปรปรวน ส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์น้อยลง และเสี่ยงต่อการแท้งลูกง่ายขึ้นด้วย
ความเครียดสะสม ทำให้สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ทำให้ฟองไข่ในรังไข่พัฒนาผิดปกติ
ผู้ป่วยโรคที่มีผลต่ออวัยวะสำหรับผลิตฮอร์โมนเพศ เช่น เนื้องอกในสมอง, ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ฯลฯ
พฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่, ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ, ละเลยการทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ฯลฯ
ฮอร์โมนไม่สมดุล ได้แก่ Follicle-stimulating hormone (FSH), Gonadotropin-releasing hormone (GnRH), Luteinizing hormone (LH)
รักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับรังไข่
ข้อเสียจากภาวะไข่ไม่ตก
ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขาดประจำเดือนนานถึง 2-3 เดือน
มีปัญหาผิวหน้าบ่อยขึ้น เช่น มีสิว ผิวมัน
เสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและโรคมะเร็งมดลูก
เสี่ยงต่อการมีลูกยาก
ทำไมไข่ไม่ตกถึงเสี่ยงต่อการมีลูกยาก
ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก จะมีโอกาสมีบุตรประมาณ 25% ในแต่ละเดือน แม้ว่าจะตกไข่ตามปกติ แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น กรณีที่ผู้หญิงมีภาวะไข่ไม่ตก ก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากไม่มีไข่ให้ปฏิสนธิ หากผู้หญิงตกไข่ผิดปกติ โอกาสตั้งครรภ์ก็จะน้อยลง เนื่องจากตกไข่น้อยกว่าปกติ นอกจากนี้การตกไข่ที่ช้ากว่าปกติ ยังส่งผลต่อคุณภาพของไข่ด้วยนะคะ และการตกไข่ผิดปกติยังบ่งบอกถึงการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกายผู้หญิงที่อาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาวอีกด้วยค่ะ
มีวิธีวินิจฉัยภาวะไข่ไม่ตกได้อย่างไรบ้าง
แพทย์จะซักประวัติรอบประจำเดือนของคุณแม่ หากคุณแม่มีรอบเดือนผิดปกติหรือขาดหายไป แพทย์จะสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นภาวะตกไข่ผิดปกติ จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจและบันทึกอุณหภูมิร่างกายของคุณแม่ที่บ้านเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือใช้ชุดทดสอบ LH หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน โดยดูจากฮอร์โมนรวม 21 progesterone หลังจากตกไข่แล้ว ฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนจะสูงขึ้น
หากฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนของคุณแม่ไม่เพิ่มขึ้น อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณแม่อาจจะไม่ตกไข่ นอกจากนี้แพทย์อาจตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อดูลักษณะโดยรวมของมดลูกและรังไข่ แล้วจึงตรวจดูด้วยว่ารังไข่มีลักษณะเป็นถุงน้ำหรือไม่ ซึ่งถุงน้ำนี้เป็นอาการหนึ่งของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ PCOS นอกจากนี้การอัลตร้าซาวด์ยังใช้ตรวจดูการเจริญเติบโตของ Follicle และการตกไข่ แต่ว่าวิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมนักเนื่องจากคุณแม่จะต้องอัลตราซาวนด์หลายครั้งภายในช่วง 1-2 สัปดาห์
วิธีดูแลตัวเองให้ไข่กลับมาตกเป็นปกติ
1.งดพฤติกรรมเสี่ยง
นอกจากจะทำให้มีลูกยากขึ้น การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำยังก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่ทำร้ายสุขภาพคุณแม่ระยะยาวและรักษายากด้วยนะคะ หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้วลูกคลอด อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพเจ้าตัวน้อยตั้งแต่ช่วงแรกด้วยเช่นกันค่ะ ดังนั้นควรเลิกพฤติกรรมเหล่านี้เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่เองและเจ้าตัวน้อยในอนาคตค่ะ
2.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำหนักตัวคุณแม่เป็นสิ่งสำคัญต่อการตั้งครรภ์ หากน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ขึ้นมาอาจทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติ เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้ผลิตจากไขมัน หากร่างกายมีไขมันสะสมปริมาณมาก ส่งผลให้ฮอร์โมนแปรปรวน ไข่ไม่ตก ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ หากปล่อยไว้นานอาจก่อให้เกิดโรคร้ายตามมา เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ เป็นต้น
3. เลือกทานอาหารบำรุงมดลูก
ได้แก่ ผักผลไม้สีแดงอย่าง มะเขือเทศ บีทรูท แครอท ซึ่งนอกจากจะมีสารไลโคปีนสูงที่ข่วยบำรุงผิวพรรณแล้ว ยังอุดมไปด้วย "โครเมี่ยม" ที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยทำงานร่วมกับอินซูลินเพื่อใช้ในกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลและนำโปรตีนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการต่อร่างกายในแต่ละวัน ซึ่งคุณแม่เตรียมตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ รวมถึงผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะขาดแร่ธาตุชนิดนี้ค่ะ
การทานไขมันดีช่วยเรื่องการตกไข่อย่างไรบ้าง
สำหรับคุณแม่ต้องการอาหารสำหรับบำรุงร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งครรภ์ การทานไขมันดีถือเป็นตัวเลือกที่ดีต่อร่างกายไม่น้อยเลยนะคะ เพราะไขมันดี หรือ HDL (High-Density Lipoprotein) เป็นไขมันที่มีฤทธิ์กำจัดไขมันเลวหรือไขมันเลว LDL (Low Density Lipoprotein) ที่สะสมอยู่ตามหลอดเลือดและส่งไปให้ตับกำจัดออกจากร่างกาย นอกจากจะช่วยกำจัดไขมันที่มีผลต่อน้ำหนักตัวที่สูงขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจเป็นปัญหาสุขภาพระยะยาวด้วยนะคะ สำหรับไขมันดีที่ครูก้อยขอแนะนำมี 2 ชนิด ได้แก่ น้ำมันกระเทียมและน้ำมันอะโวคาโดค่ะ
สำหรับ น้ำมันกระเทียม อุดมด้วยกำมะถัน ช่วยเพิ่มระดับของกลูตาไธโอน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย อีกทั้งช่วยเสริมสร้างภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิงอย่างเราได้เป็นอย่างดีด้วยค่ะ
ส่วน น้ำมันอะโวคาโด อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFAs) ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการตกไข่ นอกจากนี้ยังมีโฟเลต โพแทสเซียม และวิตามินเอ ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีต่อการเจริญพันธุ์ ลดภาวะอักเสบและปรับปรุงการทำงานของการตกไข่ ป้องกันภาวะไข่ไม่ตก
นอกจากนี้ไขมันดียังมีอยู่ในผักผลไม้และธัญพืชที่มีเส้นใยสูงอีกจำนวนมาก ได้แก่ ผักโขม, บรอกโคลี, กล้วย, ส้ม, เมล็ดแฟลกซ์, เมล็ดทานตะวัน และอื่น ๆ อีกมาก รวมถึงเนื้อสัตว์บางชนิดที่มีกรดไขมันสูงอย่างโอเมก้า 3 ที่เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีและเสริมสร้างพัฒนาการของสมองและจอประสาทตาอีกด้วยค่ะ ทั้งนี้อย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำ, พักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญจัดการกับความเครียดให้ดีนะคะ เพื่อให้ร่างกายพร้อมต่อการมีลูกมากที่สุดนั่นเองค่ะ
Comments