ปัจจุบันหลายๆ ครอบครัวประสบปัญหามีลูกยาก ซึ่งการทำเด็กหลอดแก้วเป็นอีกทางออกที่ช่วยเพิ่มโอกาสมีลูก โดยใช้เทคโนโลยีที่ช่วยการกระตุ้นไข่เพื่อนำไข่ที่ดีและตัวอสุจิที่แข็งแรงมาปฏิสนธิภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดตัวอ่อนและเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะ Day 3-5 (ระยะบลาสโตซีสต์) จากนั้นเตรียมผนังมดลูกให้พร้อมต่อการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการฝังตัวที่สมบูรณ์ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีเรื่องให้ลุ้นทั้งนั้น วันนี้ครูก้อยจะขอพูดถึง 12 เรื่องน่าลุ้นของคนทำเด็กหลอดแก้วว่ามีอะไรบ้าง? ถ้าพร้อมแล้วตามมาอ่านกันได้เลยค่ะ
1. ลุ้นจำนวนไข่สุก
หลังจากเข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้วและรอบเดือนมาภายใน 1-3 วัน คุณหมอจะให้ยาฉีดกระตุ้นไข่บริเวณหน้าท้องเป็นเวลา 8-12 วัน (โดสยาขึ้นกับการตอบสนองของฮอร์โมนของแต่ละคน) หลังจากนั้นไข่จะเจริญเติบโตไปจนถึง Day 14 ของรอบเดือน (นับวันที่มีประจำเดือนมาวันแรกเป็น Day 1) ไข่ที่สมบูรณ์ตามเกณฑ์จะโตประมาณ 20 มิลลิเมตร คุณหมอจะอัลตราซาวด์ดูจำนวนไข่ที่ขึ้นเติบโตตามเกณฑ์ และประเมินจำนวนไข่คร่าวก่อนนัดเก็บไข่
เมื่อถึงวันนัดเก็บไข่ คุณหมอจะให้คุณแม่ดมยาสลบเพื่อดูดไข่ออกมาใส่ในจานเพาะเชื้อ จากนั้นจะแจ้งจำนวนไข่สุกว่ามีทั้งหมดกี่ใบ ซึ่งไข่ที่พร้อมนำสเปิร์มมาเจาะ (อิ๊กซี่) จะต้องเป็นไข่สุกเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่คุณแม่ควรทำคือการบำรุงไข่ก่อนทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อให้ได้ไข่ที่สวยสมบูรณ์และเพิ่มจำนวนไข่ที่ใช้งานได้นั่นเอง
2. ลุ้นปฏิสนธิ
ไข่สุกที่เก็บมาได้จะต้องมีอัตราการปฏิสนธิที่ดีเกิน 75% ขึ้นไป เช่น เก็บไข่สุกมาได้ 10 ใบจะต้องปฎิสนธิเป็นตัวอ่อนได้ 7-8 ตัว
3. ลุ้นบลาสต์
ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิในวันแรก (Day 1) จะต้องมีชีวิตอยู่รอด, สามารถแตกเซลล์ทวีคูณและเติบโตทุกวันตามเกณฑ์ไปจนถึงระยะบลาสโตซิสต์ (Day 5) ในอัตราส่วน 50% ของตัวอ่อน Day 3 เช่น ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิใน Day 1 ได้ 10 ตัว เหลือเป็น Day 3 จำนวน 8 ตัว จะต้องถึงระยะบลาสโตซีส 50% จาก Day 3 หมายถึงบลาสต์อย่างน้อย 4 ตัว
4. ลุ้นผลตรวจโครโมโซม/ ลุ้นเพศ
สำหรับผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป สามารถส่งตรวจโครโมโซมตัวอ่อนก่อนใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกได้ ซโดยคุณหมอจะคัดและส่งตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ที่สวยและแข็งแรงไปตรวจโครโมโซม โดยใช้เวลา 7-10 วัน เพื่อให้ทราบผลว่าตัวอ่อนตัวมีโครโมโซมภายในปกติหรือไม่ รวมถึงทราบเพศของตัวอ่อนด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคลินิก สำหรับครูก้อยทำที่ GFC โดยส่งตรวจตัวอ่อน 4 ตัว จ่ายเพิ่มจากโปรแกรมทำ ICSI อีก 75,000 บาทค่ะ (2 ตัวแรก 45,000 บาท ตัวถัดไปตัวละ 15,000 บาท)
5. ลุ้นผนังมดลูก
เมื่อได้ตัวอ่อนที่ผ่านการคัดโครโมโซมแล้ว คุณหมอจะรอให้ประจำเดือนมาและให้ยามากินหรือสอดเพื่อเตรียมผนังมดลูกซึ่งเป็นยาฮอร์โมนเอสโตรเจน ช่วยให้ผนังมดลูกพร้อมฝังตัวมากที่สุด ระหว่างนั้นคุณแม่ควรเลือกทานอาหารที่ช่วยให้มดลูกอุ่นและช่วยให้เลือดไหลเวียนดี โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูงและอาหารที่มีฤทธิ์อุ่น
ผนังมดลูกที่พร้อมฝังตัวจะต้องหนาประมาณ 8-10 มิลลิเมตร, เรียงแนวเดียวกัน, เรียง 3 ชั้นสวย, ผิวเรียบ, เห็นเส้นกลางชัด, ใสเป็นวุ้น ไม่ขุ่น ไม่หนาทึบ
6. ลุ้นละลายตัวอ่อน
เมื่อถึงวันนัดย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก นักวิทยาศาสตร์จะละลายตัวอ่อนที่แช่แข็งเอาไว้ โอกาสที่ตัวอ่อนหลังจากละลายจะไม่ฝ่อและไม่ตายนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของตัวอ่อน และประสิทธิภาพของห้อง lab
7. ลุ้นติด/ไม่ติด
คุณหมอจะนัดเจาะเลือดหลังใส่ตัวอ่อน เพื่อเช็กฮอร์โมน beta -Hcg ว่าตั้งครรภ์หรือไม่? หลังจากใส่ตัวอ่อนระยะบลาสต์ประมาณ 9 -10 วัน แต่ส่วนใหญ่แม่ๆ มักจะแอบเทสก่อนด้วยแผ่นตรวจตั้งครรภ์ประมาณ 7-8 วันหลังใส่ตัวอ่อน หากเห็น 2 ขีดจางๆ แสดงว่าติดแล้วค่ะ
8. ลุ้นหลุด/ไม่หลุด
หากมีประจำเดือนมาเกิน 14 วันหลังใส่ตัวอ่อน หรือมาช้ากว่าปกติเพราะฤทธิ์ของฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนที่ใช้สอดช่องคลอด แสดงว่าไม่ติดค่ะ
แต่หากบางคนตรวจเจอ 2 ขีดแต่ต้วอ่อนฝ่อ อายุครรภ์ไม่เกิน 3 เดือนก็หลุดค่ะ เป็นการแท้งตามธรรมชาติ สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะโครโมโซมตัวอ่อนผิดปกติ, ตัวอ่อนด้อยคุณภาพ หรือผนังมดลูกบาง ไม่พร้อมฝังตัวนั่นเองค่ะ
9. ลุ้นถุงตั้งครรภ์
หลังจากเจาะเลือดและตรวจเช็กว่าท้องแล้ว คุณหมอจะนัดเพื่ออัลตร้าซาวด์ถุงตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 5-6 สัปดาห์ หากเจอถุงตั้งครรภ์ถือเป็นสัญญาณดี แต่ก็ต้องลุ้นต่ออยู่ดีว่า ภายในถุงตั้งครรภ์มีตัวอ่อนอยู่มั้ย? ถ้ามีถุงตั้งครรภ์แต่ไม่มีตัวอ่อน แสดงว่าท้องลมค่ะ เป็นการแท้งชนิดหนึ่งที่เกิดจากโครโมโซมในตัวอ่อนผิดปกติ
10. ลุ้นเสียงหัวใจ
เมื่ออัลตร้าซาวด์เจอถุงตั้งครรภ์และถุงไข่แดงเรียบร้อย ต้องมาเช็กเสียงหัวใจของทารกต่อนะคะ ซึ่งคุณหมอจะได้ยินชัดเจนประมาณ 6-7 สัปดาห์ค่ะ
11. ลุ้นผลตรวจ Nifty
เมื่อตั้งครรภ์ 11-14 สัปดาห์ คุณหมอจะทำนิฟตี้เทส (Non-invasive Prenatal Genetic Testing) หรือเจาะเลือดเพื่อตรวจเช็กโครโมโซมของทารกทุกคู่ว่าผิดปกติหรือไม่? เป็นวิธีที่ช่วยให้ทราบเพศลูกน้อยแล้วยังช่วยคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรม เพื่อหาทางรับมือหรือรักษาอย่างเหมาะสม การทำนิฟตี้เทสให้ผลลัพธ์แม่นยำถึง 99% หากเทียบกับการเจาะตรวจสารชีวะเคมีในเลือดแม่ที่มีความแม่นยำเพียงแค่ 60% เท่านั้น
กรณีคนที่คัดโครโมโซมตัวอ่อนก่อนใส่กลับเข้าโพรงมดลูก ควรตรวจนิฟตี้เทสหลังตั้งครรภ์อีกครั้งเพื่อความสบายใจก็ทำได้ค่ะ หรือจะไม่ตรวจแล้วก็ได้เนื่องจากผ่านการคัดโครโมโซมตัวอ่อนมาเรียบร้อยแล้ว โดยการทำนิฟตี้เทสจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 15,000-18,000 บาท
12. ลุ้นอวัยวะ
หลังจากตรวจเจอหัวใจเด็กเต้นเรียบร้อยแล้ว คุณหมอจะนัดอัลตร้าซาวด์ผ่านทางช่องคลอดทุกๆ 2 สัปดาห์ในไตรมาสแรก เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติที่อวัยวะต่างๆ ของทารก
เคล็ดลับความสำเร็จของการเตรียมความพร้อมก่อนทำเด็กหลอดแก้วนั้นอยู่ที่การดูแลตัวเองของแม่ๆ โดยเริ่มจากทานอาหารบำรุงไข่ให้มีคุณภาพล่วงหน้า 3 เดือนก่อนการเก็บไข่, การออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่หักโหมเกินไป, การเตรียมผนังมดลูกให้แข็งแรง และที่สำคัญควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ไข่มีคุณภาพและมีมดลูกแข็งแรงซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้นนั่นเองค่ะ
บทความที่น่าสนใจ
Kommentare