แม่ ๆ อยากท้องหลายคนอาจมีข้อสงสัยว่ามีเพศสัมพันธ์แบบปล่อยตามธรรมชาติมานานหลายปีแล้วแต่ก็ยังไม่ท้องสักที ทั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนไม่สมดุลได้ด้วยนะคะ เว่าแต่ภาวะดังกล่าวเกิดจากอะไร มีวิธีสังเกตอาการ รักษาและป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง มาอ่านไปพร้อมกันค่ะ
ฮอร์โมนไม่สมดุลคืออะไร
ฮอร์โมนเพศหญิงประกอบด้วยฮอร์โมนสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ เอสโตรเจน (Estrogen), โปรเจสเตอโรน (Progesterone), FSH (Follicle Stimulating Hormone) และ LH (Luteinizing hormone) ฮอร์โมนเหล่านี้จะทำหน้าที่ควบคุมประสิทธิภาพการทำงานของมดลูกและรังไข่ ส่งผลโดยตรงต่อประจำเดือน สภาพจิตใจ การนอนหลับ รวมถึงการตั้งครรภ์ด้วย เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้ไม่สมดุล ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประจำเดือนมาไม่ปกติ มีสิวขึ้นง่ายกว่าแต่ก่อน นอนหลับยาก หลงลืมง่ายปวดท้อง และอื่น ๆ อีกมาก
สาเหตุสำคัญของฮอร์โมนไม่สมดุล
โรคเบาหวาน ส่งผลให้ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ผิดปกติ
ภาวะความเครียด ส่งผลฮอร์โมนเพศเกิดความผิดปกติ
พฤติกรรมเสี่ยงต่อฮอร์โมนไม่สมดุล เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำงานในพื้นที่ที่มีมลพิษสูง รับประทานอาหารที่มีผลต่อฮอร์โมนเพศ
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) ส่งผลให้ให้เกิดอาการอ่อนเพลียและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามมา
ต่อมหมวกไตผิดปกติ (Congenital Adrenal Hyperplasia หรือ CAH) ส่งผลให้ความดันเลือดต่ำ น้ำหนักลดลง มีลูกยากขึ้น
การทานยาบางชนิดที่มีผลต่อความผิดปกติของฮอร์โมนเพศ เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคมะเร็ง ฯลฯ
โรคแอดดิสัน (Addison’s Disease) ส่งผลให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนไม่เพียงพอ
อาการคุชชิง (Cushing Syndrome) เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงเกินไป ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและเกิดผลข้างเคียงตามมา
อาการพราเดอร์-วิลลี่ (Prader-Willi Syndrome) ทำให้มีฮอร์โมนเพศต่ำ
อาการเทอร์เนอร์ (Turner’s syndrome) ทำให้มีรอบเดือนผิดปกติ
สัญญาณเตือนว่าคุณแม่กำลังมีภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล
อารมณ์แปรปรวนง่าย เห็นอะไรก็น่าหงุดหงิดไปหมด
ประจำเดือนมามาก ปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง
ช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศลดลง
น้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
ผิวแห้ง แตกลอกเป็นขุย ขาดความชุ่มชื้น มีสิวเรื้อรัง
ปวดศีรษะบ่อย ปวดท้องอยางหนัก ทานยาก็ไม่หาย
อ่อนเพลียง่าย อ่อนเพลียตลอดเวลา
นอนไม่หลับ นอนหลับแบบไม่เต็มอิ่ม หลับ ๆ ตื่น ๆ
กระดูกเปราะบาง
Fertility Problem ประสบปัญหามีบุตรยาก
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อฮอร์โมนไม่สมดุล
ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทอง
ผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินหรือต่ำกว่ามาตรฐาน
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง
ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
ผู้ที่ทำงานหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับมลพิษ
ผู้ที่ละเลยการออกกำลังกายเป็นประจำ
วิธีปรับฮอร์โมนเพศหญิงให้สมดุล
1.นอนหลับให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
เพราะการนอนน้อยส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม ส่งผลให้ฮอร์โมนเครียด (Cortisol) ถูกหลั่งออกมาเป็นจำนวนมาก จนรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ยังทำให้ฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone) หลั่งออกมาในช่วงไข่ มีความผิดปกติ ส่งผลให้สาว ๆ มีภาวะตกไข่และรอบเดือนไม่ปกติ ส่งผลให้มีลูกยาก
2.ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
หากสาว ๆ มีน้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป ส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ก็ลดลงด้วย ไข่จึงไม่ตกและประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยเฉพาะคนอ้วนที่มีโอกาสท้องยากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า ดังนั้นครูก้อยขอแนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายให้อยู่ในระดับที่สมดุล ส่งผลให้เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์มากขึ้น
นอกจากนี้อย่าลืมเลือกรับประทานอาหารที่ส่งผลต่อสมดุลของฮอร์โมนเพศด้วยนะคะ เริ่มจากเพิ่มโปรตีนในมื้ออาหารและหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลที่อาจไปทำลายเซลล์ไข่ของสาว ๆ ซึ่งการเลือกทานอาหารที่ดีจะช่วยลดระดับอินซูลิน ส่งผลต่อให้ฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายสมดุล วงจรการตกไข่เป็นปกติและเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้มากขึ้นด้วย
3.ลดละเลิกพฤติกรรมเสี่ยง
การสูบบุหรี่และดื่มเครื่อมดื่มแอลกอฮอล์ มีผลทำให้นิโคตินเข้าสู่ร่างกายและขัดขวางการผลิตฮอร์โมนของรังไข่ ส่งผลให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนออกมาน้อยลงและไม่เพียงพอต่อการสร้างเซลล์ไข่ แต่ในกรณีที่สาว ๆ ไม่ใช่สายสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่อมดื่มแอลกอฮอล์แต่ก็ยังไม่มีลูกสักที ครูก้อยอยากให้สำรวจความเครียดของคุณกันสักหน่อยว่าคุณมีวิธีการจัดการความเครียดได้ดีมากน้อยแค่ไหน หากคุณยังจัดการความเครียดได้ไม่ดี ก็มีผลต่อสมดุลของฮอร์โมนด้วยเช่นกันนะคะ
ดังนั้นหากแม่ ๆ คนไหนที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์อยู่ ครูก้อยต้องขอให้หันมาใส่ใจกับการปรับสมดุลฮอร์โมนด้วยการดูแลตัวเอง โดยเริ่มจากการเลือกรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายเป็นประจำ หาเวลาทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด และเมื่อฮอร์โมนในร่างกายสมดุล ก็ยิ่งส่งผลให้โอกาสท้องเพิ่มสูงขึ้นนั่นเองค่ะ
コメント