มาทำความรู้จักกับภาวะโปรแลคตินสูงก่อนจะเสี่ยงต่อการมีลูกยากกว่าเดิม
top of page
ค้นหา

มาทำความรู้จักกับภาวะโปรแลคตินสูงก่อนจะเสี่ยงต่อการมีลูกยากกว่าเดิม

ภาวะโปรแลคตินสูงเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและส่งผลต่อคุณแม่ตั้งครรภ์มากมาย วันนี้ครูก้อยจะมาทำความรู้จักกับภาวะดังกล่าวเพื่อหาทางรับมือและรักษาอย่างถูกวิธี


โดยปกติผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ปกติจะมีการตกไข่จากรังไข่เป็นประจำทุกเดือน ขบวนการกระตุ้นการตกไข่โดยธรรมชาติจะเริ่มจากฮอร์โมนของสมองส่วนล่าง (Hypothalamus) ถูกหลั่งให้มากระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้า เพื่อให้ผลิตฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการกระตุ้นรังไข่ทั้ง 2 ชนิด คือ FSH (Follicular Stimulating Hormone) และ LH (Lateinizing Hormone) ทำให้ถุงไข่และไข่เจริญเติบโต รวมถึงสร้างฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) ที่เพิ่มขึ้นและตกไข่ในที่สุด


ในกรณีที่มีการปฏิสนธิและการตั้งครรภ์หลังจากตกไข่ ถุงไข่จะเปลี่ยนสภาพเป็นคอร์ปัสลูเตียม (Corpus luteum) และผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ทำให้เยื่อบุมดลูกแข็งแรงสมบูรณ์ เหมาะกับการฝังตัวและเจริญเติบโตของตัวอ่อน แต่ถ้าไม่มีการปฏิสนธิ คอร์ปัสลูเตียมที่มีอายุการใช้งานเพียง 2 สัปดาห์จะฝ่อตัวลง ส่วนเยื่อบุมดลูกสลายตัวและหลุดลอกออกมาพร้อมกับเลือด กลายเป็นเลือดประจำเดือน


โปรแลคตินคืออะไร (Prolactin)


เป็นฮอร์โมนที่ผลิตออกมาจากสมองส่วนหน้า มีหน้าที่กระตุ้นต่อมน้ำนมให้สร้างน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารก ระดับโปรแลคตินจะสูงในสตรีขณะตั้งครรภ์และขณะให้นมบุตร ฮอร์โมนชนิดนี้คอยยับยั้งการหลั่งของ FSH และ LH เมื่อ FSH และ LH ลดลง จะทำให้การกระตุ้นการทำงานของรังไข่ลดลง และผลิตฮอร์โมนจากรังไข่ลดลง ส่งผลให้ไม่ตกไข่

.

ภาวะโปรแลคตินสูงเกิดจากอะไร


สาเหตุของภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนล่าง หรือเนื้องอกของต่อมใต้สมอง, โรคของต่อมไทรอยด์ หรือความเครียดของประสาท, การถูกกระตุ้นบริเวณเต้านมหรือหัวนม, การถูกรบกวนหรือเส้นประสาทบริเวณทรวงอก รวมไปถึงการทานยาบางประเภทโดยเฉพาะยาระงับประสาทและยาฮอร์โมน, ยาคุมกำเนิด, ยารักษาความดันโลหิตสูง หรือ ยารักษาโรคกระเพาะอาหารบางอย่าง


อาการของภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติมีแบบไหนบ้าง


ภาวะโปรแลคตินสูงส่งผลให้รังไข่ทำงานผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ, มาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดประจำเดือน, มีลูกยากหรือแท้งบ่อย, ปากช่องคลอดและช่องคลอดแห้งบาง, รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์, ความรู้สึกทางเพศลดลง, กระดูกพรุน ถ้าหากมีเนื้องอกของต่อมใต้สมองก็อาจมีอาการปวดศีรษะ, ลานสายตาหรือการมองเห็นภาพผิดปกติ บางรายมีน้ำนมไหลทั้งที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือไม่ได้มีลูกอ่อนที่กำลังให้นมแม่ ในผู้ชายที่มีภาวะโปรแลคตินสูงอาจมีปัญหาเชื้ออสุจิผิดปกติ และความรู้สึกทางเพศลดลง


รักษาได้อย่างไรบ้าง


ภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติที่เกิดจากความเครียด หากได้รับยาระงับประสาทมาทาน อาจจะกลับเป็นปกติได้ แต่หากเป็นภาวะที่เกิดจากสาเหตุไม่แน่ชัด หรือมีเนื้องอกต่อมใต้สมองขนาดเล็กไม่เกิน 1 ซ.ม. อาจต้องรักษาด้วยยาลดการหลั่งโปรแลคติน (bromocriptine) โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยทานยาในขนาดพอเหมาะ โดยแพทย์จะตรวจหาระดับโปรแลคตินในเลือดเป็นระยะจนกว่าผู้ป่วยจะตั้งครรภ์ หรือให้ยาในระยะยาว ทั้งนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะต้องให้ยานานเท่าไหร่ เพราะเรารู้จักและรักษาภาวะผิดปกตินี้ได้ไม่นานพอ และยังไม่พบว่ายานี้มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่แพทย์บางคนอาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดยาเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์


กรณีที่มีเนื้องอกของต่อมใต้สมอง หากได้รับยาแล้วเนื้องอกลดขนาดลงได้ แต่อาจโตขึ้นมาอีกเมื่องดยา ส่วนผลข้างเคียงของยาคือ รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน, เวียนศีรษะ, ปวดศีรษะ หน้ามืดเมื่อลุกขึ้นเร็วเกินไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักทนกับยาไม่ค่อยได้ โดยแพทย์จะเริ่มให้ยาคราวละขนาดน้อยๆ ก่อนแล้วค่อยเพิ่มขนาดเมื่อคนไข้คุ้นกับยา


บทความที่น่าสนใจ

ดู 7,396 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page