ผู้ชายเป็นหมัน มีอสุจิไหม เป็นคำถามที่คุณพ่อหลาย ๆ ท่านกำลังสงสัยและต้องการคำตอบใช่ไหมล่ะคะ เนื่องจากหลาย ๆ ท่านอาจกำลังประสบปัญหานี้อยู่ การเป็นหมันนั้น นอกจากจะเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่คุณผู้ชายหลาย ๆ คนเลือกแล้ว มันยังเป็นภาวะความผิดปกติทางร่างกายที่หลายคนต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อการมีบุตรได้โดยตรงเลยนั่นเอง
อย่างไรก็ตามค่ะ จากคำถามข้างต้น ครูก้อยจึงได้รวบรวมคำตอบและวิธีแก้ไขหากอยากมีลูกสำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะเป็นหมันมาฝากคุณผู้ชายกัน ซึ่งจะมีรายละเอียดอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ
ผู้ชายเป็นหมัน มีอสุจิไหม หากอยากมีลูก สามารถทำวิธีไหนได้บ้าง?
ในอดีตฝ่ายชายที่เป็นหมันหรือทำหมันแล้วย่อมไม่สามารถมีบุตรได้ เนื่องจากไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อที่หลั่งออกมา ทางออกคือต้องใช้อสุจิจากน้ำเชื้อของผู้บริจาคเท่านั้นจึงจะสามารถมีบุตรได้ แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีและวิวัฒนาการที่ล้ำสมัยยิ่งขึ้น สามารถช่วยให้ฝ่ายชายที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากเหล่านี้ สามารถมีบุตรของตนเองได้ค่ะ
FAQ: ผู้ชายที่เป็นหมัน มีอสุจิได้หรือไม่?
จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเลยค่ะว่า การเป็นหมันในฝ่ายชาย นั้น จะไม่สามารถมีบุตรได้เนื่องจากไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อที่หลั่งออกมานั่นเองค่ะ เนื่องด้วยสาเหตุหลาย ๆ อย่างที่อาจทำให้ตัวอสุจิไม่สามารถมาตามน้ำเชื้อได้ จึงทำให้ ในปัจจุบัน ผู้ชายที่เป็นหมันส่วนใหญ่จึงมักมีบุตรด้วยการใช้วิธีเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นจำนวนมากนั่นเองค่ะ
ลักษณะน้ำเชื้อของชายที่เป็นหมัน
กรณีที่ฝ่ายชายเป็นหมันจะไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อที่หลั่งออกมาเลย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก
ท่อนำอสุจิอุดตัน
ไม่มีท่อนำอสุจิตั้งแต่กำเนิด
มีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ
ตัวอสุจิที่หลั่งออกมาตายหมด
เคยมีการอักเสบของอัณฑะทำให้มีการสร้างเชื้ออสุจิน้อยมาก
ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีและวิวัฒนาการที่ล้ำสมัยยิ่งขึ้น จึงสามารถช่วยให้ฝ่ายชายที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากเหล่านี้ สามารถมีบุตรของตนเองได้ ด้วย “การเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะโดยตรง” แล้วสกัดคัดแยกตัวอสุจิออกมาผสมกับไข่ซึ่งทำได้ในกระบวนการอิ๊กซี่ (ICSI) นั่นเองค่ะ
หัตถการการเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะโดยตรงเป็นอย่างไร?
การเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะ เป็นวิธีการเก็บอสุจิโดยผ่านการดูดจากเนื้อลูกอัณฑะมาโดยตรง ซึ่งอัณฑะเป็นแหล่งผลิตตัวอสุจิตั้งต้น เพื่อช่วยเหลือทางด้านฝ่ายชายที่มีปัญหาเรื่องของน้ำเชื้อไม่มีตัวอสุจิ เป็นหมัน หรือมีท่อนำอสุจิอุดตันทำให้ไม่มีตัวอสุจิออกมาในน้ำหลั่ง มีการผลิตอสุจิที่น้อยมาก หรือมีคุณภาพต่ำมาก จนไม่สามารถมีบุตรได้
ขั้นตอนในการเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะ
การเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะ หรือส่วนอื่น ๆ ในท่อทางเดินของอสุจิมีหลายวิธี โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเลือกประเภทของการผ่าตัดจากสาเหตุของการไม่มีเชื้ออสุจิ ดังนี้
TESA (Testicular Sperm Aspiration)
คือ การใช้เข็มขนาดเล็ก ดูดเนื้อลูกอัณฑะออกมา นำเนื้อที่ได้ไปสกัดเอาเฉพาะตัวอสุจิ ออกมาผสมกับไข่ด้วยวิธีการอิ๊กซี่ (ICSI) เป็นวิธีที่ไม่มีบาดแผลที่ลูกอัณฑะ
TESE (Testicular Sperm Extraction)
คือ การผ่าตัดที่ใช้ใบมีดขนาดเล็กไม่เกิน 5 มม. ทำการเปิดแผลแล้วนำเอาเนื้ออัณฑะออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อนำไปสกัดเอาเฉพาะตัวอสุจิ โดยวิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ใช้เข็มขนาดเล็กดูดแล้วปริมาณเนื้อที่ได้มีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อการสกัด หรือดูดไม่ได้เลย
PESA (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration)
คือ การใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในท่อพักน้ำเชื้อ แล้วดูดน้ำอสุจิออกมา
MESA (Microsurgical Epididymal Sperm Aspiration)
คือ การผ่าตัดเข้าไปหาท่อพักน้ำเชื้อส่วน หลอดเก็บอสุจิ (epididymis) แล้วจึงใช้เข็มแทงเข้าไป และดูดตัวอสุจิออกมา
ทำไมต้องเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะ
โดยสาเหตุที่ต้องเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะนั้น เพราะฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องของน้ำเชื้อไม่มีตัวอสุจิ โดยแบ่งเป็นสาเหตุหลัก ๆ ได้แก่
สาเหตุจากการที่ต่อมใต้สมอง ไม่สามารถที่จะผลิตฮอร์โมนมากระตุ้นที่ลูกอัณฑะได้ ทำให้ลูกอัณฑะไม่สามารถผลิตอสุจิได้
เกิดจากลูกอัณฑะไม่สามารถสร้างตัวอสุจิได้เองตามธรรมชาติ มีการเสื่อมก่อนเวลาอันควร หรือมีการติดเชื้อคางทูมลงลูกอัณฑะและลูกอัณฑะบวมอักเสบ โดยเชื้อคางทูมนี้จะทำลายกระบวนการสร้างอสุจิตั้งแต่ในวัยเด็ก
น้ำอสุจิไม่สามารถผ่านท่อลำเลียงออกมาได้ เกิดจากท่อทางเดินของเชื้ออสุจิมีลักษณะตีบหรือตัน
น้ำเชื้อผิดปกติ มักเกิดจากส่วนประกอบความเป็นกรดด่างของน้ำเชื้อมีความผิดปกติ อาการเหล่านี้จะส่งผลให้การเคลื่อนไหวของเชื้ออสุจิไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ช้า อ่อนแอและตายง่าย
การหลั่งน้ำเชื้อที่น้อยเกินไป เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ อาจเกิดจากปัญหาระบบสืบพันธุ์ผิดปกติทำให้น้ำเชื้อหลั่งออกมาน้อย เกิดจากภาวะการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
การปฏิบัติตัวหลังการเก็บอสุจิจากลูกอัณฑะ
แผลจะหายภายใน 7 วัน แนะนำไม่ให้แผลโดนน้ำก่อนในระยะ 7 วันแรก โดยทั่วไปภาวะแทรกซ้อนต่ำ และเป็นหัตถการที่ใช้เวลาน้อย ไม่เกิน 20-30 นาที และทำภายใต้การดูแลของวิสัญญีแพทย์ ซึ่งจะคอยดูแลไปตลอดการทำหัตถการ มีความปลอดภัยสูง ไม่มีความเจ็บปวดในขณะทำ หลังทำหัตถการสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ สามารถกินยาแก้ปวดแผล และจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว การผ่าตัดนำอสุจิออกมานั้นถือว่าเป็นกระบวนการที่ปลอดภัย ช่วยให้ผู้มีบุตรยากมีความหวัง และมีทางเลือกมากขึ้นในการรักษา แต่ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานสนับสนุน คือ การปฏิสนธินอกร่างกาย (ICSI) และการเลี้ยงตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิสต์ ร่วมด้วยค่ะ
ความสำเร็จในการตั้งครรภ์นอกจากจะขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีหรือ วิธีการแล้ว ความร่วมมือกันของสามีภรรยาในการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ให้ความร่วมมือในการรับการรักษาในขั้นตอนต่าง ๆ ร่วมกัน มาเป็นเพื่อนภรรยาทุกครั้ง ที่แพทย์นัดเท่าที่จะทำได้ ก็อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นนะคะ
Comments