top of page
ค้นหา

ปล่อยในกี่วันถึงท้อง ตรวจเร็วสุดได้กี่วัน และวิธีไหนแม่นที่สุด?



ปล่อยในกี่วันถึงท้อง? เป็นคำถามที่ว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ต่างสงสัย ว่าการจะมีทายาทได้นั้น นอกจากเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ควรรู้แล้ว การตรวจการตั้งครรภ์ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะหากคุณพ่อและคุณแม่ไม่มีความเข้าใจมากพอจนปล่อยให้อายุครรภ์มากขึ้นและสายเกินไปสำหรับการบำรุงครรภ์ ปัญหาดังกล่าวก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยได้ค่ะ ดังนั้น จากคำถามข้างต้น ในบทความนี้ครูก้อยจึงมีคำตอบมาฝากให้ว่าที่คุณพ่อและคุณแม่ทุก ๆ คู่ได้หายสงสัยกันค่ะ


ปล่อยในกี่วันถึงท้อง หลังมีเพศสัมพันธ์กี่วันจึงสามารถตรวจได้?


ในแต่ละเดือนผู้หญิงจะมีการตกไข่ ที่ปล่อยไข่ไปยังท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ โดยไข่นั้นอาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 12-24 ชั่วโมง ซึ่งหากในระหว่างนั้นมีการปล่อยในเกิดขึ้น ก็จะเกิดการปฏิสนธิและท้องได้ นอกจากนี้ ตัวอสุจิมักจะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 5 วัน ดังนั้น หากอยากมีบุตรจึงควรนับวันตกไข่และควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 5 วันก่อนตกไข่ แต่หากไม่พร้อมที่จะมีบุตร ก็ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ หรือควรใช้วิธีการคุมกำเนิดชนิดอื่น


หากเกิดการปฏิสนธิขึ้นตัวอ่อนจะฝังตัวในโพรงมดลูกภายใน 6-10 วันหลังจากปฏิสนธิ และพัฒนาเป็นทารกตามลำดับซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้อาจทำให้ผู้หญิงท้องหลังจากผู้ชายปล่อยในภายใน 7-10 วัน และอาจรู้ผลชัดเจนประมาณ 14 วัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะเวลาการปฏิสนธิของแต่ละบุคคลอาจไม่เท่ากัน หากมีความกังวลใจควรตรวจครรภ์ด้วยตัวเองหรือเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจครรภ์เพื่อให้ทราบผลแน่ชัด


ตรวจตั้งครรภ์ทำอย่างไร เช็กวิธีตรวจครรภ์เรียงลำดับตามความแม่นยำ


การตรวจครรภ์ สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้


1. ตรวจโดยแพทย์/ ตรวจในห้องปฏิบัติการ


  • เจาะเลือดตรวจครรภ์ (Blood Test)


การตรวจเลือดตั้งครรภ์ หรือการตรวจเลือดเพื่อหาการตั้งครรภ์ เป็นอีกหนึ่งวิธีการตรวจครรภ์ที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำสูง เพราะผลการตรวจเลือดไม่เพียงแค่จะบอกว่าคุณแม่กำลังตั้งท้องหรือไม่ แต่ยังสามารถตรวจพบระดับฮอร์โมน hCG หรือฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถตรวจได้ 2 วิธี คือ


การตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณ hCG (Quantitative blood test) เพื่อดูว่ามีปริมาณ hCG เท่าไหร่ อายุครรภ์กี่สัปดาห์แล้ว และมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ใดบ้าง ซึ่งการตรวจเลือดแบบนี้อาจจะต้องรอผลตรวจตั้งแต่ 1-3 วัน เพราะเป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการ


การตรวจเลือดเพื่อวัดคุณภาพของ hCG (Qualitative blood test) เพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีปริมาณ hCG เท่าไหร่ หรือตั้งครรภ์ได้กี่สัปดาห์แล้ว หรือมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง


  • ตรวจปัสสาวะคนท้อง "Urine Pregnancy Test" หรือ ยูพีที (UPT)


การตรวจปัสสาวะสามารถทำได้เองทั้งที่บ้าน และสถานพยาบาล ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย สามารถทำได้เองที่บ้าน โดยการปัสสาวะผ่านแท่งตรวจ ซึ่งแท่งตรวจก็จะมีทั้งแท่งตรวจแบบหยด และแท่งตรวจแบบจุ่ม


สำหรับแท่งตรวจแบบจุ่ม ก็จะต้องปัสสาวะใส่ในถ้วยตวงปัสสาวะ และนำแท่งตรวจจุ่มลงไปในปัสสาวะ ทิ้งไว้สักพักเพื่อรอผล


สำหรับแท่งตรวจแบบหยด ผู้ตรวจจำเป็นจะต้องปัสสาวะผ่านแท่งตรวจให้พอชุ่ม แล้ววางทิ้งไว้เพื่อรอผลตรวจ


  • การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์


การตรวจการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีนี้ จะเป็นการตรวจด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในช่องท้องและสร้างภาพขึ้นมา ทำการตรวจโดยแพทย์ทั่วไปหรือสูตินรีแพทย์


ซึ่งนอกจากจะช่วยตรวจดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ ยังสามารถบอกตำแหน่งการตั้งครรภ์ บอกว่าตั้งครรภ์แฝดหรือไม่ มีการท้องนอกมดลูกหรือไม่ มดลูกมีก้อนเนื้องอกมดลูก ถุงน้ำ หรือซีสต์รังไข่หรือไม่


นอกจากนี้ หลังอายุครรภ์ 4 เดือนไปแล้ว การตรวจอัลตราซาวด์ยังสามารถตรวจเพศของลูก และคัดกรองความพิการหรือภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น รกเกาะต่ำ ภาวะน้ำคร่ำมากหรือน้อยเกินไป ความพิการแต่กำเนิดของทารก เป็นต้น


2.ตรวจด้วยตนเอง


ตรวจตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง แบบที่คุณสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง โดยการซื้อที่ตรวจครรภ์ หรือชุดทดสอบการตั้งครรภ์จากปัสสาวะที่จำหน่ายอยู่ในร้านค้าทั่วไปหรือร้านขายยา


ซึ่งวิธีนี้จะเป็นวิธีทดสอบหาฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin) ที่ออกมากับปัสสาวะ โดยเป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากรกและบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ โดยสามารถตรวจพบฮอร์โมน hCG ได้ในปัสสาวะ หลังจากปฏิสนธิไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ และจะขึ้นสูงสุดในช่วง 9-12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ซึ่งความแม่นยำของการตรวจวิธีนี้จะมีมากถึง 90%


โดยอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์นี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ


  • ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม


อุปกรณ์ชุดนี้จะมีราคาถูก ประกอบไปด้วยแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ และถ้วยตวง (บางยี่ห้อไม่มี) วิธีการใช้คือเก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง แล้วนำแผ่นทดสอบจุ่มลงในถ้วยตวงประมาณ 3 วินาที แล้วนำออกมาจากถ้วยตวง ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีเพื่อรออ่านผลตรวจครรภ์ ข้อควรระวัง คือ อย่าให้น้ำปัสสาวะเลย หรือสูงเกินกว่าขีดลูกศรของแผ่นทดสอบ


  • ที่ตรวจครรภ์แบบหยด


หรือแบบปัสสาวะผ่าน มีเพียงแท่งตรวจครรภ์ที่ใช้ในการทดสอบเท่านั้น วิธีการใช้คือ ถอดฝาครอบออกแล้วถือแท่งให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น แล้วปัสสาวะผ่านบริเวณที่ต่ำกว่าลูกศรให้ชุ่มประมาณ 30 วินาที จากนั้นรออ่านผลประมาณ 3-5 นาที


  • ที่ตรวจครรภ์แบบปากกาหรือแบบตลับ


ชุดอุปกรณ์จะประกอบไปด้วยหลอดหยด ตลับตรวจครรภ์ และถ้วยตวงปัสสาวะ ขั้นตอนการใช้ คือ เก็บปัสสาวะลงในถ้วยตวง จากนั้นนำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะแล้วหยดลงในตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3-4 หยด วางตลับทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วจึงอ่านผลการตรวจ


  • ที่ตรวจครรภ์ดิจิตอล


ประกอบไปด้วยอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียว คือแท่งสำหรับตรวจครรภ์ที่เป็นแบบดิจิตอล มีลักษณะคล้ายกับที่ตรวจครรภ์แบบปากกา และวิธีใช้ก็คล้ายกันด้วย คือเพียงแค่ถอดฝาครอบแท่งตรวจครรภ์ออก แล้วถือให้ลูกศรหัวทิ่มลงพื้น จากนั้นปัสสาวะผ่านให้โดนบริเวณที่อยู่ต่ำกว่าลูกศร โดยปัสสาวะผ่านประมาณ 5-30 วินาที เพื่อให้ที่ตรวจครรภ์มีความชุ่มเพียงพอ จากนั้นวางพักไว้ในแนวราบ และรออีกประมาณ 5 นาที เพื่ออ่านผลลัพธ์การตั้งครรภ์


ตรวจตั้งครรภ์เร็วสุดกี่วัน


หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว อีกกี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง? และกระบวนการที่จะสามารถบอกได้ว่าท้องหรือไม่ท้องนั้นก็คือการตรวจครรภ์นั่นเอง ซึ่งก็สามารถเลือกได้ว่าจะตรวจด้วยตนเอง หรือเข้ารับการตรวจโดยตรงกับแพทย์


ส่วนระยะเวลาในการตรวจนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าคำนวณวันตกไข่ไว้ได้อย่างแม่นยำหรือไม่ เพราะถ้าหากคำนวณวันตกไข่เอาไว้แล้ว หลังจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ไปอีก 12-14 วัน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่จะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ เพราะเป็นระยะเวลาที่มีการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิเสร็จสมบูรณ์พอดี ก็จะให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด


แต่ไม่ควรตรวจครรภ์เร็วเกินไป เพราะการตรวจครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์ผ่านไปแค่ไม่กี่วัน ไม่ได้เป็นตัว การันตีผลตรวจครรภ์ว่าจะมีความแม่นยำสูง แต่กลับเสี่ยงที่จะเกิดการคลาดเคลื่อนเพราะการปฏิสนธิอาจจะยังไม่สมบูรณ์ดี ทางที่ดีควรรออย่างน้อย 12-14 วันหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ในวันตกไข่จะได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด


ตรวจครรภ์ได้ตอนไหน ตรวจเมื่อไหร่ถึงชัวร์ที่สุด


โดยปกติแล้วคงไม่มีใครที่จู่ ๆ ก็นึกอยากจะตรวจครรภ์ขึ้นมาเสียดื้อ ๆ เพราะคนที่ต้องการจะตรวจครรภ์นั้น ก็มักจะต้องมีเหตุปัจจัยบางประการที่รู้สึกว่าตัวเองอาจจะกำลังตั้งครรภ์โดยที่ไม่ทันรู้ตัว หรือสังเกต ว่าประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ มีอาการคนท้อง หรือเริ่มมีอาการแพ้ท้อง


ดังนั้น หากจะถามว่า ควรตรวจครรภ์ตอนไหน ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับว่า อยู่ระหว่างการพยายามตั้งครรภ์หรือไม่ ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือเปล่า หรือมีอาการแพ้ท้องเบื้องต้นไหม หากมีอาการบ่งชี้อย่างใดอย่างหนึ่ง และสงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งท้องหรือไม่ ก็สามารถที่จะตรวจครรภ์ได้ทันที


แต่หากจะถามว่า แล้วตรวจครรภ์ตอนไหนชัวร์สุด ตรวจครรภ์ควรตรวจตอนไหนถึงจะได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงที่สุด ก็ควรจะต้องรอจนกว่าจะถึงวันที่ประจำเดือนขาดไป จึงเริ่มทำการตรวจครรภ์ได้


แต่ในกรณีที่ต้องการตรวจเร็วที่สุด ส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณแม่ได้คำนวณวันตกไข่ไว้ก่อนหน้านั้นหรือไม่ หรือจำครั้งสุดท้ายที่มีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ หากมีข้อมูลในส่วนนี้ ก็ให้นับไป 12-14 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ในวันที่คาดว่าจะมีการตกไข่แล้ว ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นระยะเวลาเร็วที่สุดที่จะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้


แต่ถ้าหากตรวจครรภ์ก่อนวันที่ 12-14 ถือว่าตรวจครรภ์เร็วเกินไป ก็อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่แม่นยำ เพราะการปฏิสนธิยังไม่สมบูรณ์ ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ยังไม่คงที่ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่ตรง กับความจริงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่


ปฏิสนธิกี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง? เราควรเริ่มนับความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์จากวันที่มีเพศสัมพันธ์ไหม?


แม้ส่วนมากแล้วมักจะมีการแนะนำให้ตรวจครรภ์หลังการมีเพศสัมพันธ์ล่าสุด แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งจะนำไปสู่การตั้งครรภ์ การมีเพศสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่การตั้งครรภ์ จะต้องเป็นจังหวะที่ร่างกายของผู้หญิงมีการตกไข่ จึงจะมีโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์ได้


แล้วแบบนี้หลังปฏิสนธิกี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง?


ส่วนมากแล้ว หากสามารถคาดคะเนวันที่จะมีการตกไข่ได้ ก็ให้นับจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ในวันไข่ตก ไป 12-14 วันหลังปฏิสนธิ ก็จะสามารถทราบได้ว่ากำลังตั้งท้องหรือไม่


ท้องกี่สัปดาห์ตรวจเจอ ตรวจครรภ์ต้องรอ 14 วัน จริงหรือ? ตัวเลขนี้มาจากไหน?


การตรวจครรภ์อย่างเร็วที่สุดที่สามารถตรวจพบได้คือ 12-14 วัน เพราะหลังจากที่มีการตกไข่ ประจำเดือนของผู้หญิงจะมาอีกใน 14 วันถัดมา หากมีประจำเดือนมาหลังจาก 14 วันผ่านไปแล้ว ก็แปลว่า ไม่ได้มีการตั้งครรภ์


แต่ถ้าครบ 14 วันหลังการมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดที่มีการตกไข่แล้วประจำเดือนยังไม่มา ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น


อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ใช้ได้ผลกับคนที่ประจำเดือนมาปกติเท่านั้น ในกรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจจะต้องมาคำนวณหาครั้งล่าสุดที่มีประจำเดือน และคำนวณวันที่คาดว่าจะมีไข่ตก แล้วนำข้อมูล มาประกอบกันเพื่อคำนวณดูว่าหลังจากนั้นประจำเดือนจะมาในช่วงไหนด้วยนั่นเองค่ะ


เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่ครูก้อยนำมาฝากในวันนี้ หวังว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่กล่าวมาจะเป็นประโยชน์แก่คุณพ่อคุณแม่ทุก ๆ คู่นะคะ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญนอกจากการศึกษาวิธีการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติเพื่อให้มีเจ้าตัวน้อยแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่คู่ใดที่รู้ตัวว่าอาจไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการตรวจการตั้งครรภ์มากพอ ครูก้อยแนะนำให้เข้าพบคุณหมอจะดีที่สุดนะคะ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และเจ้าตัวน้อยด้วยค่ะ


บทความที่น่าสนใจ

ดู 114,398 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page