การนอนจำเป็นต่อระบบการทำงานของร่างกายเป็นอย่างมาก รวมไปถึงภาวะเจริญพันธุ์ด้วย ถ้าหากคุณแม่นอนน้อยเกินไปอาจส่งผลให้มีลูกยากด้วยเช่นกัน แล้วมีผลอย่างไรบ้างวันนี้ครูก้อยจะมาเล่าให้ฟังค่ะ
ทำไมนอนน้อยแล้วมีลูกยาก
จากงานวิจัยเรื่อง Sleep, Circadian Rhythms, and Fertility ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Sleep Medicine Report เมื่อปี 2016 พบว่าสมองส่วนที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เราหลับหรือตื่น ได้แก่ เมลาโทนิน และคอร์ติซอล เป็นสมองส่วนที่กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเพศด้วยเช่นกัน ดังนั้นฮอร์โมนที่ควบคุมการตกไข่ของผู้หญิงและฮอร์โมนที่ควบคุมการผลิตสเปิร์มของผู้ชายจึงมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของการนอนหลับด้วย
สำหรับผู้หญิง การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นเวลานานส่งผลโดยตรงต่อการสร้าง Luteinizing Hormone (LH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมาในช่วงตกไข่ มีผลให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมาเพื่อรอการปฏิสนธิ หากฮอร์โมน LH ผิดปกติย่อมส่งผลให้รอบเดือนมาไม่ปกติ ทำให้ไข่ไม่ตก หรือไข่ตกไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการมีบุตรยากนั่นเอง
สำหรับผู้ชาย ผู้ชายที่นอนน้อยกว่า 6 ชม.หรือมากกว่า 9 ชม.ต่อวัน ส่งผลต่อโอกาสในการทำให้คู่ของตนเองตั้งครรภ์ลดลง 42% ในแต่ละรอบเดือน
นอนน้อยเกิดจากอะไรได้บ้าง
ความเครียด, วิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า
แอลกอฮอล์, คาเฟอีนที่มาจากกาแฟ, บุหรี่
สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการนอนหลับ
ท้องว่างหรือท้องอืดจากการทานอาหารมื้อดึกก่อนนอน
อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่ทำให้สะดุ้งตื่นและนอนไม่เต็มอิ่ม
ปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนละเมอ, ฝันร้าย หรือนอนไม่เป็นเวลาจนเคยชิน
เวลานอนที่เปลี่ยนไปตลอดเวลาเนื่องจากหน้าที่การงาน เช่น ยาม, พยาบาล, ฟรีแลนซ์
ผลเสียจากการนอนน้อย
ความสามารถในการใช้เหตุผล, ทักษะการคิดแก้ปัญหา, การมีสมาธิลดลง
เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวาย, โรคหลอดเลือดในสมอง, โรคเบาหวาน
ความต้องการทางเพศลดลง
ฮอร์โมนสืบพันธุ์ลดลง
เกิดภาวะประสาทหลอน
เกิดภาวะซึมเศร้า
สุขภาพผิวเสีย
หลงลืมง่าย
น้ำหนักตัวเพิ่ม
แล้วต้องนอนมากแค่ไหนถึงจะเพียงพอ
นักวิจัยแนะนำว่าควรนอนหลับอย่างน้อย 7-9 ชม.ต่อวัน จะส่งผลดีต่อภาวะเจริญพันธุ์ นอกจากจะนอนหลับให้เพียงพอแล้ว อย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่หักโหมเกินไป, ทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกหลักโภชนาการและอาหารบำรุงครรภ์/สเปิร์ม ก็จะส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง ฮอร์โมนสมดุล มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติมากขึ้นนะคะ
มีวิธีแก้ปัญหานอนน้อยได้มั้ย
กำหนดเวลาเข้านอนชัดเจน ในช่วงแรกแนะนำให้ฝึกไปจนกว่าร่างกายจะปรับเวลานอนได้เอง
หลีกเลี่ยงอาหารและพฤติกรรมเสี่ยงก่อนเข้านอน
หากิจกรรมทำผ่อนคลายก่อนนอน
ปรับสภาพแวดล้อมการนอนให้ดี
ฝึกการนอนที่ถูกสุขลักษณะ
ปรึกษาคุณหมอหากไม่สามารถปรับเวลาได้ด้วยตัวเอง
Comentarios