ไข่ไม่ตกเรื้อรัง อีกหนึ่งสาเหตุของปัญหาการมีบุตรยาก และสามารถพบได้ในบรรดาหญิงสาวทั่วไป โดยภาวะนี้ เป็น ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรังเป็นความผิดปกติของการทำงานของรังไข่ ที่ทำให้ขบวนการการโตของไข่น้ันหยุดชะงัก โดยร่างกายน้ันสูญเสียกลไกการควบคุมการเจริญเติบโตของไข่ ทำให้เกิดปัญหาประจำเดือนมาไม่ตามกำหนด ขาดประจำเดือน สิวขึ้น ผิวมัน มีบุตรยาก นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูกในระยะยาว และเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานเมื่ออายุมากขึ้นด้วย
ไข่ไม่ตกเรื้อรัง คืออะไร อันตรายหรือไม่ รักษาได้หรือเปล่า?
ภาวะไม่ตกไข่ (Anovulation) หรือ ภาวะตกไข่ผิดปกติ (Ovulation disorder) คือ การไม่มีไข่ตกออกมาจากรังไข่ โดยที่อาจมีหรือไม่มีการเจริญของ ฟอลลิเคิล ในรังไข่ก็ได้
เมื่อไม่มีการตกไข่ก็จะไม่มีการสร้างคอร์ปัสลูเตียม (Corpus luteum) ซึ่งมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกกลายเป็นประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนไม่มา หรือในรายที่มีภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวมีการหลุดลอกตัวผิดปกติ เกิดภาวะประจำเดือนมามาก หรือเลือดออกกะปริดกะปรอยได้
ในกรณีที่ผู้หญิงมีภาวะไข่ไม่ตก ก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ตามธรรมชาติได้เนื่องจากไม่มีไข่สำหรับการปฏิสนธิ หากผู้หญิงมีการตกไข่ที่ไม่ปกติก็จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้น้อยลงนั่นเองค่ะ
ภาวะไข่ไม่ตกเกิดจากสาเหตุใดบ้าง
ภาวะไข่ไม่ตกและภาวะตกไข่ผิดปกติมีสาเหตุได้หลากหลาย สาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะตกไข่ผิดปกติคือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome (PCOS)
นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆ ของภาวะตกไข่ผิดปกติหรือภาวะไข่ไม่ตก ได้แก่
ภาวะอ้วน
น้ำหนักตัวต่ำเกินไป
การออกกำลังกายหักโหม
ภาวะระดับโปรแลคตินสูง (Hyperprolactinemia)
ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนเวลาอันควร (Premature ovarian failure)
วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause) หรือสภาพรังไข่ต่ำ (Low ovarian reserves)
ภาวะไทรอยด์ผิดปกติ (ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism))
มีความเครียดสูงเกินไป
ภาวะไข่ไม่ตกรักษาได้หรือไม่
สำหรับวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตก กรณีผู้ป่วยมีภาวะไข่ไม่ตกหลายรายสามารถรักษาได้โดยการเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันและอาหารการกิน หากสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตกมาจากน้ำหนักตัวที่ต่ำเกินไปหรือออกกำลังกายหักโหม อาจเพิ่มน้ำหนักตัวหรือลดการออกกำลังกายลงก็เพียงพอต่อการให้มีการตกไข่กลับมาเป็นปกติ เช่นเดียวกันกับภาวะอ้วน หากคุณมีน้ำหนักเกิน การลดน้ำหนัก 10% จากเดิมก็สามารถช่วยให้มีการตกไข่กลับมาเป็นปกติ
หากมีความเครียดมากเกินไปก็ต้องผ่อนคลาย ทำสมาธิ พักผ่อนให้เพีนงพอก็จะสามารถปรับสมดุลฮอร์โมนให้ปกติกลับมามีการตกไข่ได้
นอกจากนี้ยังรักษาด้วยการกระตุ้นไข่ตก และ การใช้ยาบางชนิดเพื่อรักษาได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การกระตุ้นไข่ตก หรือ การชักนำให้เกิดการตกไข่ (Ovulation induction)
เป็นการใช้ยากระตุ้นการเจริญเติบโตของฟองไข่ (Follicle) จนถึงระยะที่เหมาะสมจนกระทั่งมีการตกไข่ (ovulation) หรือใช้ฮอร์โมนเพื่อชักนำให้เกิดการตกไข่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ตัวอสุจิที่ผ่านโพรงมดลูกเข้าไปยังท่อนำไข่จนพบกับไข่ที่ตกมาจากรังไข่และเกิดการปฏิสนธิต่อไป
ก่อนเริ่มให้การรักษาคู่สมรสโดยการให้ยากระตุ้นไข่ตก ควรจะได้มีการประเมินคู่สมรสโดยละเอียดเพื่อยืนยันภาวะไม่ตกไข่ และแยกภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ
การตรวจเพิ่มเติมที่จำเป็น ได้แก่
การตรวจ semen analysis (ตรวจวิเคราะห์อสุจิ) เพื่อแยกภาวะมีบุตรจากที่เกิดจากความผิดปกติฝ่ายชาย หรือ การฉีดสีเข้าไปในโพรงมดลูก สำหรับการประเมินความสมบูรณ์ของท่อนำไข่ของฝ่ายหญิง เพื่อดูว่ามีท่อนำไข่อุดตันหรือไม่
จุดมุ่งหมายต้องการให้มีไข่ตกเหมือนรอบธรรมชาติแต่มีความแน่นอนมากขึ้น เนื่องจากตามรอบธรรมชาติแม้จะมีประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอแต่พบว่ามีการตกไข่เพียงแต่ร้อยละ 80 เท่านั้น หมายความว่าในการมีประจำเดือนประมาณ 12-13 ครั้งในหนึ่งปีจะพบว่ามีไข่ตกเพียง 9-10 รอบเท่านั้นและจะน้อยกว่านี้ถ้าหญิงนั้นมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ แต่การใช้ยาจากภายนอกกระตุ้นนั้นจะพบไข่ตกได้ถึงร้อยละ 80-90 ดังนั้นการรักษานี้จึงเหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีปัญหาไข่ไม่ตก หรือในกรณีที่ไม่พบปัญหาชัดเจน
ขั้นตอนการรักษา
ขั้นตอนประกอบด้วยการเริ่มใช้ยากระตุ้นรังไข่ในช่วงต้นของรอบเดือน การติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่ การชักนำให้ไข่ตกด้วยยาฮอร์โมนหรือตรวจหาวันไข่ตกด้วยแถบตรวจฮอร์โมนจากปัสสาวะ และการกำหนดวันทำการบ้าน หรือฉีดเชื้อผสมเทียม การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่สามารถใช้เพียงการรับประทานยาและกำหนดวันทำการบ้านเท่านั้น แต่ต้องประกอบด้วยส่วนที่สำคัญมากคือการติดตามและประเมินการเติบโตของฟองไข่หรือการตรวจด้วยวิธีต่างๆเพื่อหาวันไข่ตกซึ่งแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อให้การกำหนดวันไข่ตกมีความแม่นยำมากที่สุด
การใช้ยาชักนำให้ไข่ตก
ยาที่ใช้มีทั้งยารับประทานและยาฉีด ยารับประทานแพทย์มักให้เริ่มทานในช่วงวันที่ 3-5 ของการมีประจำเดือนวันละ 1-3 เม็ดเป็นระยะเวลา 5 วัน ส่วนยาฉีดมักใช้ร่วมกับยารับประทาน หรืออาจใช้ยาฉีดอย่างเดียวก็ได้ในบางกรณี แต่ขนาดยาและวันที่ฉีดมีความแตกต่างได้มากตามการปรับยาของแพทย์เพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน ยาเหล่านี้เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ จึงไม่แนะนำให้ไปซื้อยาใช้เองเนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้
Clomid
เป็นยารักษาภาวะมีบุตรยากตัวแรกที่มีการนำมาใช้ Clomid สามารถทำให้ 80% ของผู้หญิงที่มีภาวะไข่ไม่ตกเกิดการตกไข่ได้ และช่วยให้ 45% สามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 6 เดือนที่ได้รับการรักษา หากการใช้ Clomid ไม่ได้ผล ก็ยังมีการรักษาภาวะมีบุตรยากอื่นให้ลองได้
ในผู้หญิงที่มี PCOS ยาที่เพิ่มความไวต่ออินซูลิน (Insulinsensitizing drugs)
เช่น Metformin สามารถช่วยให้กลับมามีการตกไข่ได้ โดยต้องติดตามผลการรักษา 6 เดือนเพื่อดูว่า Metformin ได้ผลหรือไม่ หาก Metformin เพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล การนำยารักษาภาวะมีบุตรยากมาใช้คู่กันสามารถเพิ่มโอกาสที่การรักษาจะได้ผลในผู้หญิงที่ใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากเพียงอย่างเดียวแล้วไม่มีการตกไข่
ยารักษาโรงมะเร็ง Letrozole (Femara)
สามารถทำให้เกิดการตกไข่ได้ในผู้หญิงที่มี PCOS โดยมีโอกาสได้ผลสูงกว่า หากสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตกคือการที่มีภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนเวลาอันควร หรือสภาพรังไข่ต่ำ (Low ovarian reserves)
หากไข่ไม่ตกเลย ถึงแม้ใช้การกระตุ้นไข่ตกหรือใช้ยารักษาแล้ว ก็ไม่สามารถตั้งครรถ์ตามธรรมชาติได้ แต่ยังสามารถใช้วิธีการรับบริจาคไข่เพื่อทำด็กหลอดแก้วต่อไปค่ะ
ภาวะไข่ไม่ตกส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหารการกิน การมีน้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยเกินไป
ดังนั้น แม่ๆ ต้องรู้จักการรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ เน้นโปรตีน ลดคาร์บและไขมัน ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และไม่เครียดก็จะสามารถปรับวงจรการตกไข่ให้เป็นปกติได้ค่ะ
Comments