ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว ขั้นตอนที่คุณพ่อและคุณแม่หลาย ๆ คนอาจยังไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีวิธีการอะไรบ้าง แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าการทำ "เด็กหลอดแก้ว" นั้นเป็นวิธีทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน แต่คุณพ่อคุณแม่ที่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีการมีลูกรูปแบบนี้ ก็ยังมีอยู่มากทีเดียว
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว เริ่มต้นจากอะไร ยากไหม แพงมากหรือเปล่า?
การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธี IVF เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากที่มีประสิทธิภาพสูง ได้รับความนิยม เนื่องจากมีอัตราการตั้งครรภ์สูง การทำ IVF จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่ของคู่สมรสในปัจจุบัน หรือคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก
ในบทความนี้ ครูก้อยจึงจะพามาทำความรู้จักกับการทำ IVF ว่าคืออะไร ต่างจากการทำ ICSI อย่างไร ขั้นตอนการทำ IVF ทำอย่างไร ข้อดีและข้อจำกัดของการทำ IVF วิธีการเตรียมตัวดูแลก่อนการทำ IVF ค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับการทำ IVF รวมไปถึงตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการทำเด็กหลอดแก้ว IVF กันค่ะ
เด็กหลอดแก้ว (IVF) คืออะไร?
การปฏิสนธินอกร่างกาย (In-Vitro fertilization: IVF) หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เด็กหลอดแก้ว” เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ โดยการเก็บไข่ที่สุกเต็มที่แล้วออกมานอกร่างกายฝ่ายหญิง แล้วนำไปผสม กับเชื้ออสุจิของฝ่ายชายในหลอดทดลอง หรือจานแก้วที่มีสารเลี้ยงตัวอ่อนอยู่
หลังจากนั้น 14-16 ชั่วโมง แพทย์จะตรวจดูการปฏิสนธิว่าปกติดีหรือไม่ และเลี้ยงไข่ต่อไปอีก 1 วัน เพื่อให้ไข่กลายเป็นตัวอ่อน (Embryo) รวมเป็นระยะเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง
เมื่อได้ตัวอ่อนแล้ว แพทย์จะคัดเลือกตัวอ่อนที่มีประสิทธิภาพ 1-4 ตัว ย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเติบโตในครรภ์มารดาต่อไป โดยสาเหตุที่ย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกหลายตัว ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตั้งครรภ์นั่นเอง
การทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีการ ICSI (IVF/ICSI)
สำหรับการทำเด็กหลอดแก้วนั้นสามารถแบ่งออกได้ 2 วิธีหลัก ๆ ค่ะ ได้แก่
IVF (In-Vitro Fertilization)
การทำเด็กหลอดแก้วเป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ เพื่อรักษาคู่สมรสที่ประสบภาวะ ผู้มีบุตรยาก โดยการคัดเลือกไข่ที่สมบูรณ์จากคู่สมรสฝ่ายหญิงและนำเชื้ออสุจิจากคู่สมรสฝ่ายชายใส่ ลงไปในหลอดแก้ว เพื่อให้อสุจิได้ทำการปฏิสนธิกับไข่ภายในหลอดแก้วเอง เป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย จากนั้นไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิอย่างสมบูรณ์จะกลายเป็นตัวอ่อน และจะถูกเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเฉพาะและตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อนพิเศษที่จำลองภาวะเหมือนอยู่ในร่างกายมนุษย์ จนถึงระยะที่เหมาะสม จะทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปยังโพรงมดลูกของคู่สมรสฝ่ายหญิงเพื่อให้เกิดการฝังตัวและตั้งครรภ์
ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection)
หรือที่เราได้ยินกันอย่างแพร่หลายในไทยว่า อิ๊กซี่ เป็นการช่วยการปฏิสนธิระหว่างเชื้ออสุจิ และไข่ โดยการคัดเลือกอสุจิมา 1 ตัว เพื่อทำการฉีดเข้าไปในไข่ที่สมบูรณ์ 1 ใบ โดยวิธีการนี้ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำ IVF เนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้วแบบเดิม ๆ พบว่าในขั้นตอนการผสมเทียมในหลอดแก้วบางครั้งเชื้ออสุจิไม่สามารถเจาะเปลือกไข่เข้าไปได้เอง ทำให้ไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น วิธีการ ICSI นี้จึงถูกนำมาใช้ในการทำเด็กหลอดแก้วสมัยใหม่อย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ (Fertilization Rate) ทำให้อัตราความสำเร็จของการทำเด็กหลอดแก้วเพิ่มสูงมากขึ้น
IVF ต่างจาก ICSI อย่างไร?
ความแตกต่างระหว่างการทำ IVF และ ICSI นั้น อยู่ที่ขั้นตอนการปฏิสนธิ โดยการทำ IVF ไข่และอสุจิหลายตัวจะถูกนำไปผสมในจานเพาะเลี้ยง ซึ่งอสุจิจะว่ายมาปฏิสนธิกับเซลล์ไข่เองตามธรรมชาติ เมื่อ เข้าสู่การปฏิสนธิ ก็จะได้ตัวอ่อน ในขณะที่การทำ ICSI นั้น เป็นการใช้เข็มฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง
13 ขั้นตอนสรุปการทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI)ให้คุณพ่อและคุณแม่เข้าใจง่าย
สำหรับขั้นตอนการต้อนรับลูกน้อยวิธีนี้ แม้จะละเอียดอ่อน แต่ค่อนข้างปลอดภัย และหากได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับความรักของคุณพ่อคุณแม่ ก็อาจไม่ยุ่งยากเท่าที่คิด
13 ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI) แบบ Step by step
1. บำรุงไข่ บำรุงสเปิร์มล่วงหน้า 3 เดือน
เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการทำ ICSI เลยก็ว่าได้ เพราะตัวอ่อนจะสมบูรณ์พร้อมฝังตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับไข่ที่มีคุณภาพแบะสเปิร์มที่แข็งแรงค่ะ การบำรุงไข่ก่อนเข้าสู่กระบวนการเก็บไข่ และก่อนเก็บน้ำเชื้อจึงจำเป็นค่ะ
โดยขั้นตอนนี้ควรเริ่มทำอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนจะเริ่มกระบวนการ ICSI โดยการบำรุงไข่นั้นทำได้โดยหลักโภชนาการที่ถูกต้อง + วิตามินบำรุง
ครูก้อยได้ศึกษางานวิจัยและรวบรวมหลักการรับประทานอาหารเป็นสูตร 5+1 Keys to success ดังนี้ค่ะ
(1)เพิ่มโปรตีน
(2)ลดคาร์บ
(3)งดหวาน
(4)ทานกรดไขมันดี
(5)เน้นสารแอนตี้ออกซิแดนท์
➕ 1 เสริมวิตามินบำรุงไข่
อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เราได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในแต่ละวัน เพราะเรารับประทานในปริมาณน้อย และสารอาหาร หรือ วิตามินบางชนิดร่างกายสามารถดูดซึมได้น้อยในรูปแบบของอาหาร และเราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าในอาหารแต่ละมื้อเราได้รับวิตามินที่เพียงพอตามปริมาณที่ร่างกายต้องการได้รับหรือไม่
ดังนั้น หลักในการ "บำรุงไข่" ของครูก้อย คือ ทานวิตามิน 30% ค่ะ ครูก้อยจะ "เน้นเรื่องโภชนาการเป็นหลัก" เพราะอาหารสำคัญที่สุดค่ะ แต่ก็ไม่ขาดเรื่องวิตามินเสริมที่จะทำให้
ร่างกายเราได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและจำเป็นสำหรับคนที่เตรียมตัวเป็นคุณแม่ค่ะ
👉ครูก้อยใช้สูตรนี้ค่ะ อาหาร 70% วิตามิน 30%
📚จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Medicine Insight Womens Health เมื่อปี 2019
ได้รวบรวมผลการศึกษา ถึงความสำคัญของ micronutrients ซึ่งได้แก่ "วิตามินและแร่ธาตุ" ที่จำเป็นที่ ผู้หญิงวางแผนท้องที่ควรได้รับล่วงหน้าก่อนตั้งครรภ์
งานวิจัยศึกษาพบว่า สาเหตุของภาวะมีบุตรยากนอกจากการทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการแล้ว การขาดวิตามินและแร่ธาตุก็เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่ง เพราะวิตามินและแร่ธาตุมีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมให้ระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้อย่างปกติและสมบูรณ์ รวมถึงระบบสืบพันธุ์ด้วย
การได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่เพียงพอนอกจากจะส่งผลให้ผู้หญิงมีลูกง่ายขึ้นแล้ว
✔ยังช่วยลดความเสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิด
✔ส่งผลต่อคุณภาพและการเจริญเติบโตของเซลล์ไข่ (oocyte quality and maturation)
✔เพิ่มอัตราการปฏิสนธิ ( fertilization)
✔เพิ่มอัตราการฝังตัวของตัวอ่อน (implantation)
✔การเจริญเติบโตของตัวอ่อนเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ (embryo development)
✔ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นศัตรูตัวร้ายของภาวะเจริญพันธุ์อีกด้วย
โดยหัวใจสำคัญคือ ต้องทานอย่างต่อเนื่องล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ค่ะ เป็น "prenatal vitamins" หรือ "วิตามินเตรียมตั้งครรภ์" ที่จะเสริมสารอาหารให้กับร่างกายแม่ๆเตรียมพร้อมตั้งแต่การบำรุงเซลล์ไข่ให้สมบูรณ์
เพื่อเตรียมเก็บไข่ทำ ICSI หรือพร้อมในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติค่ะ
ส่วนคุณผู้ชายต้องเตรียมตัวบำรุงสเปิร์มไปให้ดีที่สุด ทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นโปรตีน งดของมัน ของทอด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ งดเหล้า งดบุหรี่ สเปิร์มก็จะมีคุณภาพขึ้นค่ะ
อย่าลืมทานวิตามินบำรุงสเปิร์มด้วยนะคะ เพราะการทานอาหารในแต่ละวันไม่สามารถได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ยิ่งถ้ามีปัญหาสเปิร์มหนัก ต้องเสริมวิตามินช่วยค่ะ
2. กระตุ้นไข่
หมอจะอัลตร้าซาวด์จำนวนฟองไข่ประกอบกับการตรวจฮอร์โมน AMH เพื่อประเมินจำนวนไข่ตั้งต้นและการทำงานของรังไข่แล้วจะประเมินว่าแม่ๆ ต้องใช้ยากระตุ้นในปริมาณเท่าใด ซึ่งขึ้นอยู่กับ conditions ของแม่ๆแต่ละคนนะคะ จะแตกต่างกันไป
การฉีดกระตุ้นไข่ก็เพื่อทำให้ไข่ในรังไข่มีการเจริญเติบโต และมีจำนวนฟองไข่มากกว่าธรรมชาติ (โดยธรรมชาติ จะมีการฟองไข่โตขึ้นมาฟองเดียวในแต่ละรอบเดือน) จุดประสงค์ก็เพื่อให้ได้ไข่จำนวนมากสำหรับไปปฏิสนธิกับตัวอสุจิ จนได้เป็นตัวอ่อน (embryo) การที่ได้ตัวอ่อนมาก ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้น และบางครั้งยังเหลือตัวอ่อนเก็บแช่แข็งเพื่อใช้ต่อในรอบถัดไปได้ด้วยนั่นเองค่ะ
ขั้นตอนของการกระตุ้นไข่นี้ จะใช้เป็นยาฉีด ซึ่งเป็นฮอร์โมนเลียนแบบฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง เมื่อร่างกายได้รับฮอร์โมนนี้ก็จะไปกระตุ้นโดยตรงที่รังไข่ เพื่อให้มีการผลิตฟองไข่มากขึ้น โดยทั่วไปจะฉีดยาประมาณ 8-12 วัน เริ่มตั้งแต่ประจำเดือนมาวันที่ 2-3 ของรอบเดือน
3. อัลตร้าซาวด์ติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่
หลังจากกระตุ้นไข่แล้ว คุณหมอจะนัดอัลตราซาวด์ เพื่อติดตามดูฟองไข่ที่เจริญสมบูรณ์ โดยไข่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี จะต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 18 เซ็นติเมตร หากมีไข่ที่โตตามเกณฑ์ คุณหมอจะเริ่มฉีดยากระตุ้นไข่ตก เพื่อเตรียมพร้อมเก็บไข่
4.เก็บไข่
เมื่อฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 36 ชั่วโมงก็จะทำการเก็บไข่ที่เรากระตุ้นออกมานอกร่างกาย เพื่อนำไปปฏิสนธิกับตัวอสุจิ วิธีการจะต้องใช้เข็มยาวเจาะผ่านทางช่องคลอด แล้วดูดไข่ออกมา โดยมีการอัลตร้าซาวด์เป็นตัวช่วยบอกตำแหน่งของไข่ การทำขั้นตอนนี้ต้องให้ยาสลบเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย ไม่รบกวนในขณะที่เก็บไข่ ใช้เวลาเก็บไข่ประมาณ 30 นาที ผู้ป่วยนอนพัก 1 – 2 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้ เมื่อเก็บไข่ได้แล้ว จะนำไปไว้ในน้ำยาเลี้ยงไข่ เพื่อเตรียมปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิต่อไป โดยจะคัดเลือกเฉพาะไข่สุกเท่านั้น หากไข่ที่เก็บออกมาได้เป็นไข่อ่อน ก็จะไม่สามารถนำไปปฏิสนธิได้ค่ะ
5. เก็บสเปิร์ม
ในวันที่ฝ่ายหญิงเก็บไข่ ฝ่ายชายก็ต้องมาเก็บสเปิร์มด้วย ก่อนถึงวันเก็บสเปิร์ม ฝ่ายสามีควรเตรียมบำรุงสเปิร์มมาแล้วล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนเช่นกันค่ะ
ก่อนการเข้ารับการตรวจเก็บเชื้ออสุจิคควรงดเว้นกิจกรรมทางเพศเป็นอย่างน้อย 3 วันก่อนวันตรวจแต่ไม่เกิน 7 วัน การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการตรวจเก็บเชื้ออสุจิจะส่งผลให้ประมาณของน้ำอสุจิและปริมาณของสเปิร์มลดน้อยลงแต่หากมากกว่า 7 วันจะส่งผลให้เกิดการตายของสเปิร์มที่โตเต็มวัยซึ่งส่งผลต่อผลการวิเคราะห์ได้เช่นกัน
สเปิร์มที่ดีควรมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 15 ล้านตัว/1 ml อัตราการวิ่งไม่ต่ำกว่า 40% และรูปร่างของสเปิร์มที่ปกติควรมากกว่า 4%
6. ปฏิสนธิ
คุณหมอจะทำการปฏิสนธิให้โดยการจับสเปิร์มตัวที่สมบูรณ์ที่สุด เจาะเข้ากับเนื้อไข่โดยตรง เป็นการเพิ่มโอกาสปฏิสนธิ โดยที่สเปิร์มไม่ต้องออกแรงเจาะไข่เอง
7. เลี้ยงตัวอ่อน
การเลี้ยงตัวอ่อน หรือที่เรียกว่า บลาสโตซิสท์ คัลเจอร์ (Blastocyst Culture) เป็นกระบวนการที่ทำหลังจากการเก็บไข่ โดยนำไข่ผสมกับอสุจิและมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น กระบวนการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน ทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งจะต้องมีการควบคุมในห้องปฏิบัติการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในทุกๆ กระบวนการ โดยจะเลี้ยงตัวอ่อนประมาณ 3-5 วัน ซึ่งวันที่ 3 ของการเลี้ยงจะเป็นระยะของการแตกเซลล์ วันที่ 5 จะเป็นระยะบลาสโตซิสท์
ตัวอ่อนเจริญเติบโตสู่ระยะบลาสโตซิสท์ Blastocyst เป็นระยะที่เซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นและมีพัฒนาการถึงการแยกชั้นของกลุ่มเซลล์ เป็นระยะที่พร้อมที่สุดสำหรับการฝังตัวที่มดลูก
8.รายงานผลตัวอ่อน
คุณหมอจะรายงานผลตัวอ่อนให้คุณพ่อคุณแม่ทราบตั้งแต่ Day0 จนถึง Day 5 โดยตามเกณฑ์แล้ว ตัวอ่อนที่พัฒนาไปถึง Day 5 (ระยะบลาสโตซิสต์) จะมีเพียง 50% เท่านั้น
9. ส่งตัวอ่อนคัดโครโมโซม
เมื่อได้ตัวอ่อน Day 5 มาแล้ว แม่ๆ ที่มีอายุเกิน 35 ควรส่งตัวอ่อนคัดโครโมโซมเพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงตัวอ่อนไม่ฝังตัว หรือแท้งในไตรมาสแรก หากตัวอ่อนตัวใดมีความผิดปกติทางโครโมโซม ก็จะไม่ย้ายตัวอ่อนตัวนั้น จะเลือกตัวอ่อนที่มีความปกติดท่านั้นเพื่อทำการย้ายกลับไปฝังในโพรงมดลูก เป็นการเพิ่มโอกาสสำเร็จค่ะ เมื่อตัวอ่อนตัวใดคัดผ่านแล้วก็จะนำไปฟรีซไว้ก่อนค่ะ แล้วมาเตรียมผนังมดลูก
10. เตรียมผนังมดลูก
เมื่อได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์ คัดโครโมโซมผ่านเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมผนังมดลูกเพื่อเตรียมย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปฝังตัว
โดยมดลูกที่พร้อมในการฝังตัวต้องมีลักษณะดังนี้
(1) หนา 8-10 มิลลิเมตร (ไม่ควรหนาเกิน 14 มิลลิเมตร)
(2) เรียง 3 ชั้นสวย ผิวเรียบ เห็นเส้นกลางชัดเจน
(3) ใสเป็นวุ้น (ไม่หนาทึบ)
(4) มีสภาวะอุ่น เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเพียงพอ ไม่มีสารพิษตกค้าง
การเตรียมผนังมดลูก นั้นอยู่ที่ตัวว่าที่คุณแม่เองที่จะต้องดูแลร่างกายให้พร้อม ทานอาหารที่บำรุงผนังมดลูก ซึ่งควรเตรียมตัวมาอย่างน้อยล่วงหน้า 3 เดือนก่อนการเก็บไข่ หลังเก็บไข่แล้วก็ต้องยิ่งบำรุงเพื่อเตรียมผนังมดลูกให้หนาและเป็นไปตามเกณฑ์ก่อนที่จะย้ายตัวอ่อนค่ะ
11. ย้ายตัวอ่อน
เมื่อเตรียมผนังมดลูกพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก โดยคุณหมอจะใช้สายนำตัวอ่อน ค่อยๆ สอดเข้าไปในช่องคลอด และค่อย ๆ นำตัวอ่อนไปฝังบริเวณที่เหมาะสมที่สุดในโพรงมดลูก
12. แช่แข็งตัวอ่อนที่เหลือ
ในกรณีที่แม่ได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์มากกว่า 1 ตัว ตัวอ่อนที่เหลือจะถูกนำไปแช่แข็งไว้ หากแม่ๆ ตัดสินใจอยากมีน้องอีกคนในอนาคต ก็สามารถมากลับมาใส่ตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้ได้อีกค่ะ
13. ตรวจการตั้งครรภ์
หลังจากใส่ตัวอ่อนแล้ว คุณหมอจะนัดตรวจเลือดเพื่อดูฮอร์โมน HCG 14 วันหลังจากใส่ตัวอ่อน หากฮอร์โมน HCG ขึ้นสูงตามเกณฑ์ ก็แสดงว่าตัวอ่อนฝังตัวเรียบร้อย ตั้งครรภ์เรียบร้อยค่ะ
ทั้งนี้ในทุกขั้นตอน คู่สมรสจะได้รับคำปรึกษาอย่างละเอียดจากแพทย์ผู้ดูแล รวมถึงสามารถซักถาม ข้อสงสัย จนเข้าใจได้ค่ะ
อัตราความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI)
สำหรับอัตราความสำเร็จจากการตั้งครรภ์ด้วยวิธีเด็กหลอดแก้วทางการแพทย์คาดเดาไว้ว่า มีความ เป็น ไปได้ ดังนี้ค่ะ
ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วอยู่ที่ 41-43 %
ผู้หญิงอายุ 35-37 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วอยู่ที่ 33-36 %
ผู้หญิงอายุ 38-40 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วอยู่ที่ 23-27 %
ผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วอยู่ที่ 13-18 %
จะเห็นได้ว่า อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์จะลดลงตามอายุของมารดา แต่นอกจากอายุแล้ว
ความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น ประวัติการตั้งครรภ์ สาเหตุ
ของภาวะมีบุตรยาก หรือปัจจัยการดำเนินชีวิตด้วย
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก แพทย์จะย้ายตัวอ่อนพร้อมกันหลายตัวเพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ก็ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดครรภ์แฝดตามมาด้วยนั่นเองค่ะ
ทำเด็กหลอดแก้ว แพงไหม ราคาเท่าไร มีค่าใช้จ่ายยังไงบ้าง?
ราคาการทำเด็กหลอดแก้ว เริ่มต้นที่ 150,000-300,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่มักรวมค่าตรวจประเมินภาวะ มีบุตรยาก การกระตุ้นรังไข่ เก็บไข่ รวมไปถึงการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่เคยฝากไข่มาก่อน อาจเสียแค่ค่าละลายตัวอ่อนและย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกเท่านั้น มีราคาประมาณ 30,000-50,000 บาทค่ะ
ท้ายที่สุด การทำเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI เป็นวิธีที่คู่สมรสหลายคู่เลือกทำ รวมถึงคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การทำ IVF/ICSI เป็นการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากกว่าการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ และการฉีดเชื้อ รวมถึงยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงแท้ง และลดความผิดปกติโครโมโซมของลูกที่เกิดมาได้
ทั้งนี้ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก หรือผู้ที่อยากเข้ารับการทำ IVF ควรมาปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินความเหมาะสมให้เข้ากับคนไข้แต่ละรายนั่นเองค่ะ
Comments