top of page
ค้นหา

7 ข้อที่คุณแม่ต้องรู้ ก่อนไปทำ IUI

คู่สมรสที่กำลังพยายามปั๊มเบบี๋มานานแต่เจ้าตัวน้อยก็ยังไม่มาซักที อาจกำลังมองหาวิธีทางการแพทย์เพื่อช่วยเรื่องการมีลูกยากอยู่ใช่มั้ยล่ะคะ วันนี้ครูก้อยจะมาแนะนำการทำ IUI เบื้องต้นเพื่อให้คุณทั้งสองประเมินและเตรียมตัวบำรุงตัวเองให้พร้อมต่อการตั้งครรภ์


การทำ IUI คืออะไร


IUI ย่อมาจาก Intra Uterine Insemination เป็นวิธีที่ช่วยให้คู่สมรสที่มีภาวะมีลูกยากสามารถตั้งครรภ์ได้โดยการฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก เป็นวิธีย่นระยะเวลาให้อสุจิเจอกับไข่เร็วและตรงจุดขึ้น เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว อสุจิจะออกแรงเข้าไปเจาะไข่และปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อน จากนั้นจะฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูกและเกิดการตั้งครรภ์


วิธีนี้เป็นทางเลือกของผู้มีลูกยากที่ไม่ซับซ้อนเท่ากับการทำ ICSI และ IVF เหมาะกับผู้ที่ต้องการรับบริจาคเชื้ออสุจิ, ผู้ที่มีลูกยากโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูก, อสุจิไม่แข็งแรง, มูกบริเวณช่องคลอดผิดปกติ, การตกไข่มีปัญหา และผู้ที่มีอาการแพ้อสุจิ


แม้ว่าจะตอบโจทย์ใครหลายคนแต่การทำ IUI ไม่เหมาะสำหรับหญิงที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แบบรุนแรง, ผู้หญิงที่ติดเชื้อบริเวณอุ้งกระดูกเชิงกราน, เป็นโรคเกี่ยวกับท่อนำรังไข่ชนิดรุนแรง, ผู้หญิงที่ตัดต่อ หรือผูกท่อนำรังไข่ทั้ง 2 ข้าง รวมถึงผู้ชายที่ผลิตอสุจิไม่ได้


7 ข้อต้องรู้ก่อนไปทำ IUI


1. IUI เป็นการปฏิสนธิแบบธรรมชาติ


IUI ไม่ใช่การปฏิสนธิภายนอกเหมือนการทำเด็กหลอดแก้ว แต่เป็นเพียงการย่นระยะเวลาให้อสุจิเจอกับไข่เร็วขึ้น เพื่อให้อสุจิปฏิสนธิกับไข่กลายเป็นตัวอ่อน และฝังตัวในโพรงมดลูกเพื่อการตั้งครรภ์ ดังนั้นอัตราความสำเร็จจึงพอๆ กับการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ


2. IUI ต้องการไข่ที่มีสภาพสมบูรณ์จากฝ่ายหญิง


สาเหตุส่วนนึงของปัญหามีลูกยากในผู้หญิงหลายๆ คนอาจมาจากไข่ไม่เจริญเติบโตและไม่ตกตามรอบเดือน การทำ IUI จะต้องฉีดกระตุ้นไข่ของฝ่ายหญิงให้เจริญเติบโตและตกตามรอบเดือน หลังจากกระตุ้นให้ไข่ตกแล้ว คุณหมอจะฉีดน้ำเชื้อเข้าไปผสมให้อสุจิไปถึงเป้าหมายได้อย่างตรงจุด อย่างไรก็ตามฝ่ายหญิงจะต้องมีไข่ที่มีคุณภาพด้วย ทางที่ดีคุณแม่ควรเตรียมตัวบำรุงไข่ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้เซลล์ไข่สมบูรณ์ขึ้นและเพิ่มโอกาสปฏิสนธิและตั้งครรภ์


3. IUI ต้องการอสุจิที่แข็งแรงจากฝ่ายชาย


คุณพ่อมือใหม่หลายคนอาจมีปัญหาเชื้อไม่ว่าย หรือมีอสุจิน้อย การทำ IUI จะช่วยอาจแก้ปัญหาตรงนี้ได้เพราะ IUI จะต้องเก็บเชื้ออสุจิของฝ่ายชายออกมาภายนอก และแยกเอาอสุจิที่มีคุณภาพฉีดกลับเข้าไป แต่การแยกเชื้ออสุจินี้เป็นการแยกเบื้องต้น ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเหมือน ICSI หรือเด็กหลอดแก้ว

IUI สามารถแยกได้เพียงแค่เชื้อที่ตายกับเชื้อที่ยังมีชีวิตออกจากกัน แต่เชื้อที่มีชีวิตยังว่ายได้นั้นอาจเป็นมีรูปร่างผิดปกติ, DNA แตกหัก หรือโครโมโซมผิดปกติ ซึ่งการทำ IUI ไม่สามารถตรวจดูปัญหาเหล่านี้ได้


ดังนั้นเมื่อฉีดเข้าไปเชื้อก็ต้องปล่อยให้อสุจิว่ายไปเจาะไข่เองตามธรรมชาติ ทั้งนี้อสุจิอาจเจาะได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของสเปิร์มล้วนๆ ดังนั้นฝ่ายชายจึงต้องดูแลร่างกายก่อนเก็บเชื้อ โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป, ทานอาหารบำรุงสเปิร์ม, งดดื่ม, งดสูบบุหรี่, จะช่วยให้สเปิร์มแข็งแรงขึ้น แต่หากฝ่ายชายเป็นหมัน หรือมีปัญหาไม่หลั่ง อาจต้องใช้วิธี ICSI แทนค่ะ


4. IUI ต้องการมดลูกที่พร้อมต่อการฝังตัว


หนึ่งในปัญหาที่ทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัวที่โพรงมดลูก นั่นคือมดลูกไม่แข็งแรง จนโอบอุ้มตัวอ่อนไม่ได้และการตั้งครรภ์ก็ไม่เกิดขึ้นด้วย ในรอบที่ฉีดเชื้อ คุณหมอจะอัลตราซาวด์ติดตามความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก หากพบว่ามีความหนาไม่เหมาะสม คุณหมอจะหาทางและช่วยแก้ปัญหานี้ โดยการจ่ายยาที่มีส่วนประกอบความฮอร์โมนเสริมเพื่อเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแม่ๆ ควรเตรียมบำรุงครรภ์เพื่อให้ทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเน้นโปรตีนและอาหารฤทธิ์อุ่นเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงมดลูกและทำให้ผนังมดลูกแข็งแรง เป็นการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้นด้วย


5. ข้อจำกัดในการทำ IUI ของฝ่ายหญิง


หากฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่อุดตันทั้ง 2 ข้าง ก็ทำ IUI ไม่ได้นะคะ แต่ทั้งนี้ก็ยังใช้วิธีปฏิสนธิภายนอก หรือทำเด็กหลอดแก้วได้ แต่หากฝ่ายหญิงมีปัญหาผนังมดลูกบางมาก มดลูกไม่แข็งแรง การทำ IUI อาจไม่ประสบความสำเร็จเพราะตัวอ่อนฝังตัวไม่ได้


6. ข้อจำกัดในการทำ IUI ของฝ่ายชาย


หากฝ่ายชายมีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่ง ทำให้หลั่งน้ำอสุจิไม่ได้ หรือไม่มีตัวอสุจิในน้ำเชื้อ (เป็นหมัน) ก็ไม่สามารถทำ IUI ได้ เพราะถ้าไม่มีน้ำเชื้อหรือไม่มีตัวอสุจิเลยก็ไม่เกิดการฝังตัวและท้อง แต่ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการกรีดอัณฑะแล้วเก็บอสุจิออกมาโดยตรง (TESE) และนำไปเข้ากระบวนการทำเด็กหลอดแก้วต่อไป


7. IUI ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป


เมื่อคู่สมรสอายุมากขึ้นก็ส่งผลให้เซลล์ไข่และสเปิร์มด้อยคุณภาพลง การทำ IUI จึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาคุณภาพของเซลล์ไข่และสเปิร์มในระดับรุนแรง ครูก้อยขอแนะนำให้คุณทั้งคู่จูงมือกันไปตรวจเช็กร่างกายและปรึกษาแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยและแนะนำวิธีรักษาภาวะมีลูกยากให้เหมาะสมกับปัญหาของแต่ละคู่ค่ะ

บทความที่น่าสนใจ

ดู 87 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page