ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด อันตรายที่ทำลายโอกาสตั้งครรภ์ของคุณแม่
แม่ ๆ หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่าความยากง่ายในการมีลูกนั้นมีความเกี่ยวข้องกับแบคทีเรียในช่องคลอดด้วยเช่นกัน ว่าแต่จุลินทรีย์เหล่านี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร มีประโยชน์และโทษมากน้อยแค่ไหน หากติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดแล้วจะมีผลต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ มีวิธีรักษาและดูแลน้องสาวไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง วันนี้ครูก้อยจะมาเล่าให้ฟังค่ะ
แบคทีเรียในช่องคลอดมีกี่แบบ อะไรบ้าง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนนะคะว่า แบคทีเรียที่อยู่ในช่องคลอดแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ แบคทีเรียชนิดไม่ดี ได้แก่ เชื้อรา Vulvovginal Candidasis (VYI), เชื้อทริโคโมแนส (Trichomonasis), เชื้อแบคทีเรีย Bacterial Vaginosis ที่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับช่องคลอด หากปล่อยให้ช่องคลอดมีแบคทีเรียชนิดไม่ดีมากเกินไป ทำให้ช่องคลอดเสียสมดุลและเกิดภาวะช่องคลอดอักเสบตามมา (Bacterial Vaginosis) ส่วนแบคทีเรียชนิดดี มีชื่อว่า แลคโตบาซิลไล (Lactobacilli) ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดไม่ดีที่มีอยู่ในช่องคลอดไม่ให้เจริญเติบโตมากเกินไปและป้องกันไม่ให้เยื่อบุช่องคลอดถูกรบกวนโดยแบคทีเรียชนิดไม่ดี ดังนั้นการมีแลคโตบาซิลไลในช่องคลอดในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยรักษาสมดุลภายในช่องคลอดและป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับช่องคลอดได้เป็นอย่างดีค่ะ
ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดมีสาเหตุมาจากอะไร
รับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารดิบ อาหารหมักดอง
ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
ฮอร์โมนเพศหญิงลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ร่างกายผลิตกรดแลคติกไม่เพียงพอและป้องกันจุลินทรีย์ชนิดไม่ดีในช่องคลอดได้ไม่ดีเท่าเมื่อก่อน
นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ติดเชื้อง่าย
ภาวะความเครียดสะสม ทำให้ฮอร์โมนสำคัญอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตโรน (Progesterone) หลั่งผิดปกติและทำให้น้องสาวอักเสบ ส่งผลให้ผนังช่องคลอดแห้งผิดปกติ มีกลิ่นไม่พึงประสงค์
มีเพศสัมพันธ์มากกว่า 1 คู่นอน หรือการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
ละเลยการทำความสะอาดน้องสาวทั้งก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์
การทำความสะอาดน้องสาวผิดวิธี เช่น การสวนล้างช่องคลอด การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่มีความเป็นด่างสูง
รับประทานยาบางชนิดที่มีผลทำให้จุลินทรีย์ชนิดดีในช่องคลอดลดลง เช่น การรักษาโรคด้วยยาปฏิชีวนะ หรือการทานยาคุมกำเนิด
สวมใส่กระโปรง, กางเกงหรือกางเกงชั้นในรัดรูปเป็นประจำ
การใช้ผ้าอนามัยแผ่นเล็กปิดจุดซ่อนเร้น, การใช้ผ้าอนามัยแผ่นเดิมนานถึง 4 ชั่วโมง หรือใช้แผ่นอนามัยที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
อันตรายจากติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
ตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวมีฟอง ตกขาวเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีเขียว
แสบร้อน ระคายเคืองบริเวณช่องคลอด
แสบขัดขณะปัสสาวะ
รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
ช่องคลอดมีกลิ่นไม่พึ่งประสงค์
มีไข้ ไม่สบาย
ใช้ยารักษาเชื้อราในช่องคลอดแต่อาการยังไม่ดีขึ้น
ติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดมีผลต่อการมีลูกอย่างไร
ลดโอกาสตั้งครรภ์ให้น้อยลงจากภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ PID (Pelvic Inflammatory Disease)
เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรและคลอดก่อนกำหนด
เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหลังผ่าตัดมดลูกหรือขูดมดลูก
เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบและเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบหลังคลอด
เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น HIV, ซิฟิลิส, หนองในแท้, หนองในเทียม ฯลฯ
รักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดอย่างไรได้บ้าง
สำหรับภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดนั้นสามารถหายได้เองหากไม่มีอาการป่วยรุนแรงหรือไม่ได้ตั้งครรภ์ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลน้องสาวให้เหมาะสม แต่หากพบอาการที่มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คนไข้จะต้องรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด สำหรับยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษามีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole), ยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) และยาทินิดาโซล (Tinidazole) ทั้งนี้ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงรับประทานยาและควรงดดื่มแอลกอฮอล์หลังจากหยุดทานยาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันผลแทรกซ้อนอย่างอาการปวดศีรษะ มีเหงื่อออกง่าย ไม่สบายท้อง แต่หากเกิดผลแทรกซ้อนขณะรับประทานยา ให้รีบหยุดใช้ยาและพบแพทย์ทันที
ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
ห้ามสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจให้แบคทีเรียภายในช่องคลอดเสียสมดุลและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากต้องทำความสะอาดช่องคลอดจริง ๆ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดเบา ๆ บริเวณภายนอกเท่านั้น
มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ด้วยการมีคู่นอนเพียง 1 คน งดมีเพศสัมพันธ์มากกว่า 1 คู่นอนและงดเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และที่สำคัญควรทำความสะอาดน้องสาวทั้งก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์
ตรวจภายในปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป การตรวจภายในทั้งมดลูก รังไข่ ท่อรังไข่และช่องคลอด จะช่วยให้ทราบว่ามีความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์เพศหญิงทั้งแบบแสดงอาการและไม่แสดงอาการหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับระบบเจริญพันธุ์ที่อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต
เลือกรับประทานอาหารที่มีแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) เป็นโพรไบโอติกส์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย สำหรับอาหารที่อุดมไปด้วยแลคโตบาซิลลัส ได้แก่ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ไวน์ กิมจิ ซุปมิโสะ ถั่วเน่า (นัตโตะ) คีเฟอร์ (Kefir) ชาหมักคอมบูชา เป็นต้น แลคโตบาซิลลัสมีหลายชนิด ได้แก่ Lactobacillus rhamnosus HN001 และ Lactobacillus acidophilus La-14 ช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ชนิดดีในช่องคลอดและปรับค่า pH ในช่องคลอดให้สมดุล, Lactobacillus acidophilus NCFM ช่วยเพิ่มระดับแบคทีเรียชนิดดีและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหาร, Lactobacillus gasseri ช่วยรักษาการเผาผลาญให้กลับมาเป็นปกติ ช่วยให้น้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันภาวะอ้วนที่ทำให้ท้องยาก และ Lactobacillus crispatus ช่วยป้องกันการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดและลำไส้
เลือกรับประทานอาหารที่มีบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) เป็นแบคทีเรียที่ช่วยย่อยอาหาร, ผลิตกรดไขมันสายสั้น และลดอาการอักเสบของร่างกาย สำหรับอาหารที่อุดมไปด้วยบิฟิโดแบคทีเรียม ได้แก่ โยเกิร์ต ผักดอง กิมจิ ถั่วเน่า (นัตโตะ) ขนมปังเปรี้ยว ฯลฯ บิฟิโดแบคทีเรียมมีส่วน บิฟิโดแบคทีเรียมมีหลายชนิด ได้แก่ Bifidobacterium lactis HN019 ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อของร่างกาย, Bifidobacterium longum BB536 ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน, Bifidobacterium breve M-16V ช่วยเพิ่มระดับของบิฟิโดแบคทีเรียมและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และ Bifidobacterium breve B-3 ช่วยลดปริมาณไขมันในร่างกาย ส่งผลให้การทำงานของตับดีขึ้น ค่าเอนไซม์ในตับลดลง โอกาสท้องง่ายมีมากขึ้น
Q&A คำถามที่พบบ่อย
ติดเชื้อในช่องคลอดกี่วันหาย
กรณีที่ไม่มีอาการรุนแรงใด ๆ สามารถหายเองได้ค่ะ แต่หากสาว ๆ หรือคุณแม่เตรียมท้องคนไหนยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อติดเชื้อในช่องคลอด เช่น สวนล้างช่องคลอด มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือกางเกงชั้นในรัดรูปเป็นประจำ อาจเกิดภาวะดังกล่าวซ้ำได้อีกเช่นกัน แต่หากพบภาวะนี้เกิดขึ้นซ้ำเกิน 4 ครั้งภายใน 1 ปี แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไปค่ะ
เป็นเชื้อราในช่องคลอด มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม
แนะนำให้งดมีเพศสัมพันธ์ก่อนจนกว่าจะรักษาให้หายสนิทจะดีกว่าค่ะ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คู่นอนของคุณค่ะ
เป็นเชื้อราในช่องคลอดตอนท้อง ทำอย่างไรดี
หากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์แต่มีภาวะติดเชื้อ ครูก้อยขอบอกข่าวดีไว้ตรงนี้เลยว่าไม่เป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์นะคะ เพียงแต่แนะนำให้รีบรักษาให้หายก่อนคลอดเพื่อความปลอดภัยต่อทารกที่กำลังจะคลอดออกมานั่นเองค่ะ
Comments