📣 ใส่ตัวอ่อนไม่ติดสักที ติดก็แท้ง เช็กด่วนอาจมี "ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก
top of page
ค้นหา

📣 ใส่ตัวอ่อนไม่ติดสักที ติดก็แท้ง เช็กด่วนอาจมี "ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก



แม่ๆหลายคนตรวจพบ #ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก โดยตรวจพบเมื่อได้ทำการตรวจภายในเพื่อเตรียมตัวตั้งครรภ์ หรือ ในกรณีที่มีบุตรยากแพทย์จะอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจเช็คภายในของฝ่ายหญิงก่อนว่ามีปัญหาใดที่จะเป็นอุปสรรคในการฝังตัวของตัวอ่อนหรือไม่



"ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก" เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ตัวอ่อนไม่ฝังตัว หรือ แท้งในระยะเริ่มต้น


เพราะติ่งเนื้อจะขัดขวางการฝังตัวและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนนั่นเองค่ะ



วันนี้ครูก้อยนำบทความเรื่อง "ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก" ของ นพ.ชัยสึก จิวะธนะพร มาฝาก เราไปศึกษาพร้อมกันเลยค่ะ



ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก หรือ ติ่งเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Polyp หรือ Uterine Polyp) เป็นติ่งเนื้อ (Polyps) ที่เจริญงอกออกมาผิดปกติในโพรงมดลูก ลักษณะเป็นติ่งเนื้อ มีสีแดง หรือชมพู ส่วนมากมีขนาดประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร บางครั้งอาจจะมีขนาดใหญ่กว่านี้ได้ และอาจจะมีได้มากกว่า 1 ติ่ง



ติ่งเนื้อในโพรงมดลูกพบได้ประมาณ 10-15% ในสตรีทั่วไป และประมาณ 20-25% ในสตรีที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด พบได้ตลอดทุกช่วงอายุของสตรีวัยเจริญพันธุ์



เนื่องจากติ่งเนื้อนี้อยู่ภายในโพรงมดลูก จึงไม่สามารถพบได้จากการตรวจภายในโดยทั่วไป ยกเว้นว่าติ่งนี้มีขนาดยาวใหญ่จนโผล่พ้นออกมาจากปากมดลูก ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยสามารถคลำได้ก้อนที่ปากมดลูก หรือในช่องคลอด และสามารถตรวจพบได้เมื่อตรวจภายใน



สาเหตุของการเกิดติ่งเนื้อในโพรงมดลูกคืออะไร?



ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่าติ่งเนื้อในโพรงมดลูกเกิดจากอะไร มีทฤษฎีอ้างว่า อาจเกิดจากการที่มีระดับฮอร์โมนเพศเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีการเจริญเติบโตมากขึ้นผิดปกติ จนเกิดเป็นติ่งเนื้อขึ้น



●อาการของติ่งเนื้อในโพรงมดลูกเป็นอย่างไร?



ติ่งเนื้อในโพรงมดลูกส่วนมากจะไม่มีอาการ แต่อาจจะมีอาการดังต่อไปนี้ได้ในผู้ป่วยบางราย



1. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มักเป็นแบบประจำเดือนมากะปริดกะปรอย



2. ประจำเดือนมานานหรือมากผิดปกติ



3. มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน



4. มีเลือดออกทางช่องคลอดขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธุ์



5. มีตกขาวมากผิดปกติ หรือตกขาวปนเลือด หรือเป็นๆหายๆ



ติ่งเนื้อโพรงมดลูกส่วนมากเป็นติ่งเนื้อที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง มักก่อให้เกิดความรำคาญในเรื่องของประจำเดือนที่มาผิดปกติ หรือมีตกขาวเป็นๆหายๆ โอกาสที่จะกลายเป็นมะเร็งน้อยมากๆ พบได้ประมาณ 0.5 %



●การวินิจฉัยติ่งเนื้อในโพรงมดลูกทำอย่างไร?



อาการที่มาพบแพทย์ : มีเลือดออกผิดปกติ หรือมีตกขาวผิดปกติเป็นๆหายๆ บางรายมาตรวจภายในประจำปีก็อาจตรวจพบได้



การตรวจร่างกาย : การตรวจภายในมักจะไม่พบความผิดปกติ ยกเว้นในรายที่ติ่งเนื้อมีขนาดยาวมากจนยื่นออกมาที่ปากมดลูก



การตรวจอัลตราซาวด์ : การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดอาจจะเห็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวผิดปกติ หรือบางครั้งเห็นสามารถเห็นติ่งเนื้อได้ถ้ามีขนาดค่อนข้างใหญ่ การวินิจฉัยที่แม่นยำจะใช้การฉีดน้ำเกลือเข้าในโพรงมดลูก (Saline infusion sonography) จะทำให้เห็นขอบเขต และขนาดของก้อนติ่งเนื้อชัดเจนมากขึ้น



การผ่าตัดส่องกล้องผ่านในโพรงมดลูก : เป็นการสอดกล้องเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อการวินิจฉัยหรือเพื่อการรักษา โดยสามารถจะใช้เครื่องมือตัดก้อนติ่งเนื้อได้ในคราวเดียวกัน



การรักษาติ่งเนื้อในโพรงมดลูกทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง?



กรณีที่ตรวจพบก้อนเนื้อโดยบังเอิญ และไม่มีอาการ ส่วนใหญ่จะใช้การตรวจติดตามเป็นระยะถ้าก้อนไม่โตขึ้น และผู้ป่วยไม่มีอาการเลยก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา



หากมีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือ ในสตรีที่มีบุตรยาก จะแนะนำให้ผ่าตัดติ่งเนื้อนี้ออก อาจจะโดยการขูดมดลูก หรือใช้การผ่าตัดส่องกล้องในโพรงมดลูก



ซึ่งวิธีหลังนี้จะมีข้อดีมากกว่า โดยจะสามารถมองเห็นติ่งเนื้อในโพรงมดลูกได้ชัดเจนและผ่าตัดติ่งเนื้อในโพรงมดลูกได้ตรงจุด โดยไม่ต้องทำลายเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆที่เป็นเนื้อโพรงมดลูกที่ดี



โดยเฉพาะในรายที่มีบุตรยาก จะแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อลดการทำลายเนื้อโพรงมดลูกส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง



.


.



●ติ่งเนื้อในโพรงมดลูกกับภาวะมีบุตรยาก



ติ่งเนื้อในโพรงมดลูกเป็นสาเหตุของการมีบุตรยากที่



พบได้บ่อยพอสมควร เนื่องจากติ่งเนื้อนี้อาจจะขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก และอาจจะมีผลทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรง่ายขึ้น



เพราะติ่งเนื้อนี้มีผลขัดขวางการเจริญเติบโตของตัวอ่อนที่กำลังฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก



และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดการแท้งบุตรได้เพราะอาจส่งผลให้ตัวอ่อนฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกได้ไม่สมบูรณ์



ภายหลังการรักษาผ่าตัดเอาติ่งเนื้อออกแล้ว ผู้ป่วยบางรายยังสามารถที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก แต่โอกาสเกิดซ้ำจะน้อยลงมากเมื่อสตรีนั้นเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนค่ะ



.


.



แม่ๆ ที่พบอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์นะคะ เพื่อจะได้รักษา หรือ ผ่าตัดออกไป เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการฝังตัวของตัวอ่อนต่อไปค่ะ

ดู 6 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page