📣อาการปวดท้องรุนแรงช่วงประจำเดือนมาไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะอาจทำให้ท้องยาก
top of page
ค้นหา

📣อาการปวดท้องรุนแรงช่วงประจำเดือนมาไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะอาจทำให้ท้องยาก


แม่ๆ ที่เมื่อถึงวันนั้นของเดือนแล้วมีอาการปวดท้องรุนแรง อย่านิ่งนอนใจค่ะ เพราะการปวดท้องประจำเดือนเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของมดลูก และมันอาจนำไปสู่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการตั้งครรภ์ได้ค่ะ



ทำไมเราถึงปวดท้องประจำเดือน?



อาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก จากการหลั่งสารที่ชื่อว่า "พรอสตาแกลนดิน" ที่สร้างขึ้นบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน ทำให้เยื่อบุมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน



โดยปกติผู้หญิงจะมีอาการปวดท้องน้อยก่อนประจำเดือนมา 1-2 วัน และมีอาการปวดในช่วงประจำเดือนมาแล้ว 2-3 วันแรก โดยลักษณะเป็นอาการปวดบีบหรือปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ถ้ามีอาการมากอาจปวดร้าวไปหลัง หรืออาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ท้องเสีย ท้องอืด



ปวดท้องประจำเดือนผิดปกติมีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง ?



• เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือ ช็อคโกแลตซีสท์


• เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (Myoma uteri)


• เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis)


• พังผืดในอุ้งเชิงกราน


• การอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน


• ปากมดลูกตีบ


• การตั้งครรภ์นอกมดลูก



ซึ่งสาเหตุข้างต้นอาจนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ยากขึ้น เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ เนื้องอกในมดลูกจะเป็นอุปสรรคในการฝังตัวของตัวอ่อน พังผืดในอุ้งเชิงกราน กรณีนี้พังผืดอาจจะไปพันรัดกับส่วนของอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ทำให้ไปขัดขวางการตกไข่ หรือ รัดท่อนำไข่ทำให้สเปิร์มว่ายมาเจอไข่ไม่ได้



แล้วควรไปพบแพทย์ตอนไหน?



• ปวดประจำเดือนมากรับประทานยาไม่ดีขึ้น หรือปวดมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน


• อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ


• ประจำเดือนมามากกว่าปกติ


• เลือดประจำเดือนมีสีคล้ำผิดปกติ


• ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ


• ปวดท้องน้อยเรื้อรัง แม้ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน


• ปวดท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์มาก


• มีไข้ หนาวสั่น


• ตกขาวผิดปกติ คันช่องคลอด ปัสสาวะขัด


• มีปัญหามีบุตรยาก



แม่ๆ ที่มีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ โดยแพทย์จำทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน และทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมตามสาเหตุที่สงสัย เช่น



• การตรวจอัลตราซาวน์อุ้งเชิงกราน


• การตรวจย้อมสารคัดหลั่งจากปากมดลูกเพื่อดูการอักเสบติดเชื้อ


• ไปจนถึงการส่องกล่องเข้าไปตรวจดูความผิดปกติในอุ้งเชิงกราน



ในกรณีที่การตรวจเบื้องต้นไม่พบความผิดปกติ โดยประโยชน์ของการส่องกล้อง คือสามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคทางนรีเวชต่างๆ เช่น ถุงน้ำรังไข่ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ภาวะพังผืดในอุ้งเชิงกราน รวมถึงสามารถหาสาเหตุภาวะมีบุตรยากได้อีกด้วย


.


.


ปวดท้องเมนส์ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ยิ่งปวดมาก ยิ่งเป็นสัญญาณความผิดปกติ รีบไปพบแพทย์ ทำการรักษาเพื่อเตรียมพร้อมในการตั้งครรภ์ต่อไปนะคะ

ดู 10 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page