มีลูกอายุเท่าไหร่ ลูกฉลาด เป็นเรื่องที่คุณแม่หลาย ๆ คนต้องการทราบ โดยเฉพาะในคุณแม่ที่อายุค่อนข้างมากแล้ว จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีความเป็นห่วงเรื่องพัฒนาการของลูก ในบทความนี้ครูก้อยจึงได้นำผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นนี้มาฝากแม่ ๆ เพื่อไขข้อสงสัยข้อนี้กันค่ะ
มีลูกอายุเท่าไหร่ ลูกฉลาด มีลูกในช่วง 30-39 ปีช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีจริงหรือไม่
ช่วงอายุของผู้หญิงเป็นตัวกำหนดการเจริญพันธุ์ที่สำคัญ เพราะคุณภาพรังไข่ของผู้หญิงจะเสื่อมลง ตามกาลเวลาและช่วงอายุ ข้อมูลวิจัยในทางการแพทย์พบว่า เมื่ออายุผู้หญิงเกิน 35 ปี คุณสมบัติ ของรังไข่ ในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์จะลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเมื่อคุณภาพรังไข่ลดลง คุณภาพของตัวอ่อนที่ได้จากการปฏิสนธิของเซลล์สืบพันธุ์ก็จะลดลงเช่นกันค่ะ
"อายุของแม่" มีผลต่อพัฒนาการของลูกหรือไม่ หากคุณแม่อายุมาก จะทำให้ลูกฉลาดน้อยลงหรือเปล่า?
ในความเป็นจริงแล้ว "อายุของมารดา" นั้น ไม่เชิงว่ามีผลต่อพัฒนาการหรือความฉลาดของลูกโดยตรงค่ะ แต่จะมีผลต่อคุณภาพของไข่ที่อาจเสื่อมลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้นเท่านั้น
ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการจริง ๆ ของลูก ส่วนหนึ่งมาจากร่างกายของเด็กเอง แต่ว่าส่วนที่สำคัญไม่ได้น้อยกว่ากันเลย ก็คือการบำรุงตัวเองในระหว่างคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้รับสารอาหารต่าง ๆ ครบถ้วนหรือเปล่า มีการดูแลฝากครรภ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ถ้ามีความผิดปกติต่าง ๆ ได้แก้ไขและป้องกันก่อนไหม เพราะอาจมีผลกระทบต่อเซลล์สมองและระบบประสาทของลูกได้ค่ะ
แต่หลังจากคลอด การเลี้ยงดูก็เป็นสิ่งสำคัญ และมีผลมาก ๆ เช่น นมที่คุณแม่ให้มีสารอาหารที่เพียงพอหรือไม่ และเหมาะสมตามวัยหรือเปล่า กรณีนี้ก็จะมีผลต่อการพัฒนาของเซลล์สมองของลูกอย่างไม่สิ้นสุด เราถึงเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีการรณรงค์เรื่องคุณภาพของนมที่ให้ลูกได้ทานตั้งแต่ช่วงแรกเกิดว่ามีผลต่อพัฒนาการของเซลล์สมองและเส้นประสาทมากนั่นเอง
หากอายุของคุณแม่ไม่ส่งผลโดยตรง แต่ทำไมถึงควรมีลูกอายุไม่เกิน 35 ปี?
จากที่กล่าวไปค่ะว่ารังไข่อยู่กับผู้หญิงมาตั้งแต่กำเนิด เซลล์สืบพันธุ์ที่จะพัฒนาเป็นเซลล์ไข่จะอยู่ใน รังไข่ของผู้หญิง จนกระทั่งเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช่วงอายุประมาณ 13-14 ปี โดยธรรมชาติจะหลั่งฮอร์โมน มากระตุ้นรังไข่เพื่อให้ไข่เริ่มตก ก็จะเป็นช่วงที่เด็กผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มเจริญเติบโตขึ้นผ่านสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษในชีวิตประจำวัน สัมผัสกับสารเคมีต่าง ๆ หรืออะไรที่เราบริโภคเข้าไปยิ่งนานวันขึ้นตามช่วงอายุ ก็ส่งผลทำให้คุณภาพรังไข่เสื่อมลง แต่จะไม่เหมือนเชื้ออสุจิที่จะสามารถสร้างใหม่ได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นผู้ชายจะอายุเท่าไหร่เชื้ออสุจิก็ยังคงมีคุณภาพดี
แต่สำหรับผู้หญิงข้อจำกัดจะอยู่ตรงช่วงอายุ ถ้าอายุถึง 35 ปี หรืออายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป คุณภาพรังไข่ก็จะเสื่อมลง เมื่อคุณภาพของรังไข่เสื่อมลง เซลล์ไข่ก็จะแย่ลงทำให้ตัวอ่อนไม่มีคุณภาพตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลเสียต่อตัวลูกที่เกิดมา อาจจะทำให้เกิดเป็นดาวน์ซินโดรม หรือโรคทางพันธุกรรมได้สูงขึ้น ดังนั้นการตั้งครรภ์ที่มีผลดีต่อตัวลูกควรตั้งครรภ์อายุไม่เกิน 35 ปี จะทำให้ตัวอ่อนคุณภาพดี ศักยภาพของลูกก็จะดีตามไปด้วย
สรุปแล้ว ตั้งครรภ์ตอนอายุระหว่าง 30-39 ปี ลูกจะฉลาดและมีพัฒนาการที่ดีที่สุด จริงไหม?
ข้อมูลผลวิจัยล่าสุดที่ชี้ชัดแล้วว่า หากอยากมีลูกที่ฉลาดและพัฒนาการดีที่สุด ต้องมีตอนอายุ 30-39 ซึ่งพ่อแม่มือใหม่หลาย ๆ คนก็ต้องการให้ลูกออกมาแข็งแรงและมีพัฒนาการที่ดีทุกคน บทความนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
พ่อแม่มือใหม่หลาย ๆ คนตั้งคำถามว่าควรมีลูกน้อยตอนอายุเท่าไหร่ถึงจะดี ช่วงอายุเลข 2 ดีไหม แล้วเลข 3 จะไหวไหม?
ล่าสุด ผลงานวิจัยจาก London School of Economics ประเทศอังกฤษได้รายงานว่า ทารกที่เกิดมา จากคุณแม่อายุระหว่าง 30-39 ปี จะฉลาดและมีพัฒนาการดีที่สุด เพราะผู้หญิงวัยนี้มีความพร้อมทางด้าน ต่าง ๆ ทั้งการศึกษา รายได้ วุฒิภาวะ และสุขภาพที่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์มากที่สุด
ผลการวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ลงใน Biodemography and Social Biology โดยได้ระบุว่า อายุของแม่มีผลต่อพัฒนาการของลูกที่จะเกิดมา หลังวิเคราะห์ข้อมูลจากทารกจำนวน 18,000 คนพบว่า ทารกที่เกิดมาจากคุณแม่ที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี จะฉลาดกว่าและมีพัฒนาการที่ดีกว่า ส่วนเด็กที่เกิดจากแม่ที่มีอายุ 40 ปีนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคอ้วนได้
ทั้งนี้ งานวิจัยของ Thomas Perls ผอ.สำนักวิจัย New England Centenarian Study (NECS) ประเทศสหรัฐฯ อ้างว่า หากผู้หญิงตั้งครรภ์หลังอายุ 33 ปี จะมีโอกาสอายุยืนยาวกว่าผู้หญิงซึ่งมีลูกคนสุดท้องก่อนอายุ 30 ปี ความต่างของช่วงอายุตรงนี้มีโอกาสเป็นสองเท่าที่จะอายุยืนเกินกว่า 95 ปีได้เลยทีเดียว
นอกจากนี้ผู้วิจัยได้ย้ำว่างานวิจัยนี้ไม่ได้มีเจตนารมณ์ให้ผู้หญิงชะลอเวลาในการมีบุตรออกไปหรือคิดจะมีลูกเมื่อตอนอายุมากขึ้นเพื่อหวังจะให้มีอายุยืนยาว ยิ่งในปัจจุบันคู่สามีภรรยาส่วนใหญ่มีลูกช้าลง เนื่องจากสถานภาพและการศึกษาที่สูงขึ้นมาเป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกในการใช้ชีวิตด้วย
ดังนั้น การมีลูกหลังอายุ 35 ปี จึงถือว่ามีความเสี่ยงต่อความแข็งแรงของลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่ที่มีอายุเพิ่มขึ้นมีความเสี่ยงสูงกว่าปกติที่ลูกจะเกิดมามีความผิดปกติของจำนวนโครโมโซมจนนำไปสู่กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมได้
เนื่องจากในช่วงอายุหลัง 35 ปี รังไข่มีแนวโน้มที่จะเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ อัตราการตกไข่จะต่ำลงและขนาดของไข่จะใบเล็กลงด้วย ในระหว่างที่ไข่เปลี่ยนใบ ผู้หญิงก็จะประสบปัญหาฮอร์โมนแปรปรวน นอกจากนี้จำนวนไข่ก็จะลดน้อยลง ไข่แต่ละใบก็จะมีความแข็งแรงน้อยลงอีกด้วย อาจมีปัญหาการแท้งบุตร เสีย ชีวิตระหว่างคลอดหรือพิการ แม้ว่าวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมากจนผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปีสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยแล้ว แต่การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความปลอดภัยทั้งแม่และลูกที่พร้อมที่จะเกิดมาค่ะ
มีลูกตอนอายุมาก ตั้งครรภ์อย่างไรให้ปลอดภัย
คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลนะคะ ถึงแม้เริ่มตั้งครรภ์ตอนอายุมากแต่ก็สามารถปลอดภัยได้ หากดูแลตัวเองให้
ดีเหมือนกับคุณแม่ตั้งครรภ์ท่านอื่น ๆ ทั่วไป
ควรได้พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ
ประมาณ 8-10 ชั่วโมง และหาเวลาในช่วงบ่ายได้งีบพักอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
ควรหลีกเลี่ยงการทำงานแบบหักโหม
และควรลดจำนวนเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น กาแฟ หรือน้ำอัดลมให้น้อยที่สุด
ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีวิตามินโฟลิก
ซึ่งมีอยู่ในผักใบเขียวทั่วไป เช่น ผักโขม บรอกโคลี ถั่วที่มีสีเขียว รวมถึงเห็ด ตับ ข้าวซ้อมมือ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง นม ไข่ โยเกิร์ต เป็นต้น เพราะจะช่วยในการจัดสร้างโครงสร้างสมองของทารกให้สมบูรณ์ และลดความพิการทางสมองได้ดี
นอกจากนี้ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรระมัดระวังเรื่องการกินยา หรือสารเคมีจาก
การเข้าร้านเสริมสวย เช่น ทำสีผม เนื่องจากช่วงนี้ทารกในครรภ์กำลังมีการเจริญเติบโตทั้งสมองและ
อวัยวะ รวมไปถึงการมีพศสัมพันธ์ ที่สามารถทำได้แต่ควรพ้นช่วง 3 เดือนแรกจะปลอดภัยกว่าค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่กังวลเรื่องที่มีลูกตอนอายุมาก การตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์มีความจำเป็น
และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อคุณแม่และลูกในท้องได้ เนื่องจากพออายุมากขึ้นอาจจะมีโรคอื่น ๆ
ตามมา โดยคนท้องที่อายุมากกว่า 35 ปีจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์สูงกว่าคนทั่วไป 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนท้องที่อายุ 20 ปี หรือน้อยกว่านั้น
ซึ่งหนทางที่ดีคือการควบคุมโรคก่อนการตั้งครรภ์จะช่วยลดโรคแทรกซ้อน หรือเมื่อตั้งครรภ์แล้วควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมและหารือร่วมกันถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อทารก เพื่อความอุ่นใจมากขึ้นค่ะ
Source : MOREMOVE, secretbook
Commentaires