top of page
ค้นหา

ทํากิ๊ฟ กับ หลอดแก้ว ต่างกันยังไง วิธีไหนเหมาะกับใคร?



ทํากิ๊ฟ กับ หลอดแก้ว ต่างกันยังไง อาจเป็นคำถามที่คุณพ่อและคุณแม่หลาย ๆ คนสงสัย เนื่องจากทั้ง 2 วิธีนี้ เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยบุคคลผู้มีภาวะมีบุตรยากให้มีบุตรได้สำเร็จทั้งคู่ แต่ข้อแตกต่างของมันคืออะไรกันแน่? อย่างไรก็ตามค่ะ ในบทความนี้ ครูก้อยได้นำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับทั้ง 2 วิธีนี้รวมถึงข้อแตกต่างระหว่างการทำกิ๊ฟและเด็กหลอดแก้วที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบมาฝากกัน จะมีอะไรบ้างนั้น มาติดตามค่ะ


ทํากิ๊ฟ กับ หลอดแก้ว ต่างกันยังไง แบบไหนเหมาะกับใครบ้าง?


คู่สมรสที่ได้รับการตรวจหาสาเหตุจนครบ และได้รับการรักษาตามสาเหตุ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ โดยกลุ่มที่มีซีสต์ (cyst) หรือเนื้องอก มักได้รับการส่องกล้องผ่าตัด ส่วนกลุ่มที่ไม่ต้องผ่าตัดมักได้รับการรักษาด้วยวิธีคัดเชื้อฉีดเข้าโพรงมดลูก หรือ IUI (intrauterine insemination) คู่สมรสไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งจะสามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ผู้ที่ได้รับการรักษาเต็มที่ 4 - 6 เดือนแล้ว ยังไม่ตั้งครรภ์ อาจต้องได้รับการรักษาด้วยเทคนิคช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology ; ART)


เทคนิค ช่วยการเจริญพันธุ์ที่รู้จักกันดี ได้แก่ กิ๊ฟท์ (GIFT ; gamete intra – fallopian transfer) และเด็กหลอดแก้ว หรือการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF : in vitro fertilization) ทั้ง 2 วิธีนี้ ในระยะเริ่มต้นจะเหมือน ๆ กัน คือเริ่มด้วยการกระตุ้นไข่เพื่อจะได้ไข่หลาย ๆ ใบ แพทย์มักจะให้ยาฮอร์โมนชนิดพ่นจมูก โดยให้เริ่มพ่นตั้งแต่ 7 วันก่อนประจำเดือนจะมา เมื่อประจำเดือนมาแล้ว ในวันที่ 3 จะเริ่มฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่ทุกวัน พอฉีดไป 5 – 6 วัน จะนัดมาตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อดูขนาดและจำนวนของถุงไข่ ส่วนใหญ่ต้องฉีด 8 – 12 วัน แล้วแต่การตอบสนองของแต่ละคน จึงต้องตรวจอัลตราซาวด์ 2 - 3 ครั้ง พอไข่สุกเต็มที่จะฉีดยาฮอร์โมนให้เป็นเข็มสุดท้าย หลังจากนั้น 34 – 36 ชั่วโมง จะนัดมาเจาะเก็บไข่ ก่อนถึงวันเจาะเก็บไข่อาจมีการเจาะเลือดตรวจระดับฮอร์โมน 1 – 2 ครั้ง ในวันเจาะเก็บไข่ ต้องงดน้ำงดอาหารมาประมาณ 8 ชั่วโมง และวันนั้นสามีต้องมาเพื่อเก็บน้ำเชื้ออสุจิด้วย


กิ๊ฟท์และเด็กหลอดแก้วจะแตกต่างกันตรงช่วงนี้....


คือ ถ้าทำกิ๊ฟท์จะเป็นการนำเอาไข่และอสุจิที่เตรียมด้วยน้ำยาแล้ว ใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่ ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องเข้าห้องผ่าตัด ดมยาสลบ และกรีดแผลเล็ก ๆ ที่หน้าท้อง 3 ตำแหน่ง เอากล้องส่องเข้าไปในช่องท้อง แล้วเอาไข่เก็บอสุจิใส่ใน catheter สอดเข้าไปในท่อนำไข่ และฉีดไข่กับอสุจิไว้ตำแหน่งประมาณกึ่งกลางของท่อนำไข่ ผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาล 1 คืน จึงจะกลับบ้านได้


ถ้าเป็นเด็กหลอดแก้ว จะเจาะเก็บไข่ออกมาทางช่องคลอด ผู้ป่วยนอนพัก 1 – 2 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้เลย แพทย์จะนำไข่ที่ได้ใส่รวมกับอสุจิของสามีที่เตรียมด้วยน้ำยาแล้ว นำเข้าไปเลี้ยงใน incubator ซึ่งเป็นตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อน ที่มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส วันรุ่งขึ้นจะนำออกมาตรวจดู หากมีการปฏิสนธิก็เลี้ยงต่อ ประมาณ 3 วัน เมื่อตัวอ่อนอยู่ในระยะ 6 – 8 เซลล์ ก็นำมาใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกผ่านทางช่องคลอด หรือจะเลี้ยง 5 วัน จนตัวอ่อนอยู่ในระยะ blastocyst แล้วค่อยใส่กลับก็ได้ ผู้ป่วยนอนพักประมาณ 2 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้ไม่ต้องนอนในโรงพยาบาล หลังใส่ตัวอ่อนแพทย์จะให้ยาฮอร์โมน อาจเป็นยาฉีดหรือยาสอดช่องคลอด เพื่อให้เยื่อบุโพรงมดลูกเหมาะแก่การฝังตัว หลังใส่ตัวอ่อนประมาณ 12 วัน แพทย์จะนัดมาเจาะเลือดตรวจดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่


ในช่วงแรกของการรักษาด้วยเทคนิคช่วยการเจริญพันธุ์ หรือประมาณสิบกว่าปีก่อน มักนิยมทำกิ๊ฟท์มากกว่าเด็กหลอดแก้ว เพราะอัตราการตั้งครรภ์สูงกว่า (ประมาณ 30% ต่อ 15%) แต่ต่อมาเมื่อห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนและน้ำยาต่าง ๆ มีการพัฒนามากขึ้น อัตราการตั้งครรภ์ของทั้ง 2 วิธีใกล้เคียงกัน คือประมาณ 30 % ต่อรอบการรักษา ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมักทำวิธีเด็กหลอดแก้วเพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการดมยาผ่าตัดเหมือน วิธีกิ๊ฟท์ และไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล ทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลดลง


บทความที่น่าสนใจ


ดู 1,328 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page