หลังจากเก็บไข่จากฝ่ายหญิงและนำอสุจิของฝ่ายชายเข้าไปเจาะเปลือกไข่เพื่อปฏิสนธิแล้วเซลล์จะแบ่งตัวเป็นตัวอ่อนระยะต่าง ๆ ตามจำนวนวันที่เลี้ยงตัวอ่อนในห้องปฏิบัติการ หลังจากนั้นตัวอ่อนจะแบ่งเซลล์จนถึงขนาดที่เหมาะสม สามารถย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกได้ โดยกระบวนการนี้เรียกว่า การเลี้ยงตัวอ่อน วันนี้ครูก้อยจะมาเล่าให้ฟังว่ามีกี่ระยะ แต่ละระยะมีความสำคัญอย่างไรบ้าง
การเลี้ยงตัวอ่อนมีกี่ระยะ อะไรบ้าง
1. Day 1
หรือ ระยะไซโกต (Zygote) เป็นระยะที่ไข่และสเปิร์มผสมกันแล้ว 0-24 ชั่วโมง สังเกตได้จากที่เราเห็น Pronuclei เป็นวงกลมสองวงออกมาจากพ่อและแม่อย่างละ 1 เซลล์ หลังจากสเปิร์มผสมกับไข่ไปแล้วประมาณ 16-18 ชั่วโมง
2. Day 3
ระยะที่ 2 หรือ ระยะคลีเวจ (Cleavage) เป็นระยะหลังไข่กับสเปิร์มผสมกันแล้ว 24 – 72 ชั่วโมง โดยตัวอ่อนจะแบ่งตัวไปเรื่อย ๆ จาก 1 เซลล์เป็น 2 เซลล์ เป็น 4 เซลล์ 6 เซลล์ 8 เซลล์ จนเซลล์มีจำนวนมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะเห็นผ่านกล้องว่ามีการแบ่งตัวจนมีจำนวนมากขึ้น และรวมตัวยึดเกาะกันซึ่งมีชื่อเรียกว่า Compacted Morula ซึ่ง Morula ที่ดีควรประกอบด้วยเซลล์ 16-32 เซลล์ รวมตัวอัดแน่นเป็นก้อนเดียว
3. Day 5
ระยะที่ 3 หรือ ระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) เป็นระยะที่ตัวอ่อนเจริญเติบโตหลังจากทำ ICSI ประมาณ 5-6 วัน โดยตัวอ่อนเหล่านี้เหมาะกับการฝังตัว และมีการแบ่งตัวมาจนมีจำนวน 80-120 เซลล์ ซึ่งตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์นี้จะประกอบด้วยเซลล์อยู่ 2 ชนิด ได้แก่
Inner Cell Mass เป็นเซลล์ที่เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน และฝังตัวบริเวณมดลูก
Trophectoderm เป็นเซลล์ที่เจริญเติบโตเป็นรก และเกาะบริเวณผนังมดลูก
คุณหมอจะใส่ตัวอ่อนระยะไหนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก
โดยทั่วไปการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกของผู้มีบุตรยากจะทำอยู่ 2 ระยะ คือ ระยะคลีเวจ (Cleavage) และระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) โดยระยะคลีเวจเป็นช่วงที่ตัวอ่อนอยู่ในท่อนำไข่ จึงยังไม่พร้อมในการฝังตัว ต้องใช้เวลาในการพัฒนาให้เป็นระยะบลาสโตซิสต์ก่อน จึงจะพร้อมต่อการฝังตัวบริเวณโพรงมดลูก นอกจากนี้ระยะคลีเวจอาจมีโอกาสหยุดการเจริญเติบโตก่อนการฝังตัวอีกด้วย แต่ระยะบลาสโตซิสต์ถือเป็นช่วงคัดเลือกตัวอ่อนตามธรรมชาติ เพื่อให้ได้ตัวอ่อนที่แข็งแรงและเอาชีวิตรอดไปจนถึงโพรงมดลูก ทำให้ระยะบลาสโตซิสต์เหมาะต่อการฝังตัวมากกว่านั่นเอง
แต่ในกรณีที่เลือกตัวอ่อนระยะคลีเวจเพื่อย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกนั้น อาจเกิดจากการที่คุณแม่มีข้อจำกัดเรื่องการเลี้ยงตัวอ่อนนอกร่างกาย หรือตัวอ่อนมีโอกาสพัฒนาไปถึงระยะบลาสโตซิสต์ได้น้อย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงจะพิจารณาให้ใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปในระยะนี้ ถือเป็นทางออกที่ดีกว่าต้องรอไปถึงระยะต่อไปให้ตัวอ่อนมีโอกาสที่จะหยุดการเจริญเติบโตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของตัวอ่อนและข้อจำกัดของแม่ด้วยค่ะ
จำนวนตัวอ่อนที่จะใส่กลับสู่โพรงมดลูก
ขึ้นอยู่กับเกรดของตัวอ่อน และอายุของคุณแม่ก่อนใส่ตัวอ่อน ในกรณีที่คุณแม่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และเกรดของตัวอ่อนดีมาก อาจใส่ตัวอ่อนระยะวันที่ 5 (blastocyst) เพียงตัวเดียว เพื่อลดโอกาสเกิดครรภ์แฝด เนื่องจากการตั้งครรภ์แฝดเป็นครรภ์ที่เสี่ยงต่อคุณแม่และทารกมากกว่าครรภ์เดี่ยว
ส่วนกรณีที่คุณแม่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปและเกรดของตัวอ่อนไม่ดีมาก คุณหมอจะตัดสินใจใส่ตัวอ่อนให้ในวันที่ 2-4 โดยตัวอ่อนที่ใส่เข้าไปต้องไม่เกิน 3 ตัว กรณีที่เลี้ยงตัวอ่อนถึงระยะบลาสโตซิสต์ จะใส่ตัวอ่อนไม่เกิน 2 ตัว ทั้งนี้ก่อนจะย้ายตัวอ่อน คุณหมอจะอธิบายเกี่ยวกับเกรดของตัวอ่อน, จำนวนตัวอ่อนที่มี เพื่อการตัดสินใจร่วมกันกับคู่สมรสถึงจำนวนตัวอ่อนที่จะใส่กลับ รวมถึงโอกาสความสำเร็จและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการย้ายตัวอ่อนและการตั้งครรภ์ด้วยค่ะ
อย่าลืมเตรียมตัวก่อนเข้ากระบวนการเก็บไข่ทำเด็กหลอดแก้วด้วยนะคะ
ครูก้อยแนะนำให้บำรุงไข่ล่วงหน้า 3 เดือนก่อนเก็บไข่เพื่อให้ได้ไข่คุณภาพดี สมบูรณ์ ส่งผลให้ได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์มากขึ้นค่ะ
Comments