ท้องลม เป็นอาการธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคนค่ะ ซึ่งลักษณะอาการก็จะคล้ายๆ ตอนตั้งครรภ์เลยค่ะ คือ คลื่นไส้ มึนหัว อาเจียน เพียงแต่ไม่มีตัวอ่อนอยู่ในมดลูกแล้ว สิ่งที่ยากไปกว่านั้นคือ ยังไม่มีสาเหตุการเกิดภาวะนี้ในหญิงตั้งครรภ์อย่างแน่ชัด แต่ยังพอมีลักษณะอาการให้เราสามารถสังเกตได้บ้าง ซึ่งจะมีสัญญาณอะไรบ้างนั้น ในบทความนี้เรามาดูกันค่ะ
ท้องลม คืออะไร มีสัญญาณอย่างไร มีวิธีป้องกันยังไงบ้าง?
การตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องที่จะจบลงอย่างสมปรารถนาทุกครั้งไป คุณแม่จำนวนไม่น้อยที่การตั้งครรภ์ไม่สมปรารถนาและจบลงเร็วเกินไปแบบไม่ทันตั้งตัวก็มี คุณแม่บางคนคิดว่าตัวเองตั้งครรภ์ พอไปหาหมอตรวจเข้าจริงๆ พบว่าไม่ตั้งครรภ์ก็มี เหตุการณ์เหล่านี้พบได้บ่อยเหมือนกัน ในบทความนี้เราจะมาลองทำความรู้จักกับภาวะนี้กันดูค่ะ ว่ามีสาเหตุ ลักษณะอาการ และแนวทางการป้องกันยังไงบ้าง?
ภาวะท้องลม คือ...
ภาวะท้องลม (Blighted Ovum) คือ การตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวอ่อน หรือตัวอ่อนสลายไปตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการตั้งครรภ์ เมื่อตรวจอัลตราซาวด์จะพบว่ามีเพียงถุงการตั้งครรภ์แต่ไม่พบตัวอ่อน อาการดังกล่าวจะไม่เป็นอันตราย หากได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง
ภาวะดังกล่าว สามารถเกิดได้กับผู้หญิงได้ในทุกช่วงอายุ และไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นความผิดปกติทางธรรมชาติ และยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น
ภาวะ ท้อง ลม เกิดจากอะไร?
สาเหตุของการเกิดภาวะท้องลมนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัดค่ะ แต่พบว่าส่วนใหญ่ประมาณ 45 – 50% เกิดจากตัวอ่อนมีความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้ไม่สามารถเจริญต่อเป็นทารกได้ตามปกติ และสลายตัวไป คงเหลือแต่ถุงการตั้งครรภ์
ซึ่งกระบวนการการแท้งนั้น จะเกิดขึ้นในระหว่าง 7-12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ โดยเมื่อร่างกายของคุณแม่นั้นรับทราบถึงอาการปกติของการตั้งครรภ์และไม่มีการพัฒนาอย่างเหมาะสม ก็จะเริ่มขับเลือดและเนื้อเยื่อออกจากมดลูก เรียกว่า การตกเลือด ซึ่งผู้ตั้งครรภ์ต้องพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยสาเหตุของการตกเลือดต่อไปค่ะ
ลักษณะอาการของภาวะนี้ ประกอบด้วย...
อาการของคนที่เป็นท้องลมนั้น เหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไป เนื่องจากรกมีการสร้างฮอร์โมน HCG เหมือนกับคนท้องปกติ เพียงแต่ระดับจะต่ำกว่าปกติ จึงทำให้คนท้องลมบางคนไม่ค่อยมีอาการแพ้ท้อง หรือมีอาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากคนปกติ อย่างไรก็ตามท้องลมบางคนมีอาการแบบคนท้องปกติได้เช่นเดียวกัน เช่นขาดประจำเดือน คัดเต้านม คลื่นไส้ เพียงแต่อาการมักจะน้อยกว่าคนปกติ เนื่องจากระดับของฮอร์โมน HCG ที่ต่ำกว่าปกติ
การวินิจฉัยจากทางแพทย์
การวินิจฉัยนั้น ทำได้โดยการตรวจอัลตราซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ 6-7 สัปดาห์ขึ้นไป เห็นว่ามีถุงการตั้งครรภ์ในมดลูก และวัดขนาดของถุงการตั้งครรภ์แล้วมีขนาดที่ใหญ่เกินกว่า 17-20 mm แต่ยังไม่พบว่ามีตัวเด็กทารก ถ้ายังไม่มั่นใจ ควรนัดตรวจติดตามภายใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากทารกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้รวดเร็ว ดังนั้นเมื่อมีการนัดตรวจซ้ำภายในหนึ่งสัปดาห์ เราควรจะเห็นการเจริญเติบโตของทารก และเห็นการเต้นของหัวใจ ถ้าตรวจซ้ำแล้วยังเห็นแต่ถุงที่มีขนาดที่โตขึ้น แต่ไม่เห็นตัวเด็ก แสดงว่าเป็นภาะวะท้องลมอย่างแน่นอน
แนวทางการรักษาและป้องกันภาวะ ท้อง ลม
สำหรับการป้องกันภาวะนี้ หากเป็นอาการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติก็ยังไม่มีแนวทางใดที่สามารถป้องกันได้อย่างชัดเจนค่ะ ซึ่งแพทย์บางท่านอาจแนะนำให้คุณแม่เข้ารับการขูดไข่ฝ่อในมดลูกออก เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นไปได้ในการทำให้เกิดการแท้งตัวอ่อน
ทั้งนี้ ในการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ก็ยังไม่มีหนทางใดที่รับประกันได้ว่าจะป้องกันไม่ให้คุณแม่กลับมามีภาวะนี้ซ้ำค่ะ ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือ ต้องคอยรับประทานอาหารที่ทีคุณประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ และ ออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของร่างกายอยู่เสมอ เพื่อเป็นด่านแรกของการป้องกันภาวะโรคต่างๆ ค่ะ
ท้อง ลม เป็นแล้ว กลับมาเป็นซ้ำได้ไหม?
โอกาสในการเกิดซ้ำของท้องลมน้ันยังคงขึ้นกับอายุของฝ่ายหญิง โดยเมื่อเกิดในท้องแรก ท้องที่สองยังคงมีความเสี่ยงตามอายุเหมือนเดิม แต่เมื่อเกิดท้องลมถึงสองครั้ง ความเสี่ยงครั้งที่สามนั้นจะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก เนื่องจากอาจจะไม่ได้เกิดจากไข่ที่ผิดปกติตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว อาจจะพบว่าคู่สมรสคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมนั้นๆ ให้กับตัวอ่อน
ท้ายที่สุด แม้ว่าภาวะนี้จะเป็นภาวะที่ผู้หญิงทุกวัย มีโอกาสที่จะพบภาวะนี้ได้ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ทางพันธุกรรมของตัวคุณผู้หญิงเอง โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุและประวัติการตั้งครรภ์ในอดีต แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือการฝากครรภ์และรับการตรวจครรภ์จากแพทย์อยู่เสมอเพื่อให้รู้เท่าทันความผิดปกติต่างๆ ของร่างกายของคุณแม่
เพราะแน่นอนที่ว่า คงไม่มีคุณแม่ท่านใดที่อยากเกิดภาวะนี้หรือการแท้งซ้ำซ้อน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียขึ้น หรือเกิดการสูญเสียขึ้นอีกครั้ง ควรเข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไว้ก่อนดีกว่าค่ะ
Comments