หลังจากตั้งครรภ์เรียบร้อยแล้ว คุณแม่หลายคนจะต้องเตรียมความพร้อมในการดูแลตัวเองเป็นอย่างมาก เพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงให้ได้มากที่สุด แต่ในระหว่างนั้นคุณแม่เองจะต้องปรับตัวในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การออกกำลังกายที่เหมาะสม การพักผ่อนที่เพียงพอ รวมถึงการจัดการภาวะความเครียดระหว่างตั้งครรภ์ด้วยนะคะ นอกจากนี้ยังต้องรับมือกับอาการแพ้ท้องในรูปแบบต่าง ๆ คุณแม่หลายคนโชคดีที่แทบไม่มีอาการแพ้ท้องใด ๆ เลย แต่คุณแม่อีกหลายคนกลับแพ้ท้องหนักมาก ว่าแต่อาการเหล่านี้เกิดจากอะไร เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์มั้ย แล้วมีวิธีรับมือได้อย่างไรบ้าง วันนี้ครูก้อยจะมาเล่าให้ฟังค่ะ
อาการแพ้ท้องหนักคืออะไร
เป็นอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาการแพ้ท้องสามารถเกิดขึ้นได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน โดยแต่ละคนจะมีอาการแพ้ในระดับที่แตกต่างกัน บางคนอาจแพ้ท้องหนักมาก แต่บางคนกลับไม่มีอาการแพ้ท้องแม้แต่น้อย ส่วนช่วงเวลาแพ้ท้องส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นตอนเช้า หรือหลังตื่นนอน แต่บางคนก็มีอาการเฉพาะตอนกลางวัน หรือกลางคืนเท่านั้น สำหรับระดับความรุนแรงของอาการจะเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12-14 ของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องหนักมากแต่ละเลยการดูแลตัวเอง ไม่ยอมเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพคุณแม่ได้ค่ะ
อาการแพ้ท้องมีอะไรบ้าง
คลื่นไส้อาเจียน ยิ่งถ้าคุณแม่ไม่ยอมทานอะไรเลย ยิ่งอาเจียนหนักกว่าเดิม
ไวต่อกลิ่น เนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติไม่คงที่ จากกลิ่นที่ชอบกลับกลายเป็นไม่ชอบ
อ่อนเพลียง่าย อยากนอนตลอดเวลา เนื่องจากฮอรโมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว อีกทั้งระบบเผาผลาญทำงานได้ดีขึ้นเนื่องจากจะต้องส่งสารอาหารไปให้เจ้าตัวน้อย ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียง่ายขึ้น
อารมณ์แปรปรวนง่าย อาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
อาการแพ้ท้องมีกี่ระดับ อะไรบ้าง
ในปัจจุบันมีการตรวจพบระดับความรุนแรงของอาการแพ้ท้องทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่
1.แพ้ท้องระดับเล็กน้อย
ลักษณะอาการของอาการประเภทนี้จะมีเพียงอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะเล็กน้อย ยังคงรับประทานอาหารได้แต่ทานน้อยลง กรณีนี้สามารถดูแลตัวเองได้อยู่เพียงแค่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคุณพ่อทั้งด้านร่างกายและจิตใจบ้างในบางครั้ง
2.แพ้ท้องระดับปานกลาง
ลักษณะอาการของอาการประเภทนี้จะมีคลื่นไส้อาเจียนเป็นครั้งคราว ยังคงรับประทานอาหารได้บ้าง ไม่ได้บ้างเป็นบางช่วง สีปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม เนื่องจากการอาเจียนส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ ในกรณีนี้ ครูก้อยแนะนำให้ปรับวิธีการรับประทานทานอาหาร หากอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรับน้ำเกลือ หรือกลูโคส จากนั้นค่อยทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำตามแพทย์สั่ง
3.แพ้ท้องหนักมาก
สำหรับอาการแพ้ท้องระดับนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมากนะคะ เพราะคุณแม่บางคนอาจรับประทานอาหารไม่ได้เลย แถมยังคลื่นไส้อาเจียนหนักมาก ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำและอาหาร จนน้ำหนักลดลง อาจทำให้ร่างกายทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตต่ำเวลายืน บางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นหลอดอาหารทะลุ หรือจอตาอักเสบ หากคุณแม่ท่านไหนประสบกับอาการนี้อยู่ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดค่ะ
สาเหตุของอาการแพ้ท้อง
1.ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
แม้ว่าอาการแพ้ท้องจะไม่ได้มีสาเหตุตายตัว แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมน HCG (Human chorionic gonadotropin) เพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการสร้างรก นอกจากนี้ยังเกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มสูงขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้กล้ามเนื้อของระบบทางเดินอาหารคลายตัวและเกิดกรดไหลย้อนบ่อยขึ้น เมื่อน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร อาจเกิดอาการท้องอืด จนทำให้คลื่นไส้อาเจียนหลังรับประทานอาหารได้ด้วยค่ะ
2.ความเครียดสะสมของคุณแม่
ความเครียดถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายเลยนะคะ แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับแม่ ๆ หลายคน เนื่องจากช่วงระหว่างตั้งครรภ์เป็นช่วงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น คลื่นไส้อาเจียนจากอาการแพ้ท้อง ทานข้าวได้น้อยลง ลุกมาปัสสาวะตอนกลางคืนอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมนที่ทำให้อารมณ์อ่อนไหวง่ายยิ่งขึ้น โดยความกังวลส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความสามารถในการดูแลลูกน้อยในครรภ์ได้ดีหรือไม่? คลอดออกมาแล้วจะแข็งแรงครบ 32 ประการหรือเปล่า? จริงอยู่ที่อาการแพ้ท้องจะเกิดขึ้นได้กับแม่ ๆ ทุกคน แต่หากคุณแม่คนไหนมีภาวะความเครียดสะสมมากหน่อย อาจทำให้อาการแพ้ท้องรุนแรงยิ่งขึ้นด้วยนะคะ นอกจากนี้ความเครียดยังส่งผลร้ายต่อลูกน้อยด้วยนะคะ เมื่อคุณแม่เครียดมาก ๆ จะทำให้ประสิทธิภาพของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้น้อยลง สารอาหารที่ส่งไปเลี้ยงลูกน้อยจึงมีไม่พอ ส่งผลให้ต่อพัฒนาการของลูกน้อย ทำให้การเจริญเติบโตช้ากว่าที่ควรและเพิ่มโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้ด้วยค่ะ
3.ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ
พันธุกรรม หากคนในครอบครัวของคุณแม่มีประวัติคลื่นไส้อาเจียนอย่างหนักระหว่างตั้งครรภ์ อาจเพิ่มโอกาสที่คุณแม่จะแพ้ท้องแบบเดียวกันด้วยค่ะ
กรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นทารกแฝด หรือมากกว่า 1 คน และเคยมีอาการแพ้ท้องจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน อาจเพิ่มโอกาสในการแพ้ท้องครั้งต่อไปมากขึ้น
การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงมากเกินไปขณะตั้งครรภ์ เช่น งานบ้าน เดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ เป็นต้น
ผู้ที่มีอาการปวดไมเกรน เมารถจนคลื่นไส้อาเจียน หรือทานยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจนก่อนตั้งครรภ์
ความอยากอาหาร โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เมื่อกลิ่นและรสของอาหารเปลี่ยนไป ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้องได้ง่ายขึ้น
หากมีอาการแพ้ท้องหนักมากจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่
แม้ว่าอาการแพ้ท้องหนักมากจะไม่ได้เป็นอันตรายต่อลูกน้อย แต่หากคุณแม่อาการรุนแรงมากจนถึงขั้นน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้ลูกน้อยที่คลอดออกมามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้ค่ะ
จะหายจากอาการแพ้ท้องเมื่อไหร่
โดยทั่วไปอาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ ทุเลาและหายไปเองได้ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 3 เดือน แต่หากคุณแม่คนไหนมีอาการแพ้ท้องไปเรื่อย ๆ หรือมีอาการรุนแรงขึ้นหลังจากนี้ ครูก้อยขอให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการและรักษาโดยเร็วที่สุดค่ะ
วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้อง
เปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหาร หากคุณแม่ทานอาหารแล้วอาเจียนทุกครั้ง อาจทำให้รู้สึกไม่อยากทานอีกต่อไป ครูก้อยขอแนะนำให้ทานน้อยลง แต่ทานบ่อยขึ้นจะดีกว่าค่ะ เพราะถ้าคุณแม่ไม่ทานอะไรเลย อาจทำให้ร่างกายมีปัญหาตามมาและส่งผลเสียต่อลูกน้อยด้วยนะคะ ทั้งนี้อาจแบ่งเป็น 5-6 มื้อต่อวัน เน้นไปที่อาหารที่มีประโยชน์ต่อคนท้องโดยเฉพาะจะดีที่สุดค่ะ โดยเฉพาะอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงและไขมันต่ำ เนื้อสัตว์ไม่มีไขมัน
ดื่มน้ำให้เพียงต่อความต้องการของคนท้อง วันละ 8-10 แก้ว (ประมาณ 2-2.5 ลิตร) โดยนับรวมกับน้ำดื่มประเภทอื่นที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มด้วยนะคะ อย่างเช่น น้ำเต้าหู้ น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำใบเตย น้ำมะพร้าว เป็นต้น ทั้งนี้หากคุณแม่ต้องการให้ร่างกายสดชื่นก็สามารถดื่มน้ำเย็นได้เช่นกัน ไม่ได้เป็นข้อห้ามทางการแพทย์แต่อย่างใดค่ะ
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ผ่อนคลายตัวเองไม่ให้เครียดด้วยการอ่านหนังสือ นั่งสมาธิ ฟังเพลง หากมีความเครียดเกี่ยวกับลูกน้อยในครรภ์ก็ควรพูดคุยหรือปรับทุกข์กับสามีและคนในครอบครัว เพื่อลดภาวะความเครียดและเสริมทัศนคติที่ดีให้แก่ตัวเอง เพราะถ้าคุณแม่มีสุขภาพจิตที่ดี ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ที่ดีขึ้นด้วยนะคะ
ท้ายที่สุดนี้อาการแพ้ท้องถือเป็นสัญญาณเตือนที่ดีว่าลูกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการที่ดี นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงต่อการแท้งลูกอีกด้วย และต่อให้อาการดังกล่าวจะหายไปเองตามช่วงอายุครรภ์แล้วก็ตาม แต่คุณแม่ก็ควรดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอนะคะ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกน้อยเจริญเติบโตในครรภ์มารดาได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลกนั้นมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ครบ 32 ประการ ตามที่คุณแม่คาดหวังไว้ด้วยค่ะ
Comments