ซึมเศร้าหลังคลอด เกิดจากอะไร แก้ไขยังไงได้บ้าง?
top of page
ค้นหา

ซึมเศร้าหลังคลอด เกิดจากอะไร แก้ไขยังไงได้บ้าง?



คุณแม่หลาย ๆ คนอาจไม่เคยได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับภาวะนี้มาก่อน เพราะไม่คิดว่าการมีลูกนั้นจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณแม่หลังคลอดเกิดภาวะที่ทำให้เศร้าใจได้ ซึ่งครูก้อยต้องบอกก่อนเลยค่ะว่า จริงอยู่ที่แม่ ๆ หลายคนมีความสุขกับการมีเจ้าตัวน้อยให้คอยรักและดูแล แต่สำหรับคุณแม่บางท่านนั้นไม่ได้เป็นเช่นนั้นค่ะ ซึ่งการเกิดภาวะซึมเศร้าเช่นนี้เกิดจากอะไร แล้วจะรับมือยังไงบ้าง ครูก้อยมีคำตอบค่ะ


ซึมเศร้าหลังคลอด เกิดจากอะไร สามารถรับมือยังไงได้บ้าง?


ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Maternity Blue) เกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังคลอด ทำให้คุณแม่มีอาการซึมเศร้า เสียใจ หดหู่โดยไม่มีสาเหตุ ซึ่ง 1 ใน 6 ของคุณแม่หลังคลอด มักต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้านี้ค่ะ


ลักษณะอาการของภาวะซึมเศร้าของแม่หลังคลอด


ลักษณะอาการของคุณแม่หลังคลอดที่มีภาวะซึมเศร้านั้นสามารถแสดงออกมาได้หลายอาการค่ะ เช่น

  • กังวลว่าจะไม่สามารถเลี้ยงดูตนเองและลูกได้

  • ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล

  • ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับลูก

  • มีความรู้สึกเหนื่อยหน่าย หมดความสนใจในงานหรือกิจกรรมที่ทำ

  • อาการอื่น ๆ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ไม่ได้


ควรรับมืออย่างไรดี?


สำหรับการรับมือเบื้องต้นไม่ยากค่ะ คุณพ่อและคุณแม่สามารถทำตามคำแนะนำได้ ดังนี้

  • การทานอาหารที่มีประโยชน์

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

  • ให้คุณพ่อ/คนใกล้ชิดช่วยดูแลลูก

  • ระบายความรู้สึกให้คนใกล้ชิดฟัง

  • ปรึกษาแพทย์

แนวทางการรักษา


ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไม่ใช่ความรู้สึกอ่อนแอเท่านั้น แต่เป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ ดังนั้น คุณแม่ควรบอกปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดอย่างตรงไปตรงมา และซื่อตรงกับตัวเอง เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมค่ะ


การรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะคล้ายกับการรักษาโรคซึมเศร้า คือ


การทำจิตบำบัด


เป็นการรักษาด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการรับมือกับปัญหาว่าควรทำอย่างไรต่อไปบ้าง


การใช้ยาต้านซึมเศร้า


โดยยาที่ใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้าอาจปนเปื้อนในน้ำนมได้ แต่ก็มียาบางชนิดที่ส่งผลข้างเคียงกับทารกได้น้อย โดยผู้ป่วยและแพทย์จะต้องปรึกษากันถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจได้รับจากการรักษาด้วยยาต้านเศร้าแต่ละชนิด


อย่างไรก็ดี แม้การเป็นแม่คนจะทำให้ผู้หญิงหลาย ๆ คนรู้สึกอิ่มเอมใจและมีความสุขกับการให้กำเนิดคนคนหนึ่งให้มีชีวิตขึ้นมา แต่ก็ดันสร้างความเศร้าในใจให้คุณแม่อีกหลาย ๆ คนอยู่ ซึ่งอาการนี้แม้จะเป็นปัญหาสุขภาพจิต แต่ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยให้เป็นไปนาน ๆ นะคะ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ ดังนั้น หากคุณแม่เริ่มรู้สึกดาวน์ หรืออยู่ ๆ ก็เกิดอาการเศร้าใจ ควรรีบปรึกษาคนใกล้ชิดหรือแพทย์นะคะ เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยเองด้วยค่ะ


บทความที่น่าสนใจ




ดู 46 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page