แม่ๆ ที่เข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว เมื่อมาถึงขั้นตอน "การเก็บไข่" ก็ต้องมาลุ้นกันค่ะว่าจะได้ไข่กี่ใบ ก่อนการเก็บไข่ แม่ๆ ผ่านขั้นตอน "การฉีดกระตุ้นไข่" มาแล้ว หลังจากนั้นก็มีการติดตามผลจากการฉีดกระตุ้นไข่ แพทย์อัลตร้าซาวด์นับฟองไข่และเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าฮอร์โมนเอสตราไดออล (E2) ร่วมด้วย เพื่อใช้ร่วมกันประเมินตำนวนฟองไข่ของแม่ๆ แต่จะเก็บได้กี่ฟองต้องลุ้นกันในวันจริงค่ะ
วันเก็บไข่หมอจะแจ้งว่าเก็บได้กี่ใบ....ซึ่งยิ่งได้จำนวนมากเท่าไหร่ เท่ากับว่าเราได้ลุ้นจำนวนตัวอ่อนมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งได้ตัวอ่อนมากก็เป็นการเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตามไข่ที่เก็บออกมานั้นไม่ได้หมายความว่าใช้ปฏิสนธิได้ทุกใบนะคะ เรามาดูกันค่ะว่าไข่แบบไหนใช้ได้ ไข่แบบไหนคือเสียเปล่า
จากรูปเซลล์ไข่ของครูก้อยเองค่ะ ครูก้อยเก็บไข่เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 เก็บไข่ได้ทั้งหมด 17 ใบค่ะ แต่จะมีไข่ที่ใช้ได้กี่ใบไปดูกันค่ะ
แม่ๆ ดูที่ลูกศรสีแดงที่ชี้ตรงจุดเล็กๆ ที่ยื่นออกมาจากเซลล์ไข่ เห็นมั้ยค่ะ สิ่งนี้เรียกว่า Polar Body (PB) ค่ะ
Polar Body คืออะไร?
Polar Body คือจุดเล็กๆ ที่อยู่บนเซลล์ไข่ จริงๆแล้วมันคือเซลล์เล็กๆ ที่ฟอร์มตัวขึ้นมาตั้งแต่กระบวนการสร้างเซลล์ไข่ (oogenesis)
Polar Body ตัวนี้เป็นตัวที่บอกว่า..ไข่ใบนั้นสุกแล้ว ถ้าไข่อ่อนจะไม่มีจุดเล็กๆ จุดนี้ค่ะ นั่นก็คือไข่อ่อนจะไม่สามารถนำมาปฏิสนธิได้
ดังนั้นไข่ที่เก็บออกมาจะใช้ได้กี่ใบต้องมาดูว่าใบไหนเป็น"ไข่สุก" ใบไหนเป็น "ไข่อ่อน" นั้นเองค่ะโดยสังเกตจากเจ้า PB นี่แหละ นอกจากนี้อาจมีความผิดปกติอย่างอื่นอีกที่ใช้ไม่ได้เช่น มี PB 2 จุดในไข่ใบเดียว แบบนี้ก็ใช้ไม่ได้ค่ะ
.
●ยกตัวอย่างเคสของครูก้อย
ครูก้อยเข้าสู่กระบวนการทำ ICSI เพื่อเบบี๋คนที่สอง
เก็บไข่ได้ 17 ใบ
ไข่สุก 13 ใบ
ไข่อ่อน 2 ใบ
ไข่มีรูปร่างต่างจากไข่ที่ปกติ มี 2PB (คือมี 2 Polar Body) 2 ใบ
หลังจากนั้นก็จะนำไข่สุก 13 ใบนี้ไปปฏิสนธิกับสเปิร์มต่อไปค่ะ ซึ่งแม่ๆ ก็ต้องลุ้นกันต่อว่าจะปฏิสนธิกี่ใบ ได้ตัวอ่อนกี่ตัวนั่นเองค่ะ
.
.
อย่าลืมนะคะ จำนวนไข่ที่มาก ไม่สำคัญเท่าคุณภาพของเซลล์ไข่ ครูก้อยจึงเน้นย้ำเรื่องการบำรุงไข่ให้สมบูรณ์ก่อนเข้ากระบวนการทางการแพทย์ บำรุงไปดี นำ "วัตถุดิบตั้งต้น" ที่ดีไปให้คุณหมอ ไม่ต้องใช้ดวง แต่ใช้ความพยาม อดทน มีวินัยตั้งใจของแม่ๆเองนี่แหละค่ะ และผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นไปสมดังใจหวังค่ะ
Comments