ร่างกาย ปกติ แต่ ไม่ท้อง เป็นเรื่องแปลกที่คุณแม่หลาย ๆ คนกำลังพบเจอ เพราะปกติแล้ว ผู้ที่มีบุตรยากมักประสบปัญหาความผิดปกติทางร่างกายบางอย่าง จึงทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้ตามวิธีแบบธรรมชาติ แต่ในกรณีนี้มักเป็นในรูปแบบของร่างกายทั้งฝ่ายชายและหญิงมีความปกติทุกอย่าง แต่ก็มีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติไม่สำเร็จสักที ในบทความนี้ครูก้อยจึงหาข้อมูลมาเพื่อไขข้อสงสัยในประเด็นนี้กันค่ะ
ร่างกาย ปกติ แต่ ไม่ท้อง เป็นเพราะอะไร ต้องแก้ไขด้วยวิธีไหนจึงจะตั้งครรภ์ได้?
ปัญหาการมีลูกยากเป็นหนึ่งในปัญหาที่คู่รักหลายคู่หนักใจ เพราะพยายามเท่าไรก็ไม่สำเร็จสักที ซึ่งมักมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ร่างกายของเราจะไม่มีอะไรผิดปกติก็ตาม ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ อาจมาจากคุณภาพไข่ของคุณแม่ หรือพฤติกรรมบางอย่างของคุณพ่อและคุณแม่ที่ส่งผลให้มีบุตรยาก
ในบทความนี้ครูก้อยจึงจะมาชี้แจงถึงปัจจัยดังกล่าวให้ได้ทราบกันค่ะ
ร่างกายปกติดี แต่ไม่ท้องสักที เกิดจากอะไรได้บ้าง?
จากที่ได้กล่าวไปว่า แม้ร่างกายจะปกติก็จริง แต่ก็อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลกระทบร่วมด้วย บรรดาแม่ ๆ จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ครูก้อยแบ่งปัจจัยได้เป็น 2 อย่างหลัก ๆ ด้วยกัน ดังนี้ค่ะ
1.ปัจจัยที่มาจากคุณภาพของไข่ทางฝ่ายหญิง
แม่ ๆ รู้ไหมคะว่า ผู้หญิงเราเกิดมาพร้อมเซลล์ไข่เล็ก ๆ ที่ยังไม่โตอยู่ในรังไข่เรามากกว่าล้านใบ ซึ่งมันจะโต สุกตามเกณฑ์และตกลงมาตามรอบเดือนแค่เดือนละ 1 ใบเท่านั้น
หากร่างกายเราสมบูรณ์ปกติ ฮอร์โมนสมดุล รอบเดือนปกติที่ 28 วัน ไข่จะตกใน Day 14 ของรอบเดือนค่ะ เมื่อไข่ตกลงมาแล้ว จะอยู่ได้แค่ 24 ชม. หากไม่ได้รับการปฏิสนธิก็จะฝ่อสลายไป โอกาสท้องในรอบนั้นก็หมดไปหากคุณทำการบ้านไม่ตรงช่วงวันตกไข่
อย่างไรก็ตาม หากไข่ตกและทำการบ้านตรงวัน แต่ก็ยังไม่ท้อง ต้องมาพิจารณาหาสาเหตุกันค่ะ
ซึ่งครูก้อยสรุปสาเหตุหลักที่กระทบต่อการตกไข่และคุณภาพของเซลล์ไข่มาให้ 5 ข้อ ดังนี้ค่ะ
"อายุมาก" ความผิดปกติทางโครโมโซมของเซลล์ไข่สูงขึ้น
อายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่ออัตราความผิดปกติทางโครโมโซมของเซลล์ไข่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติจะส่งผลต่ออัตราการปฏิสนธิที่ต่ำลง ดังนั้นถึงแม้จะมีไข่ตกลงมาแต่เป็นไข่ที่มีความผิดปกติทางโครโมโซมก็ไม่อาจปฏิสนธิได้ นอกจากนี้ หากเกิดการปฏิสนธิแต่ก็จะแบ่งตัวไม่สมบูรณ์ ตัวอ่อนไม่พัฒนา หรือ แท้งในระยะเริ่มต้นได้
ท่อนำไข่อุดตัน
สาเหตุนี้อาจไม่เกี่ยวข้องกับคุณภาพของเซลล์ไข่ค่ะ ไข่ของแม่ ๆ อาจจะสมบูรณ์ สุก พร้อมปฏิสนธิ แต่เมื่อตกลงมาในท่อนำไข่ที่อุดตัน อสุจิก็ไม่สามารถว่ายมาปฏิสนธิได้ โดยทั่วไปนั้น "รังไข่" จะปล่อยไข่ออกมาแล้วตกลงมาที่ "ท่อนำไข่" ซึ่งเป็นจุดนัดพบกันระหว่าง ไข่ และ สเปิร์ม เมื่อท่อนำไข่อุดตัน ก็เจอกันไม่ได้ แต่รังไข่ก็ผลิตไข่ตามปกติ แม่ ๆ จึงเทสเจอไข่ตกแต่ไม่ท้องนั่นเองค่ะ
อนุมูลอิสระทำลายเซลล์ไข่
เซลล์ไข่ยังถูกทำลายจาก "อนุมูลอิสระ" ที่เกิดขึ้นทุกวันจากกระบวนการเผาผลาญในร่างกายตามปกติ พูดง่าย ๆ คือ "แค่หายใจไข่ก็เสื่อม" และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแม่ ๆ ได้แก่ การทานอาหารไม่มีประโยชน์ ทานของหวาน ของมันของทอด นอนดึก เครียด ไม่ออกกำลังกาย หรือ การได้รับมลพิษและสารเคมี ปัจจัยเหล่านี้ เป็นการเพิ่มอนุมูลอิสระให้แก่ร่างกาย ส่งผลต่อการ "ทำลายคุณภาพของเซลล์ไข่" ทั้งสิ้น
2.ปัจจัยที่มาจากพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ
คุณพ่อและคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจไม่ทราบมาก่อนว่าถึงร่างกายจะปกติ แต่หากมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการมีบุตรยากบ่อย ๆ ก็ถือเป็นอุปสรรคเช่นเดียวกันค่ะ ซึ่งตัวอย่างพฤติกรรมดังกล่าว เช่น
เครียดบ่อย
ความเครียดนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจแล้ว ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากอีกด้วย เพราะฮอร์โมนจากความเครียดจะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์ ส่งผลให้เกิดภาวะ ไข่ไม่ตก ทำให้ไข่เจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ อีกทั้งยังทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วฝังตัวที่มดลูกได้ยากขึ้น
ดื่มกาแฟมากไป
การที่ร่างกายได้รับคาเฟอีนประมาณ 300 มิลลิกรัมต่อวันหรือเทียบเท่ากับกาแฟชงเอง 3 ถ้วย จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีลูกได้ยากขึ้น โดยส่งผลให้โอกาสการมีลูกลดลงถึง 26% เลยทีเดียว
ร่างกายได้รับสารเคมีมากเกินไป
ทั้งสารเคมีจากเครื่องสำอาง จากสิ่งแวดล้อม หรือการทานอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี สารโลหะหนักอย่างตะกั่วที่สะสมในร่างกายย่อมส่งผลต่อการทำงานของรังไข่ ทำให้เซลล์สืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ
ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์
การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์บ่อย ๆ จะส่งผลให้สารอาหารเข้าไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ มีผลต่อภาวะการมีบุตรยากด้วยนะ ควรเลือกกินอาหารที่หลากหลายอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผักและผลไม้
วิธีแก้ไข
สำหรับทั้ง 2 ปัจจัยนี้ สิ่งที่จะสามารถแก้ไขได้คือการปรับพฤติกรรมของคุณแม่ (หรือคุณพ่อร่วมด้วยค่ะ) โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ดังกล่าว เนื่องจากผลของพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลต่อความพร้อมของร่างกายเป็นอย่างมาก หากคู่รักคู่ไหนที่ต้องการมีบุตรก็ต้องปรับปรุงพฤติกรรมอย่างเร่งด่วนค่ะ ทั้งนี้ ในเรื่องคุณภาพไข่ของฝ่ายหญิง ควรมีการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย (หรือในกรณีที่ต้องทำการรักษา) ร่วมกันค่ะ
อย่างไรก็ดี แม้บางเรื่องเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ทำบ่อย ๆ และทำหลาย ๆ เรื่องปนกันก็ย่อมส่งผลให้มีลูกยากได้ ดังนั้นถ้าอยากมีลูกก็ควรเตรียมความพร้อมให้แก่ร่างกายแต่เนิ่น ๆ เพราะนอกจากจะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์แล้วยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหรือความผิดปกติทั้งกับคุณแม่และลูกในท้องได้อีกด้วยค่ะ
Comments