แม่ๆที่เตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการรักษาผู้มีบุตรยาก ต้องผ่านการเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนที่สำคัญ ได้แก่ FSH ฮอร์โมนบอกคุณภาพรังไข่ การผลิตไข่ AMH ฮอร์โมนบอกจำนวนไข่ตั้งต้น และ LH ฮอร์โมนตกไข่ ซึ่งจะถูกผลิตออกมาในช่วงที่มีการตกไข่ค่ะ
.
วันนี้เรามาทำความรู้จักเจ้าฮอร์โมน LH กันค่ะ
แม่ๆ ที่กำลังลุ้นเบบี๋คงคุ้นเคยกันดี เพราะมันเป็นฮอร์โมนที่บอกว่าเรากำลัง "ตกไข่" ต้องรีบสะกิดสามีปฏิบัติภารกิจ ซึ่งสามารถเช็คได้ง่ายๆที่บ้านจากชุดทดสอบไข่ตกโดยจุ่มลงในปัสสาวะ
LH: Luteinizing Hormone หรือเรียกว่า "ฮอร์โมนไข่ตก" เป็นฮอร์โมนที่ปล่อยไข่ให้ตก พร้อมสำหรับการปฏิสนธิ เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) โดยฮอร์โมน LH จะทำหน้าที่กระตุ้นไข่ในเพศหญิงให้ตกลงมาตามรอบเดือน หากไม่มีฮอร์โมนดังกล่าวจะไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ ฮอร์โมน LH จะหลั่งออกมาในช่วงที่จะมีการตกไข่ ซึ่งจะมีผลทำให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมาเพื่อรอการปฏิสนธิ
.
แต่สำหรับแม่ๆ ที่เข้าสู่กระบวนการทำด็กหลอดแก้ว หมอจะเช็คฮอร์โมนตัวนี้จากการเจาะเลือดค่ะ ซึ่งค่าที่ได้นั้นจะประเมินคู่กับฮอร์โมน FSH ซึ่งควรอยู่ในระดับ 3-10 กล่าวคือ ฮอร์โมน FSH จะช่วยควบคุมกระบวนการผลิตไข่ จากนั้นเมื่อไข่โตสมบูรณ์พร้อมตกก็จะมีฮอร์โมน LH ออกมา ซึ่งค่าของ LH ควรต่ำกว่าค่า FSH 1-2 ระดับ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ รังไข่ยังทำงานดี ผลิตไข่ได้ปกติและมีไข่ตก แพทย์จะได้ใช้เป็นแนวทางในการให้ยากระตุ้นไข่ต่อไปนั่นเองค่ะ
.
● รู้ไหม? ฮอร์โมน LH สูงผิดปกติดเสี่ยงท้องยาก!
ผู้ที่อยู่ในภาวะ PCOS (ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือ ถุงน้ำหลายใบในรังไข่) จะมีค่า LH สูงผิดปกติ
เพราะ PCOS เป็นภาวะที่ร่างกายมีฮอร์โมนเพศชายสูง ก่อให้เกิดไข่ไม่ตกเรื้อรัง ดังนั้นร่างกายจึงต้องผลิตฮอร์โมน LH ให้สูงขึ้นอีกเพื่อต้องการให้ไข่ตก
คนที่เป็น PCOS จึงตรวจพบระดับฮอร์โมนสูงกว่าปกตินั่นเองค่ะ ซึ่งแพทย์จะใช้ข้อมูลนี้ในการพิจารณาใช้ฮอร์โมนหรือยาในการกระตุ้นไข่ต่อไปเพื่อระวังไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า OHSS (Ovarian Hyperstimulation Syndrome) "ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป" สาเหตุเกิดจากการตอบสนองมากเกินของรังไข่ของผู้รักษามีบุตรยาก หลังที่ได้รับยากระตุ้นไข่ ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดของการกระตุ้นไข่ซึ่งมักพบในผู้ที่เป็น PCOS ค่ะ
.
ภาวะ PCOS เป็นภาวะที่ฮอร์โมนเพศไม่สมดุล มีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ภาวะดื้ออินซูลิน โรคอ้วน หรือ พันธุกรรม อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร
ครูก้อยแนะนำผู้หญิงที่ป่วย PCOS ให้ทานอาหารที่มีโภชนาการสูงเพื่อบรรเทาอาการได้ค่ะ โดยเน้นโปรตีน ลดของมันของทอด งดหวานเด็ดขาด เน้นทานผักผลไม้สด และธัญพืชที่ให้คุณค่าทางอาหารและไฟเบอร์สูงค่ะ
กลุ่มคน PCOS (ไข่ไม่ตก ปจด.ไม่ปกติ เป็นถุงน้ำในรังไข่) นอกจากให้เน้นน้ำมะกรูด+โปรตีนแล้วต้องงดหวานเด็ดขาด!! และเน้น อาหารพวก DASH Diet เพื่อไม่ให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง (ฮอร์โมนเพศชาย) ซึ่งไปเหนี่ยวนำให้วงจรการตกไข่ผิดปกติ
หลักการสำคัญของการรับประทานอาหารแบบ DASH คือ ลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียม ลดแป้ง ลดไขมันอิ่มตัว ไขมันรวมและคอเรสเตอรอลลง และเพิ่มการรับประทานธัญพืช ผักผลไม้สด โปรตีน
มีงานวิจัยที่สนับสนุนการการทานอาหารแบบ DASH Diet ต่อการลดน้ำหนักและลดระดับไขมันของผู้ป่วย PCOS เรื่อง”DASH Diet, Insulin Resistance, and Serum hs-CRP in Polycystic Ovary Syndrome: A Randomized Controlled Clinical Trial” ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Hormone and Metabolic Research
ผลวิจัยพบว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินที่ทานอาหารแบบ DASH เป็นเวลา 8 สัปดาห์ จะช่วยทำให้การดื้ออินซูลินลดลง ลดการสะสมของไขมันในช่องท้องเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้ทานอาการประเภทนี้ ซึ่งผลดีดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อรักษาอาการของโรค PCOS นั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหารก็จะช่วยในการบรรเทาอาการของภาวะ PCOS ได้ค่ะ
Comments