ไขความลับ ปูพื้นฐาน “สมการท้อง” บำรุงอย่างไรให้ตรงจุด เปิดอู่ปุ๊บติดปั๊บ!!
top of page
ค้นหา

ไขความลับ ปูพื้นฐาน “สมการท้อง” บำรุงอย่างไรให้ตรงจุด เปิดอู่ปุ๊บติดปั๊บ!!

แม่ๆเคยประสบปัญหานี้กันไหมคะ ปล่อยกันมานานแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ เกิดจากสาเหตุอะไร? จริงๆแล้วก่อนจะตั้งครรภ์มีเบบี๋ พ่อแม่มือใหม่จำเป็นต้องทราบวัตถุดิบตั้งต้นในการตั้งครรภ์ก่อนนะคะ



.



โดยครูก้อยขอเรียกสิ่งนี้ว่า “สมการท้อง” ค่ะ การที่เราจะท้องได้นั้นเกิดจากการที่ ไข่ จากแม่ และสเปิร์มจากพ่อทำการปฏิสนธิกัน เกิดเป็น “ตัวอ่อน” ที่เข้าไปฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูกของแม่ ทั้งนี้ ไข่ มดลูก และสเปิร์ม ต้องอยู่ภายใต้สภาวะฮอร์โมนที่สมดุล จึงจะทำให้การตั้งครรภ์ประสบผลสำเร็จ ตามสมการดังนี้



.



ไข่ (ฮอร์โมน) + สเปิร์ม (ฮอร์โมน) มดลูก (ฮอร์โมน) = ลูก



.



ซึ่งจะสังเกตได้ว่าตัวแปรที่มาจากฝ่ายผู้หญิงจะมีมากกว่าฝ่ายผู้ชาย ดังนั้นสาเหตุการท้องยากส่วนใหญ่มักมาจากฝ่ายหญิง



1. ไข่



เซลล์ไข่จากฝ่ายหญิงมีจำนวนจำกัด โดยเราจะมีเซลล์ไข่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิดประมาณ 1-2 ล้านใบ เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เซลล์ไข่ก็ลดลงเหลือประมาณ 7 ใบ แต่จะมีไข่ที่สามารถใช้ได้เพียงแค่ 400- 500 ใบเท่านั้น เพราะในการตกไข่ในแต่ละครั้งจะมีไข่ เพียง 1 ใบที่สมบูรณ์พร้อมปฎิสนธิ หากจำนวนไข่หมดไปแล้วก็ไม่สามารถที่จะตั้งครรภ์ได้อีก



.



นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญต่อเซลล์ไข่ คืออายุ ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นไข่ก็จะยิ่งเสื่อมคุณภาพลง จากอนุมูลอิสระที่สะสมในร่างกาย ซึ่งอนุมูลอิสระเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทานอาหาร ประเภทน้ำตาล ของหวาน ของทอด ของมัน เป็นต้น ความเครียด รวมไปถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ ล้วนส่งก่อให้เกิดอนุมูลอิสระทำลายเซลล์ไข่



.



ยิ่งในวัย 35+ เป็นต้นไปเซลล์ไข่จะมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วและมีเปอร์เซ็นความผิดปกติของโครโมโซมสูงถึง 50-80 % ดังนั้นเซลล์จึงเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องบำรุง



●เราสามารถบำรุงไข่ให้มีคุณภาพได้หรือไม่?



เห็นมั้ยคะว่าผู้หญิงเรานั้นถึงจะเกิดมาพร้อมเซลล์ไข่จำนวนมาก แต่มันก็ลดลงและเสื่อมคุณภาพไปตามเวลา เรื่องนี้เป็นไปตามธรรมชาติที่เราไม่สามารถห้ามการสูญเสียเซลล์ไข่ได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถบำรุงเซลล์ไข่ที่มีเหลืออยู่ให้มีคุณภาพได้ ด้วยหลักโภชนาการค่ะ



.



มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธุ์ของการทานอาหารและภาวะเจริญพันธุ์ (The influence of diet on fertility) หลายฉบับ ศึกษาพบว่า การทานอาหารที่มีโปรตีนสูงและอาหารที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระจะช่วยบำรุง ซ่อมแซมเซลล์และปกป้องเซลล์ไข่จากการถูกทำให้เสียหายจากอนุมูลอิสระค่ะ ทำให้เซลล์ไข่สมบูรณ์ขึ้น เป็นการเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ได้


โดยเน้นการรับประทานโปรตีน ลดคาร์โบไฮเดรตลง ทานไขมันดี และผักผลไม้สดเพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ



.



2. มดลูก



"มดลูก" ชอบ "เลือด"


เลือดไหลเวียนดี #มดลูกอุ่น #ติดลูกง่าย



มดลูกคือบ้านหลังแรกของลูก เมื่อเกิดการปฏิสนธิแล้วตัวอ่อนก็จะเคลื่อนตัวมาฝังตัวที่บ้านหลังนี้ แต่ บ้านต้องสะอาด อบอุ่น แข็งแรง มิฉะนั้นจะเป็นอุปสรรคในการฝังตัวของตัวอ่อนทั้งสิ้น



.



แม่ๆรู้ไหม? สาเหตุอย่างหนึ่งที่ตัวอ่อนไม่ฝังตัว เพราะมดลูกของแม่มันเย็น มันหนาทึบเกรอะกรังด้วยประจำเดือนเก่าคั่งค้างทับถม ไม่ปลอดโปร่ง เลือดไม่ไหลเวียน



.



มดลูกที่ดีต้องเป็นมดลูกที่อยู่ในสภาวะอุ่น นั่นก็หมายความว่ามีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอย่างเพียงพอค่ะ ที่มดลูกของเราจะเต็มไปด้วยเส้นเลือดฝอยที่โอบอุ้มมดลูก มดลูกต้องการเลือดที่สูบฉีดไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ แม่ๆจึงตัองทานอาหารที่มีฤทธิ์อุ่น กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด เลือดต้องไหลเวียนดี เลือดต้องมีออกซิเจน flow นำสารอาหารไปเลี้ยงมดลูกได้อย่างเพียงพอ มันจึงจะเป็นบ้านที่อบอุ่นสำหรับตัวอ่อนค่ะ



.



3. ฮอร์โมน



"ฮอร์โมน" คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายของมนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารและทำหน้าที่ร่วมกันกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยฮอร์โมนจะหลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อและซึมเข้าสู่เส้นเลือด จากนั้นจะอาศัยระบบการไหลเวียนของกระแสเลือด ส่งต่อไปยังเซลล์หรืออวัยวะต่างๆ เมื่อฮอร์โมนไปถึงอวัยวะที่เป็นเป้าหมาย ก็จะทำหน้าที่เพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ



ฮอร์โมนชนิดที่แตกต่างกันจะส่งผลแตกต่างกัน และมีฮอร์โมนแค่ไม่กี่ตัวเท่านั้นที่ส่งผลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ว่าที่คุณแม่ที่วางแผนท้องควรที่จะทำความรู้จักกับฮอร์โมนเหล่านี้และทำความเข้าใจว่ามันจะส่งผลอย่างไรกับคุณแม่ที่อยากจะตั้งครรภ์ค่ะ


.


●การตรวจฮอร์โมนทำอย่างไร?



ปกติแล้ววิธีการตรวจฮอร์โมนจะมีอยู่ด้วยกันสองแบบ แบบแรกคือ คุณหมอจะสั่งให้ตรวจ โดยการเจาะเลือด และ ส่งเลือดไปตรวจที่แลป



หรือแบบที่สองอาจจะใช้เครื่องตรวจด้วยตัวเองก็ได้ เช่น การตรวจฮอร์โมน LH เพื่อเช็คไข่ตก หรือตรวจฮอร์โมน HCG เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ โดยทั้งสองฮอร์โมนนี้สามารถตรวจได้จากปัสสาวะค่ะ



8 ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์



.



1. FSH: Follicle Stimulating Hormone


FSH เป็นฮอร์โมนที่หลั่งมากระตุ้นการทำงานของรังไข่ จะหลั่งมาเพื่อให้ไข่โตสมบูรณ์เต็มที่ หลังจากนั้น ฮอร์โมน LH (ฮอร์โมนไข่ตก) ก็จะถูกหลั่งออกมาเพื่อให้ไข่ตก ซึ่งฮอร์โมนสองตัวนี้ต้องตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน



.



ระดับของ FSH ในร่างกายจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับรังไข่สำรองที่มีอยู่ (ovarial reserve รวมถึงคุณภาพและจำนวนของไข่ที่เหลืออยู่)



ซึ่งทำให้การตรวจวัดระดับ FSH สามารถนำมาใช้ทำนายได้ว่าแม่ๆ มีภาวะเจริญพันธุ์อยู่ในระดับใด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือฮอร์โมน FSH เป็นฮอร์โมนที่ใช้ประเมินประสิทธิภาพใน "การทำงานของรังไข่"


เมื่อมีจำนวนไข่ลดน้อยลง และคุณภาพของไข่เสื่อมลง ร่างกายจะพยายามผลิต FSH ออกมามากขึ้นเพื่อเป็นชดเชยและจะได้กระตุ้นให้ Follicle หรือฟองไข่ มีการเจริญเติบโตมากขึ้น



.



การตรวจฮอร์โมน FSH จะเจาะเลือดตอนช่วงมีประจำเดือน 1-3 วันแรก โดยค่า FSH ปกติ ไม่ควรต่ำกว่า 3 mIU/mL และไม่ควรเกิน 10 mIU/mL ถ้าสูงเกินไปแสดงว่ารังไข่เริ่มเสื่อม ถ้า FSH สูงกว่า 40 mIU/mL และ ฮอร์โมน Estradiol (เอสโตรเจน) ต่ำกว่า 5 pg/ml แสดงว่ารังไข่เสื่อมแล้วค่ะ


.



ด้วยเหตุนี้เอง หากพบว่ามีระดับ FSH สูงอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่ากำลังจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว หรือ ถ้าเกิดขึ้นในวัยที่ยังอยู่ในภาวะเจริญพันธุ์อาจหมายความว่าแม่ๆ อาจเข้าสู่ "วัยทองก่อนวัย"



.



หากมีระดับ FSH ต่ำเกินไป อาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ ทำให้วงจรรอบเดือนหยุดชะงักไปได้


(มักจะพบในผู้หญิงที่มีอาการของภาวะ Polycystic Ovarian Syndrome หรือ PCOS)



.


2. LH: Luteinizing Hormone


หรือเรียกว่า "ฮอร์โมนไข่ตก" เป็นฮอร์โมนที่ปล่อยไข่ให้ตก พร้อมสำหรับการปฏิสนธิ เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) โดยฮอร์โมน LH จะทำหน้าที่กระตุ้นไข่ในเพศหญิงให้ตกลงมาตามรอบเดือน หากไม่มีฮอร์โมนดังกล่าวจะไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ ฮอร์โมน LH จะหลั่งออกมาในช่วงที่จะมีการตกไข่ ซึ่งจะมีผลทำให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมาเพื่อรอการปฏิสนธิ


.



ซึ่งแม่ๆสามารถเช็คฮอร์โมนตัวนี้ได้ด้วยการใช้ชุดตรวจไข่ตกจุ่มในปัสสาวะ เพื่อจะได้ทราบว่าในแต่ละเดือนเรามีไข่ตกหรือไม่ (ปกติไข่จะตกใน Day 14 ของรอบเดือน แม่ๆสามารถเช็คล่วงหน้าก่อน 2-3 วันได้ค่ะ เพราะไข่ไม่ได้ตกตรงเป๊ะใน Day 14 เสมอไป) จะได้วางแผนในการปั๊มเบบี๋ได้ตรงวันเป็นการเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ค่ะ



.



สำหรับการตรวจเลือดเช็คระดับฮอร์โมน LH ต้องตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน 1-3 วันแรกโดย


ควรมีค่าอยู่ที่ 3-10 mIU/mL ซึ่ง LH กับ FSH จะดูคู่กันคือ LH ควรต่ำกว่า FSH 1-2 ค่า ถือว่าปกติ


แต่ในผู้ที่อยู่ในภาวะ PCOS จะมีค่า LH สูงผิดปกติเพราะ PCOS เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดไข่ไม่ตกเรื้อรังอยู่แล้ว ดังนั้นร่างกายจึงต้องผลิตฮอร์โมน LH ให้สูงขึ้นอีกเพื่อต้องการให้ไข่ตก



.



สำหรับแม่ๆที่ทำ ICSI การตรวจเจอฮอร์โมน LH ที่สูงเกินไปบ่งชี้ถึงภาวะ PCOS ซึ่งจะมีไข่ใบเล็กๆกระจุกตัวกันจำนวนมาก ซึ่งเป็นไข่ที่ด้อยคุณภาพ เมื่อฉีดยากระตุ้นไข่ ไข่อาจจะโตหลายใบแต่เป็นไข่ที่ไม่ค่อยสมบูรณ์



.



4. AMH: Anti-Mullerian Hormone



"ฮอร์โมนบอกจำนวนไข่ตั้งต้น" เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากฟองไข่ในรังไข่ ปริมาณของฮอร์โมนจึงสัมพันธ์กับปริมาณไข่ที่เหลืออยู่ในรังไข่ของผู้หญิง และเป็นตัวบ่งบอกว่าแม่ๆ มีจำนวนฟองไข่ตั้งต้นมากหรือน้อย



.



การตรวจฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้ทราบว่าร่างกายเหลือปริมาณไข่อยู่มากน้อยเพียงใด และมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นไข่ดีหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์คิดค้นหาวิธีที่จะช่วยให้คู่สามีภรรยา สามารถวางแผนการตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม ดังนั้นการตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน AMH จัดเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับใช้เป็นแนวทางในการวางแผนสำหรับการมีบุตร โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก



.



การเช็คระดับฮอร์โมน AMH สามารถเจาะเลือดเช็คตอนไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตรวจในช่วงมีประจำเดือน ค่า AMH จะลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น



.



ค่า AMH ปกติควรอยู่ที่ 1.5 ng/mL ขึ้นไป ซึ่งจะพอเห็นแนวโน้มว่ายังมีจำนวนฟองไข่ที่สามารถตั้งครรภ์ได้


แต่ถ้าน้อยมากแค่ 0.1-0.2 ng/mL โอกาสที่จะกระตุ้นไข่ได้ไข่ที่มีคุณภาพจะน้อยมากๆ ค่ะ ซึ่งใรกรณีนี้หากกระตุ้นไข่ไม่ได้เลย อาจต้องใช้ไข่บริจาคเพื่อทำ ICSI ต่อไปค่ะ



.



4. E2: Estradiol


"ฮอร์โมนเพศหญิง" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ฮอร์โมนเอสโตรเจน" ผลิตจากรังไข่ และทำให้ลักษณะร่างกายของผู้หญิงมีการเติบโต มีความเป็นผู้หญิงมากขึ้นเช่น สะโพกผาย มีหน้าอก และมีไขมันสะสมบริเวณสะโพก ผิวตึง มีเสียงแหลม และกระตุ้นการเจริญเติบโตของรังไข่ ถุงไข่ และไข่อ่อน เกี่ยวเนื่องกับการมีประจำเดือน การผลิตไข่และการตกไข่ ช่วยให้เซลล์มีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น กระตุ้นเซลล์บริเวณปากมดลูกและช่องคลอดให้หลั่งน้ำเมือกหรือมูกตกไข่ที่ใส ไม่เหนียว และมีปริมาณมาก เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ของอสุจิไปยังมดลูกและปีกมดลูก



.



ฮอร์โมนนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไข่โตขึ้นเรื่อยๆ ต้องตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งค่าปกติไม่ควรต่ำกว่า 20 pg/mL ถ้าต่ำกว่านี้แสดงให้เห็นว่ารังไข่เริ่มทำงานไม่ดี ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อย


ถ้าหากเอสโตรเจนลดลง โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนในช่วงวัย 45-50 ปี มีความเสี่ยงที่กระดูกจะบางมากขึ้น เพราะมวลกระดูกลดลง กล้ามเนื้อไม่ค่อยแข็งแรง และมีภาวะของการหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบตามตัว ช่องคลอดแห้ง เป็นต้น


.


5. TSH: Thyroid Stimulating Hormone


"ฮอร์โมนไทรอยด์ ผู้หญิงบางคนอาจจะไม่รู้ว่าฮอร์โมนไทรอยด์ เป็นฮอร์โมนสำคัญที่สุด ที่จะทำให้คุณตั้งท้องได้เพราะ ต่อม Thyroid อวัยวะสืบพันธ์ของเพศหญิง และ ต่อม Adrenal นั้นเชื่อมต่อกันอยู่ ถ้ามีสิ่งผิดปกติไม่ว่าจะกับส่วนไหนก็ตาม การตั้งครรภ์อาจจะยากมาก


การตรวจระดับของฮอร์โทนไทรอยด์ แพทย์จะใช้ค่านี้เพื่อคัดกรองการมีบุตรยากเบื้องต้นเพราะถ้ามีค่าสูงผิดปกติจะมีผลต่อการตกไข่ค่ะ



.



ฮอร์โมนนี้สารมารถตรวจในช่วงไหนของรอบเดือนก็ได้ โดยค่าฮอร์โมนไทรอยด์ควรอยู่ที่ 0.4-4.0 uIU/mL ถ้าพบค่าต่ำหรือสูงผิดปกติหมออาจจะพิจารณาให้ตรวจเพิ่มเติมค่ะ



.



6. PRL: Prolactin


"ฮอร์โมนน้ำนม" "โปรแลคติน" เป็น ฮอร์โมนที่จะจัดการการผลิตนม เตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับตอนคลอด แต่มันยังมีหน้าที่ในการทำให้ประจำเดือนมาอย่างปกติอีกด้วย หากมีฮอร์โมนโปรแลคตินสูงจะยับยั้งวงจรการตกไข่และทำให้ประจำเดือนไม่มา


หากผู้หญิงคนใดตรวจพบฮอร์โมนตัวนี้ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ตั้งครรภ์ เช่น พบว่ามีน้ำนมออกมาทั้งที่ยังไม่ได้ตั้งท้องแสดงว่า แสดงว่ามีฮอร์โมนโปรแลคตินสูงเกินไปในเวลาที่ไม่เหมาะสมจะทำให้วงจรการตกไข่ถูกขัดขวาง ส่งผลต่อการมีบุตรยาก



.



การตรวจฮอร์โมนตัวนี้จะตรวจช่วงไหนก็ได้ ไม่ขึ้นอยู่กับรอบเดือน โดยค่าโปรแลคติน ไม่ควรสูงกว่า 25 pg/mL แต่ถ้าสูงแต่ไม่เกิน 50 pg/mL แล้วไม่ได้มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ประจำเดือนผิดปกติ แบบนี้ก็ยังถือว่าโอเคอยู่ค่ะ ยังไม่ต้องรักษา ต้องดูเป็นกรณีไป


แต่ถ้าสูงเกิน 100 pg/mL อาจต้องส่งตรวจเพิ่มเติมต่อไปเพราะอาจเป็นเรื่องความผิดปกติของระบบสมองหรือระบบประสาท



.



7. Progesterone


"ฮอร์โมนเตรียมพร้อมการตั้งครรภ์" "โปรเจสเตอโรน" เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะสูงขึ้นในช่วงที่จะตั้งครรภ์หรือมีรอบเดือน



.



โปรเจสเตอโรนสามารถหลั่งได้จากรังไข่และต่อมหมวกไต ฮอร์โมนตัวนี้จะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ในช่วงที่มีรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกจะหนาขึ้นเตรียมพร้อมกับการฝังตัวของตัวอ่อนในการตั้งครรภ์ ถ้าไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อนระดับโปรเจสเตอโรนจะลดลง เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน



.



ถ้ามีการตั้งครรภ์โปรเจสเตอโรนจะยังคงระดับสูง รักษาไม่ให้มดลูกบีบตัวและยังสูงตลอดการตั้งครรภ์ หลายครั้งที่ผู้หญิงต้องเผชิญอาการ เช่น แท้งคุกคามนั้นเกิดจากตอนที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ดิ่งลงต่ำนั่นเองค่ะ



.



โดยค่าปกติของโปรเจสเตอโรนมีดังนี้


วันแรกที่มีประจำเดือนจนถึงวันก่อนไข่ตก ค่าฮอร์โมนจะอยู่ที่ 0.2 – 1.5 ng/ml



.



วันไข่ตก ค่าฮอร์โมนจะอยู่ที่ 0.8 – 3.0 ng/ml


หลังวันไข่ตกจนถึงวันก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไป ค่าฮอร์โมนจะอยู่ที่ 1.7 – 27 ng/ml



.



8. HCG: Human Chorionic Gonadotropin


"ฮอร์โมนตั้งครรภ์" คือ ฮอร์โมนที่ตรวจพบได้เมื่อตั้งครรภ์ ซึ่งผลิตจากเนื้อเยื่อรกและการฝังตัวในมดลูกของตัวอ่อน ซึ่งควรตรวจหลังจากมีการปฏิสนธิ หรือ ย้ายตัวอ่อน 10-12 วัน



.



แม่ๆ สามารถตรวจฮอร์โมน HCG ได้เองที่บ้านจากปัสสาวะ แต่เพื่อความแน่นอนที่สุดควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจจากเลือดจะแน่นอนกว่าค่ะ โดยหากมีค่า HCG ถึง 100 mIU/mL เป็นสัญญาณว่าแม่ๆตั้งครรภ์ค่ะ


ระดับฮอร์โมนนี้จะเพิ่มเป็น 2 เท่า ทุก 2-3 วัน เพื่อเป็นการยืนยันภาวะตั้งครรภ์ ถ้าระดับฮอร์โมนตัวนี้ต่ำลงเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะแท้งได้ค่ะ


.


.


ฮอร์โมนที่สมดุลก็จะส่งผลต่อความปกติของการทำงานของรังไข่ การผลิตไข่ การเจริญเติบโตของไข่ การมีประจำเดือนและการตกไข่ การรักษาฮอร์โมนให้สมดุลทำได้ด้วยการทานอาหารถูกหลักโภชนาการ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอและไม่เครียดนะคะ



4.สเปิร์ม



สาเหตุที่ทำให้เราท้องยาก ไม่ได้มาจากฝ่ายหญิงเพียงอย่างเดียวนะคะ การตั้งครรภ์ต้องการอสุจิที่แข็งแรงจากสามีด้วย ดังนั้นหากยังไม่ท้องต้องจูงมือกันไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายกันทั้งสองฝ่ายค่ะ



จากสถิติทางการแพทย์นั้นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยากมาจากฝ่ายหญิง 60-70% และ สาเหตุจากฝ่ายชายประมาณ 40% ซึ่งปัญหาหลักจากฝ่ายชายคือเรื่องคุณภาพของเจ้าอสุจิค่ะ



คุณภาพของสเปิร์มวัดได้อย่างไร?



เราไม่มีทางดูได้ด้วยตาเปล่าเลยว่าอสุจิของคุณสามีแข็งแรงดีหรือไม่ ตอนปฏิบัติการปั๊มเบบี๋สามีด็หลั่งเยอะ หลั่งดี แต่ไม่มีทางรู้ค่ะว่าที่หลั่งออกมานั้นมีแค่น้ำ หรือ มีตัวอสุจิออกมาหรือไม่ อสุจิมันว่ายหรือตายนิ่ง และคุณภาพหรือรูปร่างของตัวอสุจิ



สมบูรณ์หรือไม่ ในทางการแพทย์หากพยายามกันมาเป็นปีแล้วไม่ท้อง ควรไปตรวจวิเคราะห์อสุจิค่ะ ซึ่งจะมีเกณฑ์การประเมินคุณภาพ 4 ข้อดังนี้



(1) ปริมาตรของน้ำเชื้อที่หลั่ง (Volume)


ต้องหลั่งได้ไม่น้อยกว่า 1.5 cc. ต่อการหลั่ง 1 ครั้ง



(2) จำนวนตัวสเปิร์ม (Concentration)


ต่อการหลั่ง 1 ครั้ง


ต้องไม่น้อยกว่า 15 ล้านตัวต่อ 1 cc.



(3) อัตราการเคลื่อนไหวของสเปิร์ม (Motility)


ต้องมีเปอร์เซ็นการเคลื่อนไหวไม่ต่ำกว่า 40%



(4) รูปร่างของสเปิร์ม (Morphology)


ต้องมีรูปร่างสมบูรณ์ ปกติไม่น้อยกว่า 4%



ดังนั้นหากในการทำการบ้านแต่ละครั้ง ถึงแม้ว่าคุณสามีจะหลั่งมากก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าในน้ำอสุจิที่หลั่งออกมานั้นจะมีจำนวนตัวสเปิร์มอยู่มาก หรือ ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนตัวสเปิร์มมากถึงเกณฑ์ แต่ออกมาแล้วนอนนิ่งไม่ว่ายไปหาไข่ แบบนี้



แพทย์จะเรียกว่า "เชื้อตาย"ค่ะ ถึงแม้มีมากแต่เชื้อตาย...โอกาสท้องก็ลดลงนั่นเองค่ะ



แล้วจะทำอย่างไรให้สเปิร์มแข็งแรง?



จากงานวิจัยหลายฉบับพบว่า การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่เพียงพอ การลดพฤติกรรมทำลายสเปิร์ม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้สเปิร์มมีคุณภาพดีขึ้น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารนั้นสำคัญมาก



มีงานวิจัยศึกษาพบว่า...มีอาหารที่มีสรรพคุณในการช่วยปรับปรุงคุณภาพสเปิร์ม ช่วยเพิ่มจำนวนตัว การเคลื่อนไหว และ ปรับปรุงรูปร่างสเปิร์มให้สมบูรณ์ขึ้น ได้แก่ สารต้านอนุมูลอิสระเซซามีน จากงาดำ


เบต้าแคโรทีน จากแครอท ไลโคปีน จากมะเขือเทศ ฟีลกูลีน จากน้ำอินทผลัม สารต้านอนุมูลอิสระฟีนอลิคในน้ำผึ้งชันโรง หรือ รากปลาไหลเผือก การทานแร่ธาตุ Zinc ซึ่งมีมากในเมล็ดฟักทอง เป็นต้น



นอกจากนี้การทานวิตามินที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสเปิร์มก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพสเปิร์มได้ วิตามินที่สำคัญได้แก่ วิตามิน B รวม วิตามิน C, Co-Q10, Selenium, โฟลิก และ Zinc เป็นต้น



ดังนั้นการบำรุงเตรียมวัตถุดิบตั้งต้นให้พร้อมนั้นจึงจำเป็นมากๆในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ หรือการตั้งครรภ์โดยกระบวนการทางการแพทย์ หากบำรุงล่วงหน้าก่อนเตรียมตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน ทั้งคุณพ่อ และคุณแม่ก็จะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นค่ะ

ดู 19 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page