ภาวะไม่มีอสุจิ ถือว่าเป็นปัญหาหลักๆ ของทางฝ่ายชายที่ส่งผลต่อการมีบุตรยากค่ะ ซึ่งครูก้อยต้องขออธิบายก่อนว่าคำว่า "ไม่มีอสุจิ" ที่กล่าวไป ไม่ได้หมายถึงว่าไม่มีเลยนะคะ แต่หมายถึงเมื่อเวลาที่คุณพ่อและคุณแม่ร่วมรักกัน เมื่อถึงจุดสุดยอด อสุจิของคุณพ่อจะออกมาน้อยกว่าคนปกติค่ะ ซึ่งก็ส่งผลให้คุณแม่ท้องยากขึ้นอีกนั่นเอง ดังนั้น เราจะมาทำความรู้จักภาวะนี้เพื่อเป็นข้อควรรู้และเฝ้าระวังกันค่ะ
ภาวะไม่มีอสุจิ คืออะไร เกิดจากอะไรบ้าง รักษาได้ไหม?
ผู้ชายไม่มีอุสจิ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และเป็นสาเหตุสำคัญของการมีลูกยาก "ภาวะไม่มีตัวอสุจิ" หมายถึง การตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ตรวจ โดยวิธีการปั่น (Centrifugation) ความเร็วอย่างน้อย 3,000 รอบต่อนาที นาน 15 นาที หากตรวจไม่พบในครั้งแรกควรตรวจซ้ำอีก 1 ครั้ง หากไม่พบอีกแสดงว่าไม่มีอสุจิ
สาเหตุของภาวะไม่มีอสุจิ
สาเหตุของภาวะนี้สามารถแบ่งออกได้หลายปัจจัยด้วยกันค่ะ เช่น
1. Pretesticular
ซึ่งมักเกิดจากความผิดปรกติของต่อมไร้ท่อ มักจะตรวจพบ sex hormone และระดับของ gonadotropin ต่ำ ความผิดปรกติเหล่านี้อาจเป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นขึ้นมาในภายหลัง เช่น ความผิดปรกติของ hypothalamus หรือ pituitary gland รวมถึงการได้รับยาบางชนิด
2. Testicular
เป็นความผิดปรกติของอัณฑะที่ไม่สามารถสร้างตัวอสุจิได้ อาจเป็นมาแต่กำเนิด เช่น testicular dysgenesis (cryptorchidism) ความผิดปรกติทางพันธุกรรม (Y chromosome deletion) เป็นต้น หรืออาจเกิดขึ้นภายหลัง เช่น การบาดเจ็บบริเวณอัณฑะ การติดเชื้อ (mump orchitis) การผ่าตัด การฉายแสง เนื้องอกบริเวณอัณฑะ เป็นต้น และในบางครั้งอาจไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดอัณฑะที่ผิดปรกติ
3. Post-testicular
พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 40ของผู้ป่วยที่ตรวจไม่พบเชื้ออสุจิซึ่งได้แก่ ความผิดปรกติ หรือการอุดตันของท่อนำอสุจิ (ejaculatory duct) ซึ่งอาจเป็นมาแต่กำเนิด เช่น congenital bilateral absence of the vas deferens (CBAVD) หรือเกิดขึ้นภายหลัง เช่น จากการผ่าตัดทำหมันชาย หรือการติดเชื้อบริเวณท่อนำอสุจิ
อาการของ ภาวะจำนวนอสุจิน้อย
อาการของภาวะจำนวน อสุจิน้อย ที่พบบ่อยคือ
ระบบการสืบพันธุ์มีปัญหา ตัวอย่างเช่น ความต้องการทางเพศต่ำ หรือ มีปัญหาการคงความแข็งตัวของอวัยวะเพศ (เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ)
เจ็บปวด บวม หรือมีก้อนที่บริเวณอัณฑะ
มีขนหรือผมน้อยลงเป็นสัญญาณของความไม่ปกติในโครโมโซม หรือฮอร์โมน
สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่างๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ
แนวทางการรักษา
โดยทั่วไปสาเหตุจาก pretesticular และ post-testicular มักจะสามารถรักษาได้ ในขณะที่สาเหตุจาก testicular นั้น มักจะไม่สามารถรักษาแก้ไขได้
เมื่อไม่มีอสุจิเลย แต่อยากมีลูกก็ต้องตรวจหาสาเหตุว่าเป็นไปตามข้อใด โดยไปพบแพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกายตรวจขนาดลูกอัณฑะ เจาะเลือดดูระดับของฮอร์โมน ฯลฯ หากเกิดจากความผิดปกติของลูกอัณฑะ หรือความผิดปกติของโครโมโซม อาจจะแก้ไขไม่ได้ แต่หากเกิดความผิดปกติของฮอร์โมนหรือเกิดจากท่ออสุจิอุดตัน อาจจะยังมีอสุจิตัวอ่อนเหลืออยู่ในท่ออสุจิ การผ่าตัดเอาเนื้ออสุจิมาเพาะให้ตัวอ่อนอสุจิแข็งแรง จนสามารถทำอิ๊กซี่ (ICSI= Intracytoplasmic sperm injection) คือฉีดอสุจิเข้าไปในไข่ผสมเทียมในหลอดแก้ว แล้วทำเด็กหลอดแก้วก็มีโอกาสเป็นไปได้
ในคนไม่มีอสุจิ หากจะต้องผ่าตัดเอาเนื้ออสุจิมาเพาะอสุจิ เพื่อทำอิ้กซี่แล้วทำเด็กหลอดแก้ว กระบวนการทำงานเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีระดับสูงซึ่งต้องใช้เงินมากพอสมควร
อย่างไรก็ดี ในมุมของการรักษานั้น ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยสาเหตุของภาวะนี้จากทางแพทย์ด้วยนะคะ จากข้อมูลด้านบนที่ครูก้อยกล่าวมานั้น เป็นเพียงบางสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งยังมีอีกหลายสาเหตุมากๆ ค่ะ ดังนั้น ถ้าหากอยากทราบอย่างแน่ชัดจริงๆ ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อความชัดเจนนะคะ
----------------------
ขอบคุณข้อมูลจาก: Rakluke
อาทิตย์ บุญยรางกูร, กมลา เตชวิวรรธน์. "การตรวจประเมินภาวะไม่มีตัวอสุจิ".ธรรมศาสตร์เวชสาร ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 ประจำ เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2557.
Comments