top of page
ค้นหา

ข้อควรรู้ของคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียก่อนเตรียมความพร้อมในการมีลูก

คุณพ่อคุณแม่ที่ตรวจพบว่าเป็นพาหะธาลัสซีเมียอาจกังวลใจว่าลูกที่เกิดมาจะเป็นธาลัสซีเมียมั้ย แล้วต้องเตรียมตัวอย่างไรไม่ให้ลูกได้ภาวะดังกล่าว ครูก้อยนำข้อมูลจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาฝากค่ะ


โรคธาลัสซีเมียคืออะไร


เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อยที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยผู้ที่เป็นโรคจะต้องได้รับยีนผิดปกติมาจากทั้งพ่อและแม่ ยีนผิดปกตินี้จะทำให้จำนวนฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงลดลง ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงผิดปกติแตกง่าย ในประเทศไทยมีผู้ที่มียีนโรคธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินแฝงผิดปกติสูงถึงร้อยละ 40 ของประชากรไทย โดยผู้ที่มียีนแฝงมีรูปร่างหน้าตาและสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติ ทั้งผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มียีนแฝงสามารถถ่ายทอดยีนผิดปกตินี้ไปสู่ลูกหลานได้ บางรายอาจมีอาการรุนแรงมาก ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ


อาการของโรคธาลัสซีเมีย

  • ตัวซีดหรือเหลืองเรื้อรัง

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

  • ตับม้ามโต

  • ปัสสาวะสีเข้ม เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกแบบเรื้อรัง


ผู้ที่เป็นพาหะธาลัสซีเมียมีโอกาสส่งต่อให้ลูกหลานเท่าไหร่บ้าง


1. กรณีที่พ่อและแม่มียีนแฝงทั้งคู่

  • โอกาสลูกจะเป็นโรคเท่ากับ 25%

  • โอกาสลูกจะมียีนแฝงเท่ากับ 50%

  • โอกาสลูกจะปกติเท่ากับ 25%


2. กรณีที่พ่อหรือแม่มียีนแฝงเพียงคนเดียว

  • โอกาสลูกจะมียีนแฝงเท่ากับ 50% แต่ไม่มีลูกคนใดเป็นโรคเลย


3. กรณีที่พ่อหรือแม่เป็นโรค และอีกฝ่ายหนึ่งมียีนแฝง

  • โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคเท่ากับ 50%

  • โอกาสที่ลูกจะมียีนแฝงเท่ากับ 50%


4. กรณีที่ฝ่ายหนึ่งเป็นโรค และอีกฝ่ายปกติ

  • โอกาสที่ลูกจะมียีนแฝงทั้งหมด 100% แต่ไม่มีลูกคนใดเป็นโรคเลย


ชนิดของธาลัสซีเมียที่รุนแรง


1. Hemoglobin Bart’s hydrops fetalis


เป็นชนิดที่รุนแรงที่สุด ผู้ป่วยจะซีด บวม ตับม้ามโต มีน้ำในช่องท้อง รกมีขนาดใหญ่ มักเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังเกิดไม่นาน ส่วนหญิงที่ตั้งครรภ์ทารกที่เป็นโรคนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น เช่น ครรภ์เป็นพิษ หรือตกเลือดหลังคลอด


2. Homozygous B-thalassemia or Beta-thalassemia major


ผู้ป่วยมีอาการซีดมากตั้งแต่ขวบปีแรก ตับม้ามโต ตัวเหลือง มีโครงร่างใบหน้าเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะเฉพาะ เจริญเติบโตช้า และมีภาวะเหล็กเกิน จึงต้องรับเลือดเป็นประจำ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการตอนอายุประมาณ 1-2 ปี เริ่มจากตัวซีด แต่หากได้รับเลือดตั้งแต่ตอนที่แม่กำลังตั้งท้อง เด็กจะมีหน้าตาเหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่ไม่ว่าอย่างไรผู้ป่วยเหล่านี้ก็ต้องได้รับการดูแลรักษาในระยะยาว


3. B-thalassemia/Hemoglobin E disease


ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน บางคนมีอาการรุนแรงมากคล้ายผู้ป่วยโรคเบต้าธาลัสซีเมียเมเจอร์ ส่วนใหญ่มีอาการรุนแรงปานกลาง ตัวซีดและต้องรับเลือดเป็นประจำ ผู้ป่วยบางรายซีดไม่มากและไม่เคยได้รับเลือดเลย


ป้องกันธาลัสซีเมียได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์


เนื่องจากผู้ที่มียีนโรคธาลัสซีเมียแฝงจะไม่มีอาการแสดงออกมา ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรตรวจกรองภาวะที่มียีนโรคธาลัสซีเมียแฝงที่สำคัญ ได้แก่ แอลฟาธาลัสซีเมียแฝง, เบต้าธาลัสซีเมียแฝง, ฮีโมโกลบินอีแฝง และโฮโมซัยกัสฮีโมโกลบินอี


หากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มียีนธาลัสซีเมียแฝง แนะนำให้รีบพาคุณสามีมาตรวจด้วย หลังจากวินิจฉัยแล้วว่าหญิงตั้งครรภ์และสามีเป็นคู่เสี่ยงต่อการมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ทั้งคู่ควรรับคำปรึกษาแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ และต้องให้ข้อมูลว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคชนิดใด มีความรุนแรงและการดำเนินโรคเป็นอย่างไร มีการรักษาอะไรบ้าง โอกาสเสี่ยงที่จะมีลูกเป็นโรคเท่าใด มีทางเลือกในการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ได้อย่างไรบ้าง อายุครรภ์ที่ตรวจได้ รวมทั้งข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธี และทางเลือกเมื่อทราบว่าทารกเป็นโรค ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจเลือดวิเคราะห์สารพันธุกรรมโรคธาลัสซีเมียหรือฮีโมโกลบินผิดปกติ เพื่อใช้สำหรับวินิจฉัยโรคแก่ทารกในครรภ์ต่อไป


อย่างไรก็ดี การตรวจเลือดก่อนมีลูกและการเลือกคู่ที่ไม่เป็นโรคธาลัสซีเมียหรือเป็นพาหะ จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียได้ดีที่สุดค่ะ


บทความที่น่าสนใจ





ดู 2,316 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page