5 สัญญาณเตือนซีสต์รังไข่
ซีสต์รังไข่ผู้หญิงเป็นกันเยอะและเป็นปัญหาอันดับต้นๆของการมีบุตรยาก
‘ซีสต์ที่รังไข่’ คืออะไร?
ซีสต์ (Cyst) คือ ถุงน้ำที่เกิดขึ้นในร่างกายของคนเรา ดังนั้น ซีสต์ที่รังไข่นั้นก็คือการมีถุงน้ำเกิดขึ้นภายในรังไข่ และมีกลไกการเจริญเติบโตที่อาจส่งผลต่อร่างกายได้ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ซีสต์ที่เป็นโรค และซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติและสามารถหายได้เอง
ซีสต์ที่เกิดโรค คือถุงน้ำที่มีความผิดปกติ สามารถทำให้เกิดโรคขึ้นภายในอวัยวะที่ตรวจพบซีสต์ได้ โดยส่วนมากจะมีขนาดใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร
.
ซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติและสามารถหายได้เอง โดยปกติแล้วการทำงานภายในรังไข่จะมีการผลิตฟองไข่แล้วตกไปรอบละ 1 ใบ ซึ่งซีสต์ที่เกิดโดยธรรมชาติ อาจเกิดจากการที่ฟองไข่โตตามปกติแต่ไม่สามารถตกออกมาใช้งานได้ ทำให้เกิดเป็นซีสต์หรือถุงน้ำที่ค้างอยู่ภายในรังไข่ ซีสต์แบบนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะถูกกลไก
ของร่างกายดูดซึมแล้วหายได้เองภายใน 3 เดือน นอกจากนี้ในกรณีที่ไข่ตกตามปกติก็ยังสามารถทำให้เกิดซีสต์ได้เช่นกัน ในกรณีที่ไข่ตกตามปกติ แต่หลังจากการตกไข่กลับมีเลือดออกในฟองไข่นั้นจนกลายเป็นก้อนเลือดขังอยู่ภายใน และร่างกายก็จะดูดซึมแล้วหายไปเองเช่นกัน
.
👉ซีสต์รังไข่ส่งผลให้มีบุตรยากอย่างไร?
ซีสต์ชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นในรังไข่และยังมีขนาดเล็กอยู่จะทำให้ฟองไข่เจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่คุณภาพของฟองไข่ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีซีสต์นั้นจะมีสารเคมีบางอย่างที่ทำให้ฟองไข่ที่ตกในรังไข่ข้างนั้นด้อยคุณภาพลง และเจริญเติบโตได้น้อยกว่าอีกข้างที่ไม่มีซีสต์ และเมื่อซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้การเจริญเติบโตของฟองไข่เป็นไปได้ยากขึ้น เช่น ถ้าซีสต์มีขนาด 1 ซม. จะเหลือพื้นที่ในรังไข่ให้กับไข่เยอะ ทำให้ไข่มีโอกาสที่จะโตได้ตามปกติ แต่ถ้าขนาดซีสต์ใหญ่มากถึง 5 ซม. พื้นที่ในรังไข่ก็จะเหลือน้อยลง ไข่จะเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ เพราะความดันในรังไข่สูงมาก และอาจทำให้ไข่ไม่ไปตกในข้างที่มีซีสต์เลย เมื่อไข่ไม่ตกในข้างที่มีซีสต์ก็ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลงตามไปด้วย
.
👉 5 อาการ สัญญาณเตือนซีสต์รังไข่
(1) ปวดท้องน้อยเรื้อรัง
(2) ปัสสาวะบ่อยขึ้นหรือปัสสาวะลำบาก
(3) มีอาการปวดประจำเดือน
(4) มีอาการหน่วงๆ ตึงๆ ท้องน้อย หรือปวดท้องน้อยเฉียบพลัน
(5) เจ็บหรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
.
👉การรักษาโดยทั่วไปจะมี 2 วิธี คือ
การใช้ยาและการผ่าตัด
(1) การใช้ยา ยาทุกตัวที่ใช้ในการรักษาซีสต์ที่รังไข่นี้จะเป็นยาที่มีฤทธิ์คุมกำเนิดทั้งหมด ทำให้คนไข้ไม่สามารถมีบุตรได้ เนื่องจากโรคนี้อาศัยฮอร์โมนเพศหญิงที่สร้างจากรังไข่ในแต่ละเดือนทำให้มันโตขึ้น ดังนั้นการรักษาโรคนี้ต้องใช้ยาเพื่อยังยั้งไม่ให้ไข่เจริญ
เติบโต โรคจึงจะสงบลงได้ ซึ่งวิธีนี้ไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการมีบุตร
(2) การผ่าตัด สามารถทำได้ด้วยการส่องกล้องผ่าตัดเข้าไปเพื่อลอกซีสต์ออกมา ซึ่งประโยชน์ของการส่องกล้องจะจัดการกับซีสต์ได้อย่างตรงจุด ทำให้แม่ๆสามารถมีบุตรได้ตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น แต่การผ่าตัดก็มีผลข้างเคียงและความเสี่ยงจากการผ่าตัดที่แม่ๆต้องนำกลับไปพิจารณาด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อลอกซีสต์ออกจากรังไข่แล้วจะทำให้เนื้อที่ดีของรังไข่ที่ติดกับผนังซีสต์ออกไปด้วย เมื่อผนังรังไข่หายไปส่วนหนึ่ง จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของรังไข่ ปริมาณฟองไข่ และการโตของไข่ก็อาจจะลดลงตามไปด้วย ถ้าซีสต์มีขนาดเล็กอาจจะลอกง่ายและไม่มีผลกับผนังรังไข่มาก แต่ถ้าซีสต์มีขนาดใหญ่มาก ต้องลอกเนื้อรังไข่ออกไปมากก็อาจจะทำให้รังไข่ผลิตไข่ได้น้อยลงหรือผลิตไม่ได้เลยก็เป็นได้
👉ดังนั้นวิธีการรักษาซีสต์ที่เหมาะกับแต่ละคนนั้นจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของโรคและความต้องการในการรักษา ดังนั้นแม่ๆต้องไปพบแพทย์เพื่อพูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธี และวางแผนการรักษาร่วมกันก่อนเพื่อวางแผนสำหรับการมีบุตรต่อไปในอนาคตค่ะ
Comentários