แม่ๆ รู้มั้ยคะว่ามดลูกหย่อน หรือภาวะมดลูกต่ำคืออะไร ส่งผลอะไรต่อคนอยากมีลูกมั้ย วันนี้ครูก้อยจะพามาทำความเข้าใจกับภาวะดังกล่าวกันค่ะ
มดลูกหย่อนคืออะไร ทำไมต้องระวังเป็นพิเศษ
โดยปกติแล้วมดลูกจะต้องอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน เนื่องจากเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง มดลูกมีรูปร่างคล้ายกับลูกแพร์กลับด้าน มีกล้ามเนื้อห้อยอยู่ระหว่างกระดูกก้นกบกับกระดูกหัวหน่าวที่ทำหน้าที่ยึดมดลูก กระเพาปัสสาวะ และลำไส้ มีเอ็นและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันยึดมดลูกให้อยู่ในอุ้งเชิงกราน หากเนื้อเยื่อดังกล่าวถูกทำลายหรือไม่แข็งแรง จะทำให้มดลูกหย่อนลงไปที่ช่องคลอด จึงเรียกภาวะนี้ว่า มดลูกหย่อน หรือมดลูกต่ำ (Pelvic Organ Prolapse)
และเป็นสาเหตุหนึ่งของการแท้งบุตรได้ง่าย หากตรวจพบว่ามีภาวะมดลูกต่ำขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะให้คุณแม่นอนอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ทั้งนี้คุณแม่จะต้องดูแลตัวเองเต็มที่ นอนพักเฉยๆ ห้ามเดินมาก ห้ามยกของหนัก และห้ามมีเพศสัมพันธ์ในระยะนี้ หากรู้สึกปวดหลัง แนะนำให้ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่ปวดอาการเพื่อบรรเทาอาการ เมื่อมดลูกกลับเข้าที่แล้วจึงดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติค่ะ จริงอยู่ว่ามดลูกต่ำไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยากค่ะ ยกเว้นแต่ว่ามดลูกต่ำมากจริงๆ จนเคลื่อนลงมา นอกช่องคลอด และทำให้ไข่ฝังตัวเพื่อตั้งครรภ์ไม่ได้
มดลูกหย่อนมีกี่ระดับ
ถ้าเกิดว่ามีมดลูกหย่อนไม่มากอาจจะรักษาโดยการฝึกขมิบช่องคลอด แต่ถ้าเป็นหนักมากแนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาทางรักษาต่อไป โดยจะต้องผ่าตัดตามระดับความรุนแรง 4 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 เกิดภาวะมดลูกหย่อนมาที่ช่องคลอดครึ่งหนึ่ง
ระดับที่ 2 เกิดภาวะมดลูกหย่อนมาใกล้ปากช่องคลอด
ระดับที่ 3 เกิดภาวะมดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอด
ระดับที่ 4 เกิดภาวะมดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอดทั้งหมด (เรียกว่า มดลูกย้อย) ที่เกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทั้งหมดเสื่อมสภาพ
อาการโดยทั่วไปของภาวะมดลูกต่ำ
ภาวะมดลูกหย่อน จะแสดงอาการแตกต่างกันตามระดับความรุนแรง คุณผู้หญิงที่เกิดมดลูกหย่อนเล็กน้อย อาจไม่แสดงอาการใดๆ ส่วนผู้หญิงที่เกิดภาวะมดลูกหย่อนมาก หรือค่อนข้างรุนแรงไปถึงขั้นรุนแรงมาก อาจมีอาการเหล่านี้ค่ะ
รู้สึกหน่วงเหมือนถูกถ่วงที่อุ้งเชิงกรานตลอดเวลา หรือรู้สึกมีบางสิ่งโผล่ออกมาจากช่องคลอด บางครั้งจำเป็นต้องดันกลับเข้าไปข้างในช่องคลอด บางทีอาจรู้สึกเหมือนนั่งทับลูกบอลเล็กๆ อยู่ตลอดเวลา
มองเห็นเยื่อโผล่ออกมาจากช่องคลอด หรือมองเห็นมดลูกโผล่ออกมาจากช่องคลอด
รู้สึกไม่สบายตัว หรือลำบากขณะมีเพศสัมพันธ์
มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะช้า ปัสสาวะไม่สุด ต้องการปัสสาวะตลอดเวลา หรือปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จาม และการออกกำลังกาย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ท้องผูกบ่อยครั้ง และปวดหลังส่วนล่างมากเป็นพิเศษ
รักษาภาวะมดลูกหย่อนได้ด้วย 3 วิธี
1. ฝึกขมิบช่องคลอด
เริ่มจากเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน (เหมือนการกลั้นปัสสาวะ)
เกร็งค้างไว้และนับ 1-10 จากนั้นจึงคลายออกช้าๆ
ทำซ้ำ 10 ครั้ง ให้ได้ 3 เซ็ต/วัน และทำอย่างน้อย 4 วัน/สัปดาห์
2. การใส่ห่วงพยุงช่องคลอด (Pessary)
เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้มดลูกและกระเพาะปัสสาวะอยู่ในตำแหน่งเดิม มีลักษณะเหมือนโดนัทและทำมาจากยาง โดยแพทย์จะใส่อุปกรณ์เข้าไปในช่องคลอดและดันขึ้นไปข้างบน วิธีนี้จะช่วยป้องกันการหย่อนคล้อยได้ชั่วคราว แต่จำเป็นต้องถอดออกเพื่อทำความสะอาดเป็นประจำ และถอดออกทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์
3. การผ่าตัด
เหมาะสำหรับผู้ป่วยบางคนที่มีช่องผนังช่องคลอด, มดลูกหย่อน, กระเพาะปัสสาวะ และทวารหนักหย่อนค่อนข้างมาก ได้แก่ การทำรีแพร์, การผ่าตัดแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ด, การตัดมดลูก เป็นต้น
วิธีป้องกันมดลูกหย่อน
ฝึกขมิบเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนและหลังคลอดบุตร
หลีกเลี่ยงอาหารท้องผูก เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานเกร็ง
ควบคุมน้ำหนักโดยการทานอาหารที่มีโภชนาการที่ดีและออกกำลังกายเป็นประจำ
งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ไอเรื้อรัง จนกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานอ่อนแรงลง
หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือออกกำลังกายหักโหมเกินไป
สำหรับสตรีวัยหมดประจำเดือน ครูก้อยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เรื่องการบำบัดโดยการใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy: HRT)
Comentarios