top of page
ค้นหา

📣รวม 10 เทคโนโลยีรักษาผู้มีบุตรยาก


📣รวม 10 เทคโนโลยีรักษาผู้มีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยาก หมายถึง.....

🔸️การที่คู่สมรสไม่สามารถมีการตั้งครรภ์ได้

🔸️โดยที่ทำการบ้านกันอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง

🔸️และไม่ได้คุมกำเนิดมาเป็นระยะเวลา 1 ปี

🔸️หรือระยะเวลา 6 เดือนในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหญิงที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป

หากสำรวจแล้วครบตามเกณฑ์ข้างต้น ในทางการแพทย์คู่ของเราอยู่ในภาวะมีบุตรยากแล้วค่ะ สำหรับกรณีเช่นนี้ การท้องธรรมชาติอาจไม่ใช่หนทางที่จะทำให้เรามีเบบี๋ได้ง่ายซะแล้ว


อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์สามารถช่วยให้คู่สมรสที่มีบุตรยากหลายคู่ได้มีโซ่ทองคล้องใจ ดังนั้นอย่าลังเลที่จะจูงมือกันไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายเพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียด เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาวิธีการที่จะใช้รักษาต่อไปค่ะ

วันนี้ครูก้อยรวบรวมข้อมูล 9 เทคโนโลยีรักษาผู้มีบุตรยากมาให้ศึกษากันค่ะ อย่าลืมว่าก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษาไม่ว่าด้วยวิธีการใด การดูแลร่างกายให้แข็งแรง บำรุงร่างกายให้พร้อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จนะคะ


ครูก้อยขอให้ทุกคู่โชคดีมีเบบี๋ไวๆค่า (คลิกอ่านรายละเอียดที่รูปเลยค่ะ 👇👇👇👇)



1. กิน/ฉีดยากระตุ้นไข่ตก


🔸#การชักนำให้ไข่ตก (Ovulation induction) เป็นการใช้ยากระตุ้นการเจริญเติบโตของฟองไข่ (Follicle) จนถึงระยะที่เหมาะสมจนกระทั่งมีการตกไข่ (ovulation) หรือใช้ฮอร์โมนเพื่อชักนำให้เกิดการตกไข่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ตัวอสุจิที่ผ่านโพรงมดลูกเข้าไปยังท่อนำไข่จนพบกับไข่ที่ตกมาจากรังไข่และเกิดการปฏิสนธิต่อไป


🔸#จุดมุ่งหมาย คือ ต้องการให้มีไข่ตกเหมือนรอบธรรมชาติแต่มีความแน่นอนมากขึ้น เนื่องจากตามรอบธรรมชาติแม้จะมีประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอแต่พบว่ามีการตกไข่เพียงแต่ร้อยละ 80 เท่านั้น หมายความว่าในการมีประจำเดือนประมาณ 12-13 ครั้งในหนึ่งปีจะพบว่ามีไข่ตกเพียง 9-10 รอบเท่านั้นและจะน้อยกว่านี้ถ้าหญิงนั้นมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ แต่การใช้ยาจากภายนอกกระตุ้นนั้นจะพบไข่ตกได้ถึงร้อยละ 80-90 ดังนั้นการรักษานี้จึงเหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีปัญหาไข่ไม่ตก หรือในกรณีที่ไม่พบปัญหาชัดเจน


🔸 #ขั้นตอนการรักษาเป็นอย่างไร

1.เริ่มใช้ยากระตุ้นรังไข่ในช่วงต้นของรอบเดือน

2.ติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่

3.ชักนำให้ไข่ตกด้วยยาฮอร์โมนหรือตรวจหาวันไข่ตกด้วยแถบตรวจฮอร์โมนจากปัสสาวะ

4.กำหนดวันมีเพศสัมพันธ์หรือฉีดเชื้อผสมเทียม (ในกรณีที่ต้องการทำ IUI)


✅การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่สามารถใช้เพียงการรับประทานยาและกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์ได้เลย แต่ต้องประกอบด้วยส่วนที่สำคัญมากคือการติดตามและประเมินการเติบโตของฟองไข่หรือการตรวจด้วยวิธีต่างๆเพื่อหาวันไข่ตกซึ่งแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อให้การกำหนดวันไข่ตกมีความแม่นยำมากที่สุด


#การใช้ยากระตุ้นไข่ #ใช้ยาประเภทใดบ้าง

ยาที่ใช้มีทั้งยารับประทานและยาฉีด


#ยารับประทาน แพทย์มักให้เริ่มทานในช่วงวันที่ 3-5 ของการมีประจำเดือนวันละ 1-3 เม็ดเป็นระยะเวลา 5 วัน


#ส่วนยาฉีด มักใช้ร่วมกับยารับประทาน หรืออาจใช้ยาฉีดอย่างเดียวก็ได้ในบางกรณี

แต่ขนาดยาและวันที่ฉีดมีความแตกต่างได้ตามการปรับยาของแพทย์เพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน

ยาเหล่านี้เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ จึงไม่แนะนำให้ไปซื้อยาใช้เองเนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้


#การประเมินวันไข่ตกทำได้อย่างไร

แพทย์มักใช้การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่เป็นระยะตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการตรวจ 1-2 ครั้งในรอบเดือนนั้นๆ


#โดยทั่วไปในรอบธรรมชาติที่ไม่ได้ใช้ยากระตุ้น เมื่อฟองไข่โตจนกระทั่งเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 มิลลิเมตขึ้นไปก็จะเกิดการตกไข่


#แต่รอบที่ได้รับยากระตุ้น ขนาดของฟองไข่ก่อนการตกไข่มักจะโตกว่านั้นเล็กน้อย ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะใช้ความเชี่ยวชาญประเมินวันไข่ตกจากข้อมูลการตรวจอัลตราซาวด์แต่ละครั้ง

นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาวันไข่ตกด้วยการตรวจระดับฮอร์โมน LH ในปัสสาวะ ธรรมชาติของร่างกายมนุษย์จะผลิตฮอร์โมน LH ขึ้นมาจนถึงระดับสูงสุดประมาณ 1 วันก่อนการตกไข่ แต่มักจะไม่มีความแน่นอนว่าต้องเป็นวันที่เท่าไรในรอบเดือนนั้น ดังนั้นหลักการปฏิบัติในวิธีนี้จึงต้องคาดการณ์วันไข่ตกก่อนแล้วใช้การตรวจทั้งก่อนและหลังวันไข่ตกที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี และการตรวจวิธีนี้มีความแม่นยำร้อยละ 80-90


👉 การกำหนดวันไข่ตกอีกวิธีหนึ่งคือ #การฉีดยากระตุ้นการตกไข่ แพทย์จะวัดขนาดฟองไข่จากการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดก่อน เมื่อได้ขนาดที่เหมาะสมแล้วแพทย์จะฉีดยากระตุ้นการตกไข่และหลังจากนั้นอีกประมาณ 34-46 ชั่วโมงจะเกิดการตกไข่


🚩ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ฉีดเชื้อผสมเทียมหรือมีเพศสัมพันธ์หลังการฉีดยากระตุ้นการตกไข่ประมาณ 36 ชั่วโมง


ระหว่างการตรวจระดับฮอร์โมน LH ในปัสสาวะกับการฉีดยากระตุ้นการตกไข่อาจมีผู้สงสัยว่าวิธีใดดีกว่ากัน ได้มีการวิจัยเปรียบเทียบแล้วพบว่ามีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไปตามปัญหาพื้นฐานของผู้ป่วยแต่ละคน รวมทั้งเทคนิคในการกระตุ้นไข่แต่ละแบบ ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย


#โอกาสประสบความสำเร็จมีมากเพียงใด

โดยปกติโอกาสการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติในคู่สมรสมีประมาณร้อยละ 30 ดังนั้นโอกาสการตั้งครรภ์ในคู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากที่ใช้การรักษาวิธีนี้ก็ไม่สามารถจะมากกว่าร้อยละ 30 ไปได้ โดยเฉลี่ยโอกาสการตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-20 ต่อรอบเดือน ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้ทำการชักนำให้ไข่ตกซ้ำประมาณ 3-6 รอบเดือนก่อนจะเปลี่ยนไปรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไป


#การกินยากระตุ้นไข่มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่

จุดมุ่งหมายของการชักนำให้ไข่ตกนั้นต้องการให้มีไข่ตกเพียง 1 ใบเท่านั้น แต่การตอบสนองต่อยากระตุ้นไข่ในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน ทำให้บางรายมีไข่ตกมากกว่า 1 ใบต่อรอบ จึงพบโอกาสการตั้งครรภ์แฝดจากการรักษาด้วยวิธีนี้ประมาณร้อยละ 5-8 ซึ่งมากกว่าตามธรรมชาติ


การตั้งครรภ์แฝดนี้ถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของการรักษานี้ เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อทั้งมารดาและทารก


⭐อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้ทำการรักษานั้นจะแจ้งเตือนผู้ป่วยก่อนเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารอบใดคาดว่าจะมีไข่ตกมากกว่า 1 ใบ เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการรักษาในรอบนั้นๆ


🔹สุดท้ายในวันไข่ตกต้องมีตัวอสุจิว่ายเข้าไปในโพรงมดลูกจนถึงท่อนำไข่เพื่อเจาะเข้าไปในไข่ให้เกิดการปฏิสนธิตามมา โดยอาจมีเพศสัมพันธ์ตามปกติหรือใช้การฉีดเชื้อผสมเทียมก็ได้ พิจารณาตามความเหมาะสมของปัญหาในผู้ป่วยจึงจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ค่ะ


กล่าวโดยสรุปการกินยากระตุ้นไข่ช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้เพราะเป็นการช่วยให้ไข่เจริญเติบโตและตกลงมาแน่นอนขึ้น อย่างไรก็ตามยังต้องอาศัยตัวอสุจิที่แข็งแรงจากฝั่งคุณพ่อด้วยจึงจะปฏิสนธิและมีโอกาสตั้งครรภ์ต่อไปค่ะ


✅ในการตั้งครรภ์นั้น การเตรียมตัวดูแลร่างกายให้พร้อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ อย่าลืมใส่ใจเรื่องโภชนาการการทานอาหารบำรุงไข่ บำรุงสเปิร์ม ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงควบคู่ไปกับการปรึกษาแพทย์นะคะ





2. ฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก IUI


การคัดแยกเชื้ออสุจิ เพื่อฉีดเข้าโพรงมดลูก (IUI : Intra Uterine Insemination)

การฉีดน้ำเชื้อ เข้าสู่โพรงมดลก (IUI) คือ การนำเชื้ออสุจิ ที่ได้รับการปั่นคัดเลือกตัวที่แข็งแรง ฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง โดยใช้ท่อพลาสติกขนาดเล็กๆ สอดผ่านปากมดลูก แล้วฉีดเชื้อ ในช่วงเดียวกันกับการตกไข่ ช่วยให้ตัวอสุจิว่ายขึ้นไป ที่ท่อนำไข่ และผสมกับไข่ง่ายขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีที่เพิ่มอัตราการความสำเร็จ ของการตั้งครรภ์ จะมากกว่าวิธีธรรมชาติ

การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (Intrauterine insemination, IUI)


• การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก เป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ใกล้เคียงกับวิธีธรรมชาติอีกวิธีหนึ่ง โดยหลักการน้ันคือ การฉีดน้ำเชื้อที่ได้รับการคัดแยกเฉพาะส่วนที่มีชีวิตแล้วฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกในขณะที่มีการตกไข่ หลังจากน้ันตัวอสุจิจะว่ายจากโพรงมดลูกเข้าไปในท่อนำไข่เพื่อไปพบกับไข่ในส่วนกลางของท่อนำไข่ เมื่อไข่และอสุจิผสมกันเป็นตัวอ่อนแล้ว ตัวอ่อนจึงจะเดินทางมาฝังตัวในมดลูก ดังน้ันในกรณีที่มีการตกไข่เพียงแค่หนึ่งใบ โอกาสในการตั้งครรภ์จึงใกล้เคียงธรรมชาติมาก ในกรณีที่ใช้ยากินหรือยาฉีดเพื่อให้มีไข่ตกมากกว่าหนึ่งใบ จะทำให้มีโอกาสของการตั้งครรภ์มากขึ้นได้ อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้ว โอกาสในการตั้งครรภ์จากการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกนั้นมีอยู่ประมาณ 10-25% ต่อการฉีดหนึ่งรอบของการตกไข่


• การฉีดน้ำเชื้อนั้นสามารถทำได้ในภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากสาเหตุหลายอย่างเช่นฝ่ายหญิงมีปัญหาไข่ไม่ตกชนิดธรรมดา หรือมีปัญหาฝ่ายชายน้ำเชื้ออ่อนในเกณฑ์ไม่รุนแรง หรือในรายที่มีปัญหาเรื่ิองของเวลามีเพศสัมพันธ์เนื่องจากการแยกกันอยู่ หรือมีปัญหามีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ นอกจากนี้การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกยังเหมาะกับคู่สมรสที่ตรวจหาสาเหตุไม่พบ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Unexplained infertility


• โดยพบว่าในกลุ่มของคู่สมรสที่ตรวจไม่พบสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก ฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 35 ปี และได้พยายามในการมีบุตรมาอย่างน้อย 2 ปี โดยที่ฝ่ายชายน้ำเชื้อเป็นปกติดีน้ัน จะมีโอกาสตั้งครรภ์จากการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกประมาณ 8-12% ต่อการฉีดหนึ่งรอบประจำเดือน และมักจะตั้งครรภ์ในการฉีด 3 ครั้งแรกเท่านั้น หลังจากสามครั้งแล้วโอกาสตั้งครรภ์จากการฉีดน้ำเชื้อครั้งที่สี่มีน้อยมาก แต่พบว่าคู่สมรสกลุ่มนี้เมื่อทำเด็กหลอดแก้ว จะมีโอกาสในการตั้งครรภ์ประมาณมากกว่า 50% ต่อการกระตุ้นไข่หนึ่งครั้ง

โอกาสการฉีดเชื้อตั้งครรภ์มีมากกว่าตามธรรมชาติ

โอกาสสำเร็จในการฉีดแต่ละครั้งคือ 10-15 % ซึ่งมากกว่าวิธีมีเองตามธรรมชาติ (3-4 % ต่อเดือน) ความสำเร็จของการฉีดเชื้อ จะมากกว่าธรรมชาติประมาณ 3-5 เท่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้าน เชื้ออสุจิ, ฟองไข่, รวมถึงเยื่อบุโพรงมดลูก


✅ผู้ที่เหมาะจะเข้ารับการรักษาโดยการฉีดเชื้อ


👩ฝ่ายหญิง

1. ควรจะอายุน้อยกว่า 30 ปี หากอายุมากขึ้นความสำเร็จจะลดลง

2. มีปัญหาปากมดลูกหรือคอมดลูกตีบ

3. มีภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือ PCOS

4. ท่อนำไข่ต้องปกติทั้งสองข้าง หรืออย่างน้อยต้องดีหนึ่งข้าง


🧑ฝ่ายชาย

มีเชื้ออสุจิที่วิ่งดีมากเพียงพอมากกว่ากว่า 5 ล้านตัวขึ้นไป


✅ขั้นตอนเตรียมตัวก่อนรักษา

ฝ่ายหญิงและชาย รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ เสริมด้วยวิตามินที่เหมาะสม, ควรพักผ่อนเพียงพอ โดยนอนหลับอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, งดการสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา ให้ร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมน การรักษาได้ดียิ่งขึ้น, ปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด


🚩โอกาสประสบความสำเร็จ

โอกาสการตั้งครรภ์จากการคัดเลือกเชื้อฉีดเข้าสู่โพรงมดลูกคือ 15-20 % ต่อรอบการรักษา ซึ่งขึ้นกับอายุของคู่สมรส, คุณภาพของน้ำเชื้อ, จำนวนฟองไข่ที่ตกในแต่ละรอบ, และสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก การตั้งครรภ์หลังจากฉีดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งครรภ์เดี่ยว มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดประมาณ 10-15% โดยรวมวิธีนี้จะมีอัตราความสำเร็จมากกว่าการลองด้วยวิธีธรรมชาติประมาณ 3-5 เท่า




3. ทำเด็กหลอดแก้ว IVF / ICSI


IVF และ ICSI คืออะไร และมีข้อแตกต่างกันอย่างไร

IVF (In Vitro Fertilization) คืออะไรหลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า “เด็กหลอดแก้ว” คำนี้มาจากภาษาลาติน In Vitro ที่แปลว่า ภายนอกร่างกายมนุษย์ ซึ่งในที่นี้ หมายถึงภายในหลอดแก้ว หรือภายในหลอดทดลองนั่นเอง


In Vitro Fertilization ( IVF ) เป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีการนำเชื้ออสุจิและไข่ออกจากร่างกาย และมีการปฏิสนธิกันภายนอกร่างกาย แต่เดิมทำในหลอดทดลองหรือหลอดแก้ว จึงหมายถึงการปฏิสนธิในหลอดแก้ว ซึ่งในปัจจุบันมักใช้จานเพาะเลี้ยง (Plate) ในการปฏิสนธิแทน วิธีการคือ หลังจากนำเซลล์ไข่และตัวอสุจิไปวางผสมกันในจานเพาะเลี้ยง โดยปล่อยให้ตัวอสุจิว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่เองตามธรรมชาติ เมื่อตัวอสุจิสามารถปฏิสนธิกับไข่ได้แล้ว จะพัฒนาต่อเป็นตัวอ่อนขนาดเล็ก โดยตัวอ่อนที่ได้จากกระบวนการนี้ จะถูกเลี้ยงอยู่ในตู้เพาะเลี้ยงจนถึงระยะที่เหมาะสม และนำไปย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการฝังตัว หรือตั้งครรภ์นั้นเอง


🔹 ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection) คืออะไร แตกต่างกับ IVF อย่างไร?


ICSI คือ การช่วยการปฏิสนธิโดยวิธีฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่มักนำมารักษาภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่สามีมีอสุจิผิดปกติหรืออสุจิไม่แข็งแรงหรือในคู่ที่เคยประสบผลล้มเหลวจากการปฏิสนธิของไข่และตัวอสุจิในการทำเด็กหลอดแก้ว เป็นเทคนิคที่ถูกพัฒนาและคิดขึ้น เพื่อแก้ไขจุดด้อยของวิธีการ IVF เนื่องจากพบปัญหาว่าหลังทำ IVF มีบางกลุ่มที่เชื้อไม่สามารถเจาะเปลือกไข่ได้เอง อาจจะเนื่องจากตัวเชื้อไม่แข็งแรง, คุณภาพต่ำ, ตัววิ่งของตัวเชื้อไม่ดี, หรือกรณีฝ่ายหญิงมีปัญหาเรื่องเปลือกไข่หนาจนอสุจิเจาะเข้าไปไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์สามารถช่วยเชื้อได้โดย จะคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์เพียงตัวเดียว และใช้เข็มแก้วที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็ก ๆ แบบเจาะเปลือกไข่ ฉีดตัวเชื้อเข้าไปในเซลล์ของไข่โดยตรง ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเรียกว่า วิธีอิ๊กซี่ (ICSI) ปัจจุบันเป็นวิธีที่รับความนิยมทั่วโลก เนื่องจากสามารถเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ (Fertilization Rate) ได้มากกว่ากระบวนการ IVF ทำให้เราประสบผลสำเร็จมากขึ้น


ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง 2 กระบวนการนี้คือวิธีการที่ตัวอสุจิจะเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ สำหรับ IVF นั้นเซลล์ไข่และตัวอสุจิ (ซึ่งมีหลายตัว) ถูกนำไปวางผสมกันในจานเพาะเลี้ยงโดยปล่อยให้ตัวอสุจิว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่เองตามธรรมชาติ อสุจิที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะสามารถทำการปฏิสนธิกับไข่ได้


✅สำหรับ ICSI จะคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์เพียงตัวเดียว และใช้เข็มแก้วที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็ก ๆ แบบเจาะเปลือกไข่ ฉีดตัวเชื้อเข้าไปในเซลล์ของไข่โดยตรง


ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ วิธี ICSI สามารถเพิ่มอัตราการปฏิสนธิให้ผลเป็นที่น่าพอใจ และช่วยลดปัญหาการปฏิสนธิที่ผิดปกติ เช่น การปฏิสนธิจากอสุจิหลายตัวและอสุจิไม่สามารถเจาะเปลือกไข่ ได้เอง เป็นต้น

ขั้นตอนในการทำ


หลังจากฝ่ายหญิงได้รับการกระตุ้นไข่ประมาณ 9-14 วัน เพื่อให้ได้เซลล์ไข่จำนวนหลายใบซึ่งมีคุณภาพที่ดีแล้ว แพทย์จะทำการเจาะเก็บไข่ออกมาเพื่อย้ายไปใส่ในน้ำยาเลี้ยงและเก็บไว้ในเครื่องมือพิเศษสำหรับเลี้ยงตัวอ่อน ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซต่างๆ เพื่อให้ได้สภาวะที่เหมาะสมที่สุดต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ไข่ หลังจากปล่อยให้ไข่ได้เจริญเติบโตต่อจนถึงระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนจะนำไข่เหล่านั้นมาผสมกับอสุจิที่ผ่านการเตรียมและคัดแยกเฉพาะอสุจิที่สมบูรณ์ โดยห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อสุจิ จากนั้นนำมาเก็บไว้ในเครื่องมือพิเศษสำหรับเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อปล่อยให้อสุจิได้ทำการปฏิสนธิกับไข่และทำการตรวจผลการปฏิสนธิหลังจากนั้นประมาณ 16-18 ชั่วโมง


👉วิธีนี้เหมาะสำหรับ

- ฝ่ายหญิงมีความผิดปกติของท่อนำไข่ที่ตีบหรือตันทั้งสองข้าง

- ฝ่ายหญิงมีภาวะตกไข่ผิดปกติ

- ฝ่ายหญิงมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือมีพังผืดในอุ้งเชิงกรานมาก

- ผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม

- ฝ่ายชายมีภาวะมีบุตรยาก รวมถึงเชื้ออสุจิมีจำนวนน้อยหรือคุณภาพไม่ดี

- ภาวะมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ


💥ข้อดีของการทำเด็กหลอดแก้ว

การทำเด็กหลอดแก้วจะเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์มากขึ้น ใช้แก้ปัญหาในกรณีคุณผู้หญิงมีปัญหาท่อนำไข่ตัน มีพังผืดขวางทางระหว่างไข่กับทางเข้าท่อนำไข่ หรือท่อนำไข่เสียหาย มีปัญหาเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ขั้นรุนแรง หรือปัญหาทางกายวิภาคอื่นๆ ที่ทำให้ไข่ไม่สามารถตกเข้าท่อนำไข่ได้


🔸 การเลี้ยงตัวอ่อนถึงระยะบลาสโตซิสท์

Blastocyst culture คือกระบวนการเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกาย โดยเริ่มจากการปฏิสนธิไข่และอสุจิในห้องปฏิบัติการจนได้เป็นตัวอ่อน โดยจะเลี้ยงตัวอ่อนต่อไปอีก 5-6 วัน จนกระทั่งตัวอ่อนสามารถเจริญเติบโตจนได้เป็นตัวอ่อนในระยะ blastocyst ซึ่งตัวอ่อนระยะนี้จะมีการแบ่งชนิดของเซลล์ออกเป็น 2 ชนิดคือ เซลล์ที่จะเจริญไปเป็นทารก (inner cell mass) และเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นรก (trophectoderm) ซึ่งเป็นระยะที่พร้อมจะฝังตัว

ขั้นตอนในการทำ


✔กระบวนการเลี้ยงตัวอ่อนเพื่อให้ได้ blastocyst นั้นจะต้องเพาะเลี้ยงภายในห้องปฏิบัติการที่ปลอดเชื้อโดยการควบคุมอุณหภูมิ แสงสว่าง ความชื้นและแรงดัน ตัวอ่อนจะถูกเลี้ยงในน้ำยาพิเศษที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนไปจนถึงระยะ blastocyst ตัวอ่อนจะถูกนำไปเลี้ยงภายในตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่มีอุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรด-ด่าง และก๊าซ ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งกระบวนการเลี้ยงตัวอ่อนนี้จะเป็นกระบวนการเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับสภาวะภายในร่างกายมากที่สุด


✅ข้อดี

การย้ายกลับตัวอ่อนระยะ blastocyst ทางโพรงมดลูกนั้นเหมาะสมที่จะฝังตัวมากที่สุดเพื่อที่จะได้มีอัตราการฝังตัวสูงที่สุด เนื่องจากในภาวะการตั้งครรภ์โดยธรรมชาตินั้น ตัวอ่อนจะเดินทางไปถึงโพรงมดลูกเพื่อที่จะฝังตัวในระยะ blastocyst เช่นกัน


🔹 การทำ Embryo Transfer

การย้ายตัวอ่อนในรอบสดและรอบแช่แข็ง (Fresh/Frozen Embryo Transfer)


ในการรักษาผู้ป่วยที่ มีบุตรยาก จะมีขั้นตอนของกระตุ้น จำนวนของเซลล์ไข่ ด้วยการฉีดยาฮอร์โมน ในกลุ่มโกนาโดโทรฟิน เช่น ฮอร์โมน LH (Luteinizing Hormone), และ FSH (Follicle Stimulating Hormone) ดังนั้น การตกไข่ในรอบ ของการรักษา ด้วยการฉีดยากระตุ้น จึงมีจำนวนมากกว่า การตกไข่ ในรอบธรรมชาติ


เมื่อขั้นตอนของ การเก็บไข่ (Oocyte Pick Up) สิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่ ในห้องปฏิบัติการ (LAB) จะนำไข่ที่ได้ ไปปฏิสนธิกับสเปิร์ม ด้วยวิธี ICSI ซึ่งภายหลัง จากการปฏิสนธิ คนไข้มีโอกาส ที่จะมีตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัว ซึ่งเป็นจำนวน ที่สูงกว่าการตั้งครรภ์ ตามธรรมชาติ ที่จะมีการตกไข่เพียง แค่ฟองเดียว หรือ มีตัวอ่อนเพียง หนึ่งตัวเท่านั้น ดังนั้น คนไข้จึงสามารถ เลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์ ที่สุดในการย้ายเข้าสู่ โพรงมดลูก และตัวอ่อนที่เหลือ ยังสามารถเก็บไว้ใช้ ในอนาคตได้อีก


🔹การแช่แข็งตัวอ่อนมีประโยชน์อย่างไร

หากคนไข้วางแผน ที่จะมีบุตรเพิ่มในอนาคต หรือในกรณีที่ ไม่ประสบความสำเร็จ ในการตั้งครรภ์ คนไข้สามารถ ใช้ตัวอ่อนที่แช่แข็งเก็บไว้ได้ ดังนั้น จึงเป็นการประหยัด ค่าใช้จ่ายให้กับคนไข้ โดยที่ไม่ต้องเริ่มขั้นตอนการรักษาใหม่ทั้งหมด




4. การเก็บอสุจิจากฝ่ายชายด้วยวิธี


🟠PESA/MESA/TESA/TESE

ในกรณีที่ฝ่ายชายเป็นหมันโดยที่ไม่พบตัวอสุจิในน้ำเชื้อที่หลั่งออกมาเลยอาจมีหลากหลายสาเหตุ เช่น จากการอุดตันของท่อนำอสุจิ


การไม่มีท่อนำอสุจิมาตั้งแต่กำเนิด การมีปัญหาการหลั่ง หรืออสุจิที่หลั่งออกมาไม่มีชีวิตทั้งหมด การอักเสบของอัณฑะที่เกิดจากเชื้อไวรัสคางทูม หรือจากสาเหตุอื่น เป็นผลให้ผู้ประสบปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถมีบุตรของตนเองได้ นอกจากการใช้อสุจิจากน้ำเชื้อของผู้บริจาคเท่านั้น


ซึ่งวิทยาการทางการแพทย์และความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถช่วยผู้ประสบปัญหาเหล่านี้สามารถมีบุตรได้ โดยวิธี PESA และ วิธี TESE เพื่อให้ได้ตัวอสุจิ (Sperm) โดยตรงจากอัณฑะเพื่อที่จะนำตัวอสุจิที่ได้ไปผสมกับไข่ในกระบวนการปฏิสนธิภายนอกร่างกายต่อไป (ICSI)


🔹ภาวะหมันในผู้ชาย (Male sterility)

สามารถพบได้จากหลายสาเหตุ เช่น สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ใช้ชีวิตไม่เหมาะสม รวมถึงความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดคือท่อส่งอสุจิไม่มีหรืออุดตัน หรือได้รับอุบัติเหตุหรือติดเชื้อบริเวณลูกอัณฑะทำให้เป็น “หมัน”

ทำหมันถาวรแล้วแต่อยากมีลูกอีก

ผู้ชายที่มีบุตรแล้ว ไม่ต้องการมีลูกอีก และไปทำ “หมันถาวร” แล้วแต่ต่อมาอยากมีลูกอีกจะต้องทำอย่างไร?


กรณีไม่ใช่ทำหมันถาวร แพทย์ต้องหาสาเหตุก่อนว่าเกิดจากลูกอัณฑะ (Testis หรือ Testes) ซึ่งเปรียบเสมือนโรงงานผลิตน้ำอสุจิ (Semen) ไม่สามารถผลิตอสุจิได้ หรือว่าเกิดปัญหาจากการลำเลียงอสุจิจากลูกอัณฑะไปสู่ถุงพักอสุจิ (Epididymis) อุดตัน หากสาเหตุเกิดจากการสร้างอสุจิมีปัญหาการรักษาค่อนข้างยาก ถึงแม้ว่าจะมียาบางชนิดที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างอสุจิขึ้นมาได้ แต่หวังผลได้ค่อนข้างน้อย


ส่วนกรณีที่เป็นหมันเนื่องจาก ท่อลำเลียงอสุจิ (Vas deferens) อุดตัน การรักษาค่อนข้างง่าย โดยแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเอาน้ำอสุจิจากท่อพักอสุจิหรือดูดเนื้ออัณฑะจากลูกอัณฑะ เพื่อไปคัดหาเซลล์อสุจิ (Sperm) แล้วนำผลไปผสมกับเซลล์ไข่โดยวิธีอิ๊กซี่ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) ที่ได้ผลสำเร็จดีมากในกรณีที่ฝ่ายหญิงอายุน้อยกว่า 38 ปี โอกาสสำเร็จมากกว่า 50% ต่อรอบการรักษา ในกรณีผู้ชายที่ทำหมันถาวรแล้วโดยการตัดและผูกท่อนำอสุจิทั้ง 2 ข้าง ทางการแพทย์แนะนำว่าถ้าท่านทำหมันชายมากกว่า 10 ปี ไม่แนะนำให้ต่อหมัน เพราะโอกาสสำเร็จน้อยมากหรือถ้าท่านอายุมากกว่า 60 ปี ไม่แนะนำให้ต่อหมันเช่นเดียวกัน ทางเลือกคือการทำ PESA


วิธีการเก็บอสุจิมีหลายวิธี ได้แก่

👉 PESA (Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration) เป็นวิธีการใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในท่อพักน้ำเชื้อ แล้วดูดตัวอสุจิออกมา เมื่อพบตัวอสุจิแล้วจึงนำเอามาปฏิสนธิกับไข่โดยขบวนการ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection)


👉 MESA (Microsurgical Epididymal Sperm Aspiration) เป็นวิธีการผ่าตัดโดยใช้กล้องเข้าไปที่ท่อเก็บกักตัวอสุจิ หรือ epididymis เพื่อเอาน้ำอสุจิออกมา


👉 TESE (Testicular Sperm Extraction) เป็นวิธีการตัดเนื้ออัณฑะออกมาขนาดเล็ก แล้วแยกตัวอสุจิที่อยู่ในเนื้ออัณฑะออกมาโดยใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อนำไปทำ ICSI ต่อไป


👉TESA (Testicular Sperm Aspiration) เป็นวิธีการเก็บจากลูกอัณฑะโดยใช้เข็มขนาดเล็กดูดเนื้อลูกอัณฑะออกมา ใช้ในกรณีที่เก็บจาก epididymis แล้วไม่พบตัวอสุจิ จึงมาเก็บที่ลูกอัณฑะอีกต่อหนึ่ง




5. การคัดเลือกตัวอสุจิที่ดีที่สุดด้วยวิธี IMSI/MACs/HA-ICSI


🟠การเตรียมเชื้ออสุจิ

ในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วโดยการปฏิสนธิแบบ ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection) เป็นขั้นตอนสำคัญในการเลือกตัวเชื้ออสุจิที่สมบูรณ์เข้าไปปฏิสนธิกับไข่โดยตรง ดังนั้นการเลือกตัวเชื้อให้ได้ตัวที่มีคุณภาพจะช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ (Fertilization Rate), อัตราการพัฒนาตัวเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซิส (Blastocyst Rate), ได้ตัวอ่อนที่ปกติ (Euploid Embryos) ให้เพิ่มขึ้น, ลดอัตราภาวะแท้งบุตร (Miscarriage Rate), ได้ตัวเชื้อที่ตาย หรือไม่สมบูรณ์ (Apoptotic Sperm ) จะมีความเสียหายที่ DNA จนซ่อมแซมไม่ได้ และจะพบการแตกของชิ้นส่วนของนิวเคลียสที่เรียกว่า DNA Damage หรือ DNA Fragmentation หากนำเชื้อเหล่านี้ไปใช้ปฏิสนธิ จะได้ตัวอ่อนไม่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ อัตราการตั้งครรภ์ที่ต่ำ

ปัจจุบันเรามีวิธีการคัดเลือกเชื้อแบบพิเศษหลายแบบ ที่ได้รับความนิยมและได้ผลดีมีดังนี้


- IMSI (Intracytoplasmic Morphologically Selected Sperm Injection)

- MACS Sperm (Magnetic-Activated Sorting Sperm)

- HA-ICSI (Hyaluronan Acid)


🔹 IMSI (Intracytoplasmic Morphologically Selected Sperm Injection)

IMSI (Intracytoplasmic Morphologically Selected Sperm Injection) อิมซี่เป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการคัดเลือกอสุจิด้วยกล้องจุลทรรศน์ ที่มีกำลังขยายสูงตั้งแต่ 6,000 – 12,000 เท่า เพื่อให้ได้อสุจิที่มีลักษณะดี และเหมาะสมที่สุดมาทำการผสมกับเซลล์ไข่ต่อไป

ช่วยเพิ่มความสำเร็จการทำเด็กหลอดแก้วสูงขึ้น เทคนิค IMSI นี้ จะช่วยให้สามารถมองเห็นรูปร่างลักษณะของอสุจิได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยสามารถมองเห็น vacuole ที่หัวของอสุจิได้ ซึ่งการพบ vacuole ที่หัวของอสุจินั้นเป็นลักษณะที่บ่งชี้ว่า อสุจิตัวดังกล่าวอาจมีชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมที่แตกหัก (DNA fragmentation) การนำอสุจิลักษณะนี้ผสมเข้าไปในเซลล์ไข่ จะส่งผลทำให้ตัวอ่อนที่ผสมได้ไม่สมบูรณ์ และอาจทำให้ไม่เกิดการฝังตัวในโพรงมดลูก หรือฝังตัวแล้วเกิดการแท้งได้ ซึ่งแตกต่างกับการทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) ที่ใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายเพียง 200-400 เท่า เท่านั้น จึงจะไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดบริเวณส่วนหัวของอสุจิได้ดีนักเมื่อเทียบกับการทำ IMSI


🔸ประโยชน์ของการทำ IMSI

- เพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์หรือเพิ่มอัตราการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก

- เพิ่มปริมาณตัวอ่อนที่มีรูปร่างปกติ

- เพิ่มอัตราการเจริญเป็น blastocyst

- ลดภาวะแท้ง

- ลดอัตราส่วนของตัวอ่อนที่หยุดการเจริญเติบโต


🔸IMSI เหมาะกับคนไข้กลุ่มใดบ้าง

- คู่สมรสที่มีปัญหาด้านมีบุตรยากอันเกิดมาจากฝ่ายชาย เช่น– ฝ่ายชายมีความผิดปกติทางด้านจำนวนหรือคุณภาพของอสุจิ

* มีผลการตรวจ DNA fragmentation ในปริมาณที่สูง

- คู่สมรสที่เคยทำ IVF หรือ ICSI แล้วล้มเหลว

- คู่สมรสที่เคยทำ IVF หรือ ICSI แล้วเกิดการแท้ง

- คู่สมรสที่เคยมีอัตราการปฏิสนธิจากการทำ ICSI อยู่ในเกณฑ์ต่ำ


🔹MACS Sperm (Magnetic activated cell sorting Sperm)

เป็นวิธีการคัดเลือกเชื้ออสุจิตัวที่แข็งแรงสมบูรณ์ (Non-Apoptotic sperm) โดยอาศัยหลักการคือ เชื้ออสุจิที่ตายหรือเสียหาย (Apoptotic Sperm) เซลล์หุ้มผิวจะแตกขาดจากกัน ทำให้มีสาร Phosphatidylserine (PS) รั่วออกจากตัวเชื้อมาที่ผิว ซี่งเป็นตัวที่ช่วยบ่งว่า ตัวเชื้อนั้นไม่มีคุณภาพแล้ว สาร PS จะจับติดแน่นกับตัว Annexin V ได้ดีมาก ๆ โดยหลักการข้างต้น เมื่อนำเอาตัวเชื้อให้วิ่งผ่านช่องขนาดเล็ก ที่มีการเคลือบด้วยสารแม่เหล็กและ Annexin V ค่อยเป็นตัวดูดและดักจับกับเชื้ออสุจิที่ตาย ให้เข้ามาติดแน่น ไม่สามารถวิ่งผ่านไปได้ ดังนั้นจะเหลือเฉพาะตัวเชื้อที่ สมบูรณ์ แข็งแรงดีเท่านั้นที่ผ่านช่องนี้ออกมา และสามารถนำไปใช้ ICSI ต่อไปได้


🔸ผู้ที่ควรใช้วิธี MACS Sperm

1. คู่ที่เคยรักษาเด็กหลอดแก้ว IVF/ICSI แล้วพบผลการปฏิสนธิ หรืออัตราการเจริญเติบโตของตัวอ่อนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ตัวอ่อนหยุดพัฒนาตัวกว่าระยะที่เหมาะสม คุณภาพหรือเกรดตัวอ่อนไม่ดี หรือล้มเหลวจากการย้ายตัวอ่อนหลายรอบ

2. คู่ที่ฝ่ายชายเคยมีประวัติตรวจพบอสุจิ มีปัญหาด้านคุณภาพ เช่น มีตัวเชื้อตายจำนวนมาก ตัวอสุจิมีรูปร่างผิดปกติมาก ตัววิ่งผิดปกติ ตัวอสุจิตรวจพบการแตกเสียหายของนิวเคลียสสูง DNA Fragment Index > 30% เป็นต้น


🔸ประโยชน์ที่ได้จากการใช้ MACS Sperm

งานวิจัยหลายฉบับพบข้อมูลตรงกันว่า การใช้วิธี MACS Sperm นั้นช่วยคัดเลือกเชื้อที่คุณภาพดี และสมบูรณ์ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2-3 เท่า และลดจำนวนเชื้อที่ตายลงได้มาก เมื่อเทียบกับการเตรียมแบบวิธีธรรมดา

- สามารถช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ และพัฒนาตัวเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสได้ดีขึ้น

- ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น

- ช่วยลดภาวะแท้งบุตรลงได้ เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้


🔹 HA-ICSI

Hyaluronan Acid (HA) เป็นสารโปรตีนที่อยู่ล้อมรอบผิวของเซลล์ไข่ที่ปกติ ในกระบวนการปฏิสนธิตามธรรมชาติ ตัวเชื้อที่สมบูรณ์แข็งแรงเท่านั้นที่จะมาจับกับสาร HA นี้ได้ หลังจากนั้นตัวเชื้อจะเคลื่อนตัวผ่านเข้าไปในเซลล์ไข่ผสมกับนิวเคลียส และเกิดการพัฒนาตัวเป็นตัวอ่อนเกิดขึ้น

ปัจจุบันเราจึงใช้ประโยชน์ โดยใช้สาร HA ดังกล่าวมาหยดลงบนจานเพาะเลี้ยงที่มีอสุจิอยู่ เพื่อให้สาร HA ทำปฏิกิริยาจับกับที่อสุจิดี ช่วยคัดตัวเชื้อที่แข็งแรง สมบูรณ์และนำไปใช้ทำ ICSI ที่เรียกเทคนิคนี้ว่า HA-ICSI


🔸ประโยชน์ที่ได้จากการใช้ HA-ICSI

การศึกษาส่วนใหญ่โดยรวมสนับสนุนประโยชน์ที่ได้จากการใช้วิธีนี้ ช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ ช่วยทำให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตถึงระยะคลีเวจ และบลาสโตซิสได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังเพิ่มอัตราฝังตัวและอัตราการตั้งครรภ์ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ รวมถึงลดอัตราการแท้งบุตรได้


👉เปรียบเทียบวิธี MACS Sperm กับ HA-ICSI

ทั้ง MACS Sperm และ HA-ICSI ทั้งสองวิธีนี้เป็นวิธีที่คัดเลือกเชื้อที่สมบูรณ์แข็งแรง ก่อนเข้าสู่กระบวนการปฏิสนธิ (ICSI) ทั้งสองวิธีมีจุดเด่นและข้อดีคนละด้าน คือ MACS Sperm ดีในแง่ที่เลือกเชื้อที่จากรูปร่างและนิวเคลียสสมบูรณ์ ไม่มีการแตกของสารพันธุกรรม ส่วน HA-ICSI คัดเชื้อจากการทำงานของเชื้อที่จับตัวกับสาร HA ที่อยู่บนผิวไข่ได้ดี ซึ่งเป็นวิธีที่คัดเชื้อเลียนแบบวิธีธรรมชาติ




6. การใช้ตู้เลี้ยงตัวอ่อนแบบพิเศษ

ปกติการเลี้ยงตัวอ่อน หากไม่ใช้ตัวเลี้ยงแบบพิเศษ ตัวอ่อนก็จะถูกเลี้ยงรวมกันในห้องรวม นึกถึงเราต้องนอนร.พ.แบบห้องรวมอ่ะค่ะ แต่ถ้าเราจองห้องพิเศษก็จะได้รับการดูแลพิเศษ แยกห้องเดี่ยว ติดตามการเจริญเติบโตของตัวอ่อนอย่างใกล้ชิดนั่นเองค่ะ


เทคโนโลยีตู้เลี้ยวตัวอ่อนแบบพิเศษมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับความทันสมัยของคลินิกนั้นๆ เช่น


👉ตู้เลี้ยงตัวอ่อน EmbryoScope Plus เป็นตู้เลี้ยงตัวอ่อนแบบพิเศษที่ผนวกความสามารถของตู้เพาะเลี้ยงตัวอ่อนทั่วไป มีกล้องจุลทรรศน์สเตอริโอ และกล้องถ่ายใช้เลนส์ของ Leica ซึ่งจะได้ภาพที่มีความละเอียดสูงมารวมไว้ภายในเครื่องเดียวกัน อีกทั้งยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีการถ่ายภาพแบบ time-lapse ซึ่งจะเป็นการถ่ายภาพของตัวอ่อนอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาที่ตัวอ่อนถูกเลี้ยงอยู่ภายในตู้เพาะเลี้ยง และนั่นจะทำให้ทีมผู้ดูแลสามารถติดตามพัฒนาการของตัวอ่อนได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาของตัวอ่อนแต่อย่างใด จะช่วยให้ทีมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเลี้ยงตัวอ่อน (Embryologist) หรือคนไข้สามารถติดตามพัฒนาการของตัวอ่อนได้


ตู้เลี้ยงตัวอ่อนรุ่นใหม่ EmbryoScope Plus เพิ่มความปลอดภัยของตัวอ่อนมากขึ้น ลดการรบกวนตัวอ่อน ช่วยให้ตัวอ่อนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เพิ่มอัตราการความสำเร็จในการตั้งครรภ์มากขึ้น


👉 เทคโนโลยี Eeva ร่วมกับเครื่อง Geri Plus

เพิ่มโอกาสให้การทำ ICSI ด้วยการเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง Eeva ที่จะช่วยให้การเลือกตัวอ่อน และการเลี้ยงตัวอ่อนของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้น


Eeva เป็น AI ที่ใช้วิเคราะห์ผลตัวอ่อน ช่วยประเมินพัฒนาการของตัวอ่อน รวมถึงช่วยเลือกตัวอ่อนที่มีการเจริญเติบโตได้ดีที่สุดจากฐานข้อมูลของเครื่อง Geri+(Plus) ซึ่งเป็นตู้แบบแยกเลี้ยงเป็นห้อง ๆ พร้อมติดกล้อง สำหรับ Real Time Monitoring


ดังนั้นการใช้ Eeva ร่วมกันกับเครื่อง Geri+(Plus) จึงถือเป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่ใช้เลี้ยงตัวอ่อนแบบแรกและแบบเดียวที่ไม่รบกวนเซลล์ตัวอ่อน สามารถดูการเจริญของตัวอ่อนได้อย่างต่อเนื่อง โดยนักวิทยาศาสตร์ไม่ต้องนำตัวอ่อนออกจากเครื่องมาดูการเจริญเติบโตผ่านกล้อง มีข้อดีคือ


✅ ลดการรบกวนตัวอ่อนได้เป็นอย่างดี

✅ ควบคุมความชื้นและอุณหภูมิได้อย่างคงที่

✅ เพิ่มความสมบูรณ์ของตัวอ่อน

✅ เพิ่มโอกาสการเจริญเติบโตของตัวอ่อนไปจนถึง Day ที่ต้องการ

✅ สร้างความมั่นใจในการเลือกตัวอ่อนได้มากกว่า

✅ วิเคราะห์คุณภาพของตัวอ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

✅ เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้มากขึ้น 🤰


👫เหมาะสำหรับคู่สมรสที่ทำ ICSI แล้วต้องการได้ "ตัวอ่อนที่มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุด"




7. การคัดโครโมโซมของตัวอ่อนก่อนการฝังตัวด้วยวิธี NGS


🟠ในการทำเด็กหลอดแก้วนั้น การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนก่อนฝังตัว(Preimplantation Genetic Screening หรือ PGS) เป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับสตรีที่มีอายุกว่า 35 ปีขึ้นไปเพราะมีความเสี่ยงที่ตัวอ่อนจะมีความผิดปกติทางโครโมโซมสูง


การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (PGS) เป็นวิธีการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมที่เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว เหมาะสำหรับ...

👉สตรีที่มีอายุกว่า 35 ปี ที่ต้องการมีบุตร

👉สตรีที่มีประวัติการแท้งบุตรหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ

👉สตรีที่เคยมีประวัติแท้งบุตรที่โครโมโมโซมผิดปกติ

👉คู่แต่งงานที่เคยทำ IVF หลายรอบแต่ไม่ประสบความสำเร็จ


เทคโนโลยีการตรวจโครโมโซมของตัวอ่อนด้วยเทคนิค Next-Generation sequencing (NGS) ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อนระยะ 3 วัน หรือ 5 วัน (บลาสโตซิสต์) ก่อนย้ายคืนสู่โพรงมดลูก โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ คัดกรองโครโมโซมผิดปกติที่รุนแรงซึ่งมีผลต่อการฝังตัวเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จของการตั้งครรภ์


จากการศึกษามีรายงานว่า การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัวด้วยเทคนิค NGS สามารถเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์จากร้อยละ 41.7 เป็นร้อยละ 69.1โดยการตรวจหา Chromosome aneuploidy หรือ การเกินมาหรือขาดหายไปของจำนวนโครโมโซม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดตัวอ่อนสลายไปเอง ฝังไม่ติด เกิดการแท้งในไตรมาสแรก หรือ ตั้งครรภ์ต่อด้วยโครโมโซมที่ผิดปกติส่งผลให้ทารกไม่สมบรูณ์ เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โรคเอ็ดเวิร์ดซินโดรม โรคพาทัวซินโดรม และ โรคความผิดปกติในโครโมโซมเพศอื่นๆ


โดย "NGS" เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัว ที่สามารถตรวจ Chromosome aneuploidy ได้ครอบคลุมทั้ง 24 โครโมโซม ในครั้งเดียวด้วยความแม่นยำสูง 99.9% มีความไว ความจำเพาะ ให้ผลชัดเจน และครอบคลุมในการตรวจสูงสุด และมีอัตราการเกิด False positive rate ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับเทคนิคอื่นๆ


นอกเหนือจากการตรวจการเกินหรือขาดจำนวนแท่งของโครโมโซมแล้ว ยังสามารถตรวจการเกินมาหรือขาดหายไปส่วนใดส่วนหนึ่งของโครโมโซมได้อีกด้วย




8. การประเมินความพร้อมเยื่อบุมดลูกก่อนย้ายตัวอ่อน Endometrial Receptivity Analysis Test (ERA Test)


แม่ๆ หลายเคสมีปัญหาใส่ตัวอ่อนไม่ติด ย้ายหลายรอบตัวอ่อนก็ไม่ฝัง เพราะปัญหาผนังมดลูก! หากผนังมดลูกบาง ไม่หนาตัวพอ หรือผนังขรุขระ ผนังพริ้ว มดลูกมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ทั้งหมดเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน


ในทางวิทยาศาสตร์นั้นยังมีรายละเอียดลึกลงไปอีกค่ะ แม่ๆรู้ไหมว่า ช่วงที่ตัวอ่อนฝังตัวได้ดีของผู้หญิงแต่ละคนเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งช่วงเวลาที่ตัวอ่อนจะฝังตัวนี้เรียกว่า Window of Implantation (WOI) ซึ่งในช่วงนี้แหละผนังมดลูกจะแสดงยีนบางอย่างที่ตอบสนอง ตอบกับ embryo หากย้ายตัวอ่อนในช่วงนี้ก็จะเพิ่มโอกาสฝังตัวนั่นเองค่ะ แต่ถ้าย้ายก่อนหรือเลยช่วงนี้ไปแล้ว โอกาสสำเร็จก็ลดลง


จึงเป็นที่มาของการตรวจความพร้อมเยื่อบุโพรงมดลูก

Endometrial Receptivity Analysis (ERA)

โดยการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อมาตรวจ เพื่อคำนวณช่วง WOI ให้แม่นยำก่อนที่จะย้ายตัวอ่อนจริง จะช่วยประเมินความพร้อมของเยื่อบุมดลูกก่อนการฝังตัว ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยง ของการไม่ฝังตัวของตัวอ่อน ด้วยการระบุช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝังตัวของตัวอ่อน และกำหนดเวลาย้ายตัวอ่อน เพื่อหาช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดของผู้หญิงแต่ละคนในการใส่ตัวอ่อน จึงสามารถใส่ตัวอ่อนในช่วงระยะเวลาที่ดีที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้สำเร็จง่ายขึ้นค่ะ


📚มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ในปี 2021 ศึกษาผู้หญิงที่มีบุตรยากและทำการย้ายตัวอ่อนจำนวน 2,256 ราย พบว่าการย้ายตัวอ่อนในช่วง WOI มีอัตราสำเร็จถึง 44.35% เมื่อเปรียบเทียบกับการย้ายตัวอ่อนที่คลาดเคลื่อนช่วง WOI


ดังนั้นการตรวจเยื่อบุโพรงมดลูก และย้ายตัวอ่อนในช่วง WOI อย่างแม่นยำ สามารถเพิ่มอัตราความสำเร็จในการฝังตัวของอ่อนได้สูงขึ้นสำหรับแม่ๆ ที่ย้ายตัวอ่อนไม่ติดหลายครั้งการตรวจ ERA test จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จค่ะ

9. การรับไข่/อสุจิบริจาค


👉การใช้ไข่บริจาค (Oocyte donation)

การใช้ไข่บริจาคเป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์สมัยใหม่ ก่อนหน้านี้วิธีการนี้แนะนำให้ทำในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนกำหนดหรือผู้หญิงที่อาจส่งต่อความผิดปกติทางโครโมโซมสู่ลูก แต่ปัจจุบันมีการใช้มากขึ้นเมื่อมีภาวะเจริญพันธุ์ที่ผิดปกติแต่ใช้บ่อยในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนไปแล้ว


การใช้ไข่บริจาคสามารถทำได้ทั้งในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ปกติและผู้หญิงที่การทำงานของรังไข่ล้มเหลว (Ovarian failure) โดยในผู้หญิงที่รังไข่ทำงานล้มเหลวต้องการฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกในการฝังตัวและให้ต่อไปจนสิ้นสุดการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก


ต่อมามีการพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการใช้ไข่บริจาคมากขึ้นประกอบด้วย วิธีการเก็บไข่บริจาคโดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวน์ การใช้ยาฮอร์โมนกระตุ้นต่อมใต้สมองในการปรับวงจรของผู้บริจาคไข่ การรวบรวมผู้บริจาคที่มีอายุน้อยทำให้คุณภาพและปริมาณของไข่เพิ่มขึ้น และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเก็บตัวอ่อนที่ดีขึ้นทำให้สามารถย้ายตัวอ่อนได้หลายครั้งจากการเก็บไข่ครั้งเดียว ปัจจุบันพบว่าการใช้ไข่บริจาคทำให้เกิดการตั้งครรภ์สำเร็จจำนวนมากในผู้หญิงอายุ 40-50 ปี บ่งถึงอายุของไข่มีความสำคัญมากกว่าอายุของมดลูก


🔸วิธีการใช้ไข่บริจาคในปัจจุบัน ประกอบด้วยการปรับวงจรประจำเดือนของหญิงมีบุตรยากร่วมกับการกระตุ้นไข่ของผู้บริจาค ดังนี้


1. การกระตุ้นไข่ (Ovarian hyperstimulation) ใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (gonadotropins) ตามด้วยการติดตามการตอบสนองของรังไข่ ด้วยวิธีวัดระดับฮอร์โมน estradiol ในกระแสเลือดและการทำอุลตร้าซาวน์ทางช่องคลอดดูรังไข่


2. การเก็บไข่ (oocyte recovery) ทำโดยใช้เข็มเจาะดูดทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องอุลตร้าซาวน์เป็นตัวนำทาง (transvaginal ultrasound-guided needle aspiration) แล้วนำไข่ที่ได้ไปผสมกับอสุจิ ในผู้บริจาคไข่พบภาวะแทรกซ้อนพบได้ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ในผู้บริจาคคือ ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ เลือดออก ติดเชื้อและภาวะการกระตุ้นไข่มากเกิน (ovarian hyperstimulation syndrome)


3. วงจรประจำเดือนของผู้รับบริจาคไข่ (Recipient) จะต้องถูกปรับให้เข้ากับผู้บริจาคด้วยการใช้ฮอร์โมน estrogen-progestin โดยทั่วไปใช้ micronized estradiol ร่วมกับ progesterone แบบสอดช่องคลอด ส่วนวิธีอื่นๆ เช่น ให้ estradiol แบบแปะร่วมกับ progesterone แบบฉีดเข้ากล้าม พบว่าผลสำเร็จใกล้เคียงกัน มีความเสี่ยงและผลข้างเคียงน้อยเช่นกัน


รายงานภาวะแทรกซ้อนของผู้รับบริจาคประกอบด้วยการติดเชื้อเป็นฝีหนองในอุ้งเชิงกราน การตั้งครรภ์นอกมดลูก ลูกมีโครโมโซมผิดปกติ มารดาเสียชีวิตจากเส้นเลือดผิดปกติในสมองหรือเส้นเลือดใหญ่ แต่ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์ปกติ


ข้อบ่งชี้ในการใช้ไข่บริจาคคือ รังไข่ทำงานล้มเหลวหรือรังไข่ไม่ทำงาน มีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม รังไข่ทำงานได้น้อย ใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์แล้วได้ไข่จำนวนน้อย อายุมากกว่า 40 ปี


การคัดเลือกผู้บริจาคไข่ แบบดั้งเดิมผู้บริจาคจะไม่ทราบว่าใครคือผู้รับบริจาค ในประเทศอเมริกาผู้บริจาคไข่จะได้เงินตอบแทนแต่ในบางพื้นที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับและผิดกฎหมาย ตามปกติการจับคู่ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคจะขึ้นอยู่กับลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกัน ในบางครั้งมีการบริจาคไข่ให้แก่ผู้ที่ตนรู้จักเช่น พี่น้องหรือลูกสาว

เกณฑ์ส่วนใหญ่ของผู้บริจาคไข่คือ อายุ18-34 ปี การกำหนดอายุไม่มากเกินไปเนื่องจากต้องการลดความต้องการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดเมื่อตั้งครรภ์ และในศูนย์ช่วยการเจริญพันธุ์ส่วนใหญ่มักต้องการผู้บริจาคที่ได้รับการยืนยันว่ามีภาวะเจริญพันธุ์ที่ดีคือจะต้องตั้งครรภ์คลอดอย่างน้อย 1 ครั้ง


ในศูนย์ช่วยการเจริญพันธุ์ส่วนใหญ่จะมีการตรวจคัดกรองผู้บริจาคไข่ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและโรคติดเชื้อ ในประเทศอเมริกามีการควบคุมในมีการตรวจโรคติดเชื้อในผู้บริจาคไข่ทุกราย มีการตรวจซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี เชื้อไวรัสเอดส์ นอกจากนี้ในแนวทางการรักษาใหม่ยังต้องมีการตรวจร่างกายและตรวจการติดเชื้อที่ปากมดลูกทั้งหนองในแท้และหนองในเทียมภายใน 30 วันก่อนรับบริจาคไข่ นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจหมู่เลือด Rh ให้เข้ากันและโรคทางพันธุกรรมบางอย่างตามพื้นที่เช่น โรคธาลัสซีเมียในเอเชีย โรค sickle cell anemia ในคนแอฟริกัน


ผลลัพธ์ด้านการตั้งครรภ์และสูติกรรม มีอัตราการตั้งครรภ์มีชีวิตในมดลูกสูงประมาณ 50-60% ต่อการย้ายตัวอ่อน 1 ครั้ง ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าหากใช้การย้ายตัวอ่อนหลายครั้งโอกาสประสบความสำเร็จประมาณ 75-90% ไม่มีภาวะแทรกซ้อนพิเศษสำหรับการตั้งครรภ์จากไข่บริจาคและมีผลลัพธ์ที่ดี อย่างไรก็ตามผู้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 35 ปีซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว นอกจากนี้การตั้งครรภ์แฝดพบบ่อยมากขึ้นประมาณ 25%ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด ทำให้ความเสี่ยงด้านสูติกรรมมากขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์โดยเฉพาะในผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี ทารกโตช้าในครรภ์ ในที่สุดจากหลายเหตุผลทำให้มีอัตราการผ่าคลอดประมาณ 50-75%


🔴การบริจาคออสุจิเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย แต่การบริจาคอสุจิเพื่อการค้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย


ผู้ที่ต้องการรับการบริจาคอสุจิจำเป็นต้องแสดงหลักฐานทะเบียนสมรส และคู่สมรสต้องลงนามใน “หนังสือแสดงความยินยอมรับอสุจิบริจาค” สำหรับผู้บริจาคอสุจิจำเป็นต้องลงนามใน “หนังสือแสดงความยินยอมในการบริจาคอสุจิ” ผู้บริจาคอสุจิสามารถบริจาคอสุจิได้เฉพาะกรณีที่เมื่อบริจาคแล้วมีการตั้งครรภ์จนได้บุตรไม่เกิน 10 ครอบครัว


ผู้บริจาคอสุจิต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

- มีอายุระหว่าง 20-45 ปี

- ผ่านการตรวจประเมินสุขภาพกายและสุขภาพจิต

- คู่สมรสของผู้บริจาคอสุจิต้องลงนามใน “หนังสือแสดงความยินยอม”

- ต้องไม่เป็นญาติกับผู้รับอสุจิ

- ไม่มีประวัติการใช้ยาเสพติด

- ไม่มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

- ไม่มีประวัติการเป็นโรคทางพันธุกรรม

- ไม่มีประวัติเป็นโรคติดต่อ (เช่น HIV/AIDS)

- ผู้บริจาคอสุจิต้องยินยอมให้ตรวจหาเชื้อ HIV/AIDS ก่อนส่งตัวอย่างอสุจิและตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากตรวจครั้งแรก 6 เดือนก่อนใช้อสุจิในขั้นตอนการรักษา


ในการบริจาคจะมีการคัดเลือกกลุ่มผู้บริจาคอย่างไร❓


สำหรับ อสุจิบริจาคโดยทั่วไป จะต้องแน่ใจว่าผู้บริจาคจะไม่มีโรคทางพันธุกรรม โรคทางเพศสัมพันธ์ มีสติปัญญาดี ส่วนในกรณีขอผู้ขอรับบริจาค สิ่งแรกก็คือ ฝ่ายหญิงสามารถที่จะตั้งครรภ์ได้ ไม่เป็นโรคที่มีอันตรายระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ให้และผู้รับจะไม่รู้กัน เพื่อตัดปัญหาการเรียกร้องสิทธิในภายหลัง เวลาเราจะให้เราจะต้องสังเกตรูปร่างลักษณะของคู่สมรสว่ามีลักษณะอย่างไรเพื่อพยายามหาอสุจิที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเรื่องของ กรุ๊ปเลือด สีตา สีผิว สีผม ส่วนสูง จะให้ใกล้เคียงมากที่สุด




10. การอุ้มบุญ หรือ ตั้งครรภ์แทน


🔬เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในปัจจุบันก้าวล้ำอย่างมาก คู่สมรสที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากหลายคู่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์


👉ปัญหาหลักของการที่คู่สมรสมีบุตรยากเกิดจากไข่ หรือ สเปิร์มด้อยคุณภาพ หรื่อฝ่ายหญิงมีปัญหาเรื่องระบบภายในทั้งเรื่องท่อนำไข่อุดตัน มดลูกไม่แข็งแรง หรือฮอร์โมนไม่สมดุล ไข่ไม่ตก เป็นต้น การรักษาผู้มีบุตรยากมีหลายวิธีซึ่งเราอาจเคยได้ยินกันมาบ้าง เช่น การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF, ICSI) ซึ่งวิธีดังกล่าวยังเป็นการที่ตัวอ่อนเติบโตในมดลูกของคุณแม่เองแต่ #การอุ้มบุญ เป็นกรณีที่ตัวอ่อนถูกฝังในมดลูกของหญิงอื่น หรือในทางกฎหมาย เรียกว่าหญิงที่ #ตั้งครรภ์แทน


📣ดังนั้นการที่เราจะให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนเราต้องมีข้อบ่งชี้ตามกฎหมายว่าสามารถทำได้ในกรณีใดบ้าง วันนี้ครูก้อยสืบค้นข้อมูลหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในเรื่องการอุ้มบุญมาฝากแม่ๆ เราไปศึกษาพร้อมกันเลยค่ะ


🟠 #ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 บัญญัติคำนิยาม เรื่องการตั้งครรภ์แทน หรือ การอุ้มบุญไว้ดังนี้

" #การตั้งครรภ์แทน หมายความว่าการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้กับสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนตั้งครรภ์ว่าจะให้ทารกในครรภ์เป็นบุตรของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น


🟠 #มีเงื่อนไขดังนี้

คู่สมรสที่จะขอให้มีการตั้งครรภ์แทนได้จะต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาไม่น้อยกว่า 3 ปี


🟠 #การดำเนินการให้มีตั้งครรภ์แทน มี 2 วิธี

🔸️(1) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฏหมาย

🔸️(2) ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามี หรือ ไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น


❌#โดยห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน

🟠 การดำเนินการให้มีการอุ้มบุญนั้นตามกฎหมาย #ต้องได้รับการอนุญาตจาก "คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (#กคทพ.)


👉ซึ่ง กคทพ.จะมีหน้าที่เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนด


👉โดยการตั้งครรภ์แทนนั้นตามกฎหมายต้องทำที่สถานพยาบาลที่ กคทพ. อนุญาตและแพทย์ที่ดำเนินการนั้นต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายและจากหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนด้วย


🟠 #ใครบ้างที่สามารถขอให้มีการตั้งครรภ์แทนได้❓

จากที่กล่าวข้างต้น การจะให้ใครอุ้มบุญให้เรานั้นต้องมีการยื่นคำขอและต้องผ่านการพิจารณาอนุญาต โดยต้องมีการตรวจสภาพร่างกายว่าเราไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้จริงๆ หากคุณเป็นหญิงที่เคยตั้งครรภ์มาแล้ว แต่ไม่อยากตั้งท้องเองในครั้งที่ 2 กรณีแบบนี้ไม่สามารถใช้วิธีการอุ้มบุญได้ค่ะ ดังนั้นคู่สมรสที่สามารุขอให้มีการอุ้มบุญได้นั้นต้องเป็นผู้มีปัญหาดังนี้

🔸️หญิงที่มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก

🔸️หญิงที่ผ่าตัดมดลูกออกแล้ว

🔸️หญิงที่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้

🔸️หญิงที่ตั้งครรภแล้วจะเกิดอันตรายต่อตนเอง

🔸️ผู้ที่ลองรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วแต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

🟠 #บุตรที่คลอดออกมาจากหญิงที่ตั้งครรภ์แทนจะเป็นบุตรของใคร❓


👉เรื่องนี้ตามกฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วค่ะว่า #ให้เด็กนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งขอให้มีการอุ้มบุญถูกต้อง


👉ดังนั้นแม่อุ้มบุญจะไม่มีสิทธิตามกฎหมายใดๆ ต่อตัวเด็กค่ะ


💗ในการตั้งครรภ์นั้น การเตรียมตัวดูแลร่างกายให้พร้อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ อย่าลืมใส่ใจเรื่องโภชนาการการทานอาหารบำรุงไข่ บำรุงสเปิร์ม ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงควบคู่ไปกับการปรึกษาแพทย์นะคะ ครูก้อยรวบรวมคัมภีร์อาหารบำรุงไข่และบำรุงสเปิร์มมาให้แล้ว ศึกษาและทำตามนะคะ ครูก้อยขอให้ประสบความสำเร็จมีเบบี๋ในเร็ววันค่ะ






ดู 248 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page