ตอบคำถามคาใจแม่
วางแผนท้องต้องกินโฟลิกล่วงหน้าอย่างน้อยกี่เดือน ?
แพทย์ชี้วางแผนท้องต้องกินโฟลิกล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน รอกินเมื่อตั้งครรภ์...อาจสายไป
#กรดโฟลิก (Folic Acid) หรือเรียกอีกอย่างว่า “โฟแลต” คือวิตามินชนิดหนึ่งที่พบได้ในอาหารตามธรรมชาติ และเป็น Superfood สำหรับผู้หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ รวมถึงตัวคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้ว เพราะกรดโฟลิกนั้นมีส่วนช่วยในการสร้างตัวอ่อน ช่วยป้องกันและลดความผิดปกติของระบบประสาท ทั้งภาวะไม่มีเนื้อสมอง ภาวะไขสันหลังไม่ปิดจากการขาดโฟลิก นอกจากนี้ยังช่วยซ่อมแซมพันธุกรรม ควบคุมการสร้างกรดอะมิโนที่จำเป็นในการแบ่งเซลล์ ไปจนถึงการสร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในไขกระดูกของลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย
โฟลิกหรือวิตามินบี 9 พบในไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม ผักคะน้า ผักบุ้ง ตำลึง แครอต แคนตาลูป ฟักทอง ถั่ว หรือวิตามินโฟลิกในรูปแบบเม็ด ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ปรับนิสัยการรับประทานอาหาร โดยทานผักใบเขียวที่มีโฟเลตสูงให้ได้อย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัม ต่อวัน หากไม่ได้ทานอาหารที่ให้โฟลิกในแต่ละวันการทานกรดโฟลิกเป็นเม็ดเสริมจึงมีความจำเป็น ซึ่งกรดโฟลิกหาซื้อง่ายและมีราคาถูก
หากวางแผนจะมีเบบี๋ต้องทานอาหารที่มีโฟเลตสูงและทานวิตามินโฟลิกเสริมเตรียมตัวล่วงหน้านะคะ อย่ารอให้ท้องก่อนแล้วจึงค่อยทาน เพราะเหตุใด เราไปศึกษาพร้อมกันเลยค่ะ
ควรทานกรดโฟลิกปริมาณเท่าใดต่อวัน
องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ผู้หญิงวางแผนตั้งครรภ์ได้รับกรดโฟลิก 400 ไมโครกรัมต่อวัน
โดยแนะนำให้ได้รับกรดโฟลิก 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์และได้รับต่อเนื่อง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิก
800 ไมโครกรัมต่อวัน
ทำไมคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องทานกรดโฟลิกมากกว่าปกติ
เพราะว่าในขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการกรดโฟลิกสำหรับลูกน้อย แต่ร่างกายกลับดูดซึมจากอาหารได้น้อยกว่าปกติ ดังนั้นเพื่อให้ร่างกายของคุณแม่และทารกได้รับกรดโฟลิกที่เพียงพอ จึงต้องมีการเสริมกรดโฟลิกให้เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อความสมบูรณ์ต่อการสร้างตัวอ่อนในครรภ์ค่ะ
ควรเริ่มทานกรดโฟลิกเมื่อใด
ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์หัวหน้าโครงการระดับชาติพัฒนาต้นแบบจังหวัดและอำเภอเพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย สสส.และนายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด กล่าวว่า....
หญิงที่ต้องการจะมีลูกต้องกินกรดโฟลิกก่อนตั้งท้อง 3 เดือน ต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความพิการของทารก ได้แก่
หลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defects)
ปากแหว่งเพดานโหว่
ความผิดปกติของแขนขา
หัวใจพิการแต่กำเนิด
ระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ
ไม่มีรูทวารหนัก และ
กลุ่มอาการดาวน์
#ทำไมต้องกินกรดโฟลิกก่อนตั้งครรภ์
ยังมีความเข้าใจที่ผิดว่าเมื่อตั้งครรภ์ถึงจะรับประทานวิตามินโฟลิก แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องกินก่อนท้อง เพราะวิตามินโฟลิก ช่วยในการสร้างและแบ่งเซลล์ในตัวอ่อนให้สมบูรณ์ตั้งแต่หลังปฏิสนธิภายใน 28 วัน จึง
ดังนั้นการเสริมกรดโฟลิกสามารถทำได้ตั้งแต่วางแผนมีบุตร หรือก่อนตั้งครรภ์ 1-3 เดือน เพราะหากรอจนทราบว่าตั้งครรภ์ก่อนแล้วค่อยทานอาจจะสายเกินไป เพราะในช่วงอายุครรภ์ที่ 3-4 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิ จะเป็นช่วงที่พัฒนาการของสมองและระบบประสาทของทารกจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลอดประสาทจะปิดอย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งนั่นอาจช้าเกินไปที่จะแก้ไขความผิดปกติ
และทานต่อไปอีกหลังเริ่มตั้งครรภ์ยาวไปจนอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์เพราะความต้องการโฟเลตหรือกรดโฟลิกจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ตัวอ่อน (embryo) กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
กรดโฟลิกส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่
การกินวิตามินโฟลิก "ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย" เพราะเป็นวิตามินละลายในน้ำ และไม่สะสมในร่างกาย ร่างกายจะขับออกทางปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม การกินโฟลิกไม่ควรกินพร้อมกับยาลดกรด เพราะยาจะขัดขวางการดูดซึม
นอกจากนี้การรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับอิโนซิทอลยังใช้เป็นแนวทางการรักษาผู้มีบุตรยากอันเนื่องมาจากภาวะ PCOS ได้อีกด้วย
จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Turkish-German Gynecological Association เมื่อปี 2018 ได้รวบรวมผลการศึกษาการเยียวยาผู้หญิงที่มีภาวะ PCOS โดยการให้ทานกรดโฟลิก 400 ไมโครกรัมร่วมกับอิโนซิทอล
1. ทดลองกับผู้หญิง 92 คนที่มีปัญหาเรื่องประจำเดือนขาด ประจำเดือน มาน้อย หรือมาห่างกันเกิน 35 วัน (oligomenorrhea) และมีภาวะ PCOS
โดยให้ทานโฟลิก 400 ไมโครกรัม + อิโนซิทอล 4 กรัมทุกวัน เป็นเวลา 12-16 สัปดาห์ พบว่า
มีอัตราไข่ตกเพิ่มขึ้น
น้ำหนักลดลง
ฟองไข่เจริญเติบโตดีขึ้น
ไขมันดี (HDL) เพิ่มขึ้น
2. ทดลองในผู้หญิง 25 คนที่มีภาวะประจำเดือนขาดหาย หรือ ขางรายไม่มีประจำเดือนเลยตั้งแต่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (amenorrhea) และมีภาวะ PCOS
โดยให้ทานโฟลิก + อิโนซิทอล อย่างละ 4 กรัม ต่อวันเป็นเวลา 6 เดือน พบว่า
รอบเดือนเริ่มกลับมาเป็นปกติขึ้น
สมรรถภาพของรังไข่ดีขึ้น
ฮอร์โมนเพศชาย เทสโทสเตอโรนลดลง
3. ทดลองในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 42 คน (ช่วงอายุ 18-40 ปี) ที่มีภาวะ PCOS
โดยให้ทานโฟลิก 400 ไมโครกรัม + อิโนซิทอล 4 กรัมทุกวัน เป็นเวลา 12-16 สัปดาห์ พบว่า
ระดับอินซูลินและฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนลดลง
ช่วยเพิ่มค่าความทนต่อน้ำตาล (glucose tolerance) ซึ่งส่งผลดีต่อการลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน
รู้อย่างนี้แล้วแม่ๆต้องรับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูงและเสริมวิตามินโฟลิกเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อเพิ่มโอกาสท้องและเพื่อให้ครรภ์นั้นเป็นครรภ์ที่สมบูรณ์แข็งแรงที่สุดนะคะ