ทำไม "ไข่ไม่ตก" ?
top of page

ตอบคำถามคาใจแม่

ทำไม "ไข่ไม่ตก" ?

ไข่จ๋า...อยู่ไหน
ทำไม "ไข่ไม่ตก"

พยายามปั๊มเบบี๋กันมาเป็นปี แต่ไม่ท้องสักที เคยเช็ควันไข่ตกกันมั้ยคะแม่ๆ บางคู่ไม่เคยเช็คเลย แถมยังไม่รู้ว่าไข่ตกช่วงไหน ทำการบ้านเสียเปล่าไปทุกรอบ บางคู่เช็คทุกเดือนแต่ก็เทสไม่เจอไข่ตกเลย..โอกาสท้องก็ริบหรี่ค่ะ
แม่ๆรู้ไหมภาวะตกไข่ผิดปกติพบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในผู้หญิงได้บ่อย โดยพบได้มากถึง 40% ของผู้หญิงที่มีภาวะมีบุตรยาก

การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากอสุจิเข้าเจาะไข่ที่ตกลงมาในแต่ละรอบเดือนแล้วเกิดการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อน ฝังตัวในโพรงมดลูกเติบโตเป็นทารกน้อยๆในครรภ์ต่อไป

การนับไข่ตกนั้นให้แม่ๆ นับรอบเดือนของตัวเองให้เป็นก่อนว่าเป็นคนมีรอบเดือนกี่วัน ซึ่งรอบเดือนของผู้หญิงแต่ละคนจะสั้น-ยาวไม่เท่ากันค่ะ โดยปกติรอบเดือนจะอยู่ที่ 28 วัน ให้นับวันที่ประจำเดือนมาครั้งแรกเป็นวันที่ 1 และวันสุดท้ายคือวันก่อนที่มีประจำเดือนรอบถัดไป

เช่น ประจำเดือนมาวันแรกวันที่ 1 มีนาคม และ มาอีกครั้งในวันที่ 29 มีนาคม แสดงว่า มีรอบเดือน ตั้งแต่วันที่ 1-28 มีนาคม คือ 28 วัน

#ทีนี้มาดูกันต่อว่าไข่ตกวันไหนของรอบเดือน

โดยปกติไข่จะตกในวันที่ 14 ของรอบเดือน ดังนั้นหากคุณมีรอบเดือน 28 วัน ไข่ก็จะตกในวันที่ 14 ของรอบเดือน (คิดง่ายๆคือให้เอาจำนวนรอบเดือน - 14 ก็จะได้วันไข่ตกค่ะ)

เช่น ถ้ามีรอบเดือน 30 วัน ไข่จะตกในวันที่ 16 ของรอบเดือน
ถ้ามีรอบเดือน 21 วัน ไข่จะตกในวันที่ 7 ของรอบเดือนค่ะ

อย่างไรก็ตามรอบเดือนที่สั้นหรือยาวกว่าปกติ ไข่ที่ตกลงมาอาจไม่มีคุณภาพเท่ารอบปกตินะคะ และการนับวันไข่ตกนี้จะแม่นยำก็ต่อเมื่อคุณมีรอบเดือนที่สม่ำเสมอค่ะ

แม่ๆสารมาถเช็คให้ชัวร์ด้วยการเช็คจากปัสสาวะโดยใช้แถบวัดฮอร์โมนไข่ตก หรือ LH หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปค่ะ

เมื่อรู้วันไข่ตกแล้วก็จะได้สะกิดสามีให้ทำการบ้านถูกวันค่ะ มีเคล็ดลับที่ควรรู้ คือ อสุจิของคุณสามีสามารถมีชีวิตอยู่ในช่องคลอดของฝ่ายหญิงได้ถึง 3-5 วัน แต่ไข่เมื่อตกลงมาแล้วจะอยู่ได้แค่ 12-24 ชั่วโมงเท่านั้นค่ะ ดังนั้นเมื่อนับวันไข่ตกเป็นแล้ว ควรเรียกให้สามีทำการบ้านล่วงหน้ารอก่อนไว้ได้เลยค่ะ เมื่อไข่ตกปุ๊บ อสุจิที่รออยู่แล้วก็สามารถว่ายเข้าเจาะไข่ได้ปั๊บค่ะ

ดังนั้นหากไข่ไม่ตกลงมา เจ้าอสุจิก็ไปรอเก้อนั่นเองค่ะ แล้วมีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้ไข่ไม่ตก ครูก้อยรวบรวมมาให้แล้ว ไปศึกษาพร้อมกันเลยค่ะ

1. ท่อนำไข่อุดตัน

ประเด็นนี้คือ ไข่อาจจะตกปกตินะคะ แต่สะพานรักถูกปิดตาย เจ้าสเปิร์มจึงมาเจอกับไข่ไม่ได้ โดยปกติไข่จะตกลงมาที่ท่อนำไข่นั่นเองค่ะ เมื่อทำการบ้านสเปิร์มก็จะว่ายมาเจอไข่ตรงจุดนี้ หากท่อนำไข่อุดตันก็หมดสิทธิ์ท้องธรรมชาติค่ะ แต่ยังสามารถท้องได้ด้วยการทำเด็กหลอดแก้วนะคะ เพราะเป็นการเก็บไข่มาปฏิสนธิภายนอก

2.ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome (PCOS)

คือ ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ทำให้ผู้ป่วยมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล เกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง รังไข่จึงมีขนาดโตขึ้น และอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไข่ไม่ตกเรื้อรัง สิวขึ้น ขนดก หรือมีบุตรยาก โดยมักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นหลัก

3.น้ำหนักน้อยหรือมากเกินไป

การที่มีน้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไปเป็นสาเหตุของภาวะไข่ไม่ตก ความอ้วนมีส่วนทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติ โดยเฉพาะการอ้วนลงพุง เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนผลิตจากไขมัน เมื่อไขมันมากเกินไป การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการตกไข่ในเพศหญิงอาจเกิดความผิดปกติ #ส่งผลให้ไม่มีการตกไข่ #ประจำเดือนมาน้อยแบบกะปริดกะปรอย #ประจำเดือนขาดหายไป

โดยทางการแพทย์จะวัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI)เพื่อประเมินภาวะโรคอ้วน หากมีค่า BMI อยู่ในช่วง 20-22 ยังถือว่าปกติ หากอยู่ในช่วง 25-30 ถือว่าอ้วนแล้วค่ะ

กรณีน้ำหนักตัวน้อยเกินไปก็เช่นกันจะส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยเกินไป การเพิ่มน้ำหนักตัวหรือลดการออกกำลังกายลงก็เพียงพอต่อการให้มีการตกไข่กลับมาเป็นปกติ หากมีน้ำหนักเกิน การลดน้ำหนัก 10% จากเดิมก็สามารถช่วยให้มีการตกไข่กลับมาเป็นปกติได้ค่ะ

4. ภาวะระดับโปรแลคตินสูง

ภาวะระดับโปรแลคตินสูง (Hyperprolactinemia) คือ ภาวะที่พบความผิดปกติของระดับโปรแลคตินในเลือด (ค่าปกติ น้อยกว่า 25 mcg/L ในผู้หญิง และ 20 mcg/L ในผู้ชาย) สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ

โปรแลคติน (Prolactin)เป็นฮอร์โมนผลิตออกมาจากสมองส่วนหน้าเช่นเดียวกับ FSH และ LH มีหน้าที่กระตุ้นต่อมน้ำนมให้สร้างน้ำนมเพื่อเลี้ยงทารก ระดับโปรแลคตินจะสูงในสตรีขณะตั้งครรภ์และขณะให้นมบุตรมันมีอำนาจยับยั้งการหลั่งของ FSH และ LH เมื่อ FSH และ LH ลดลง การกระตุ้นการทำงานของรังไข่ก็ลดลง ทำให้การผลิตฮอร์โมนจากรังไข่ลดลง และไม่ตกไข่

ภาวะโปรแลคตินสูงในสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ และไม่ได้ให้นมบุตร จะมีผลกระทบต่อการทำงานของรังไข่ด้วย มีความรุนแรงต่างกันแล้วแต่ระดับของฮอร์โมนที่ผิดปกติและปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายตั้งแต่มีการตกไข่ปกติ, มีการตกไข่แต่ระดับโปรเจสเตอโรนต่ำ, การตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ตกไข่เลย ทำให้บางครั้งประจำเดือนไม่สม่ำเสมอหรือขาดประจำเดือน

5. ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนเวลาอันควร

รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร เป็นกลุ่มอาการที่รังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปี โดยจะมีอาการซึ่งประกอบด้วย การขาดประจำเดือน การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ในระดับต่ำ และมีฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (gonadotropin) อยู่ในระดับที่พบในสตรีวัยหมดระดู ทำให้ไข่ไม่ตกหรือการตกไข่ผิดปกติ

พบภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร ประมาณ 1% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 40 ปี, 0.1% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และ 0.01% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 20 ปี

6. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน

ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Overactive thyroid หรือ Hyperthyroidism) คือภาวะความผิดปกติของฮอร์โมนที่มีมากเกินไป ทำให้ร่างกายมีกระบวนการเผาผลาญที่มากขึ้น และทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้น เช่น ตื่นเต้นและวิตกกังวล อยู่ไม่สุข น้ำหนักลด และต่อมไทรอยด์บวมโต

ผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินมากกว่าผู้ชาย 10 เท่า ส่วนมากผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการครั้งแรกในอายุระหว่าง 20-40 ปี แต่ก็อาจพบได้ในทุกช่วงอายุ

อาการของต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน คือ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือ ประจำเดือนขาด ส่งผลให้ไข่ไม่ตกทำให้มีบุตรยาก

7.ความเครียด นอนดึก

ความเครียดนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจแล้ว ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากอีกด้วย เพราะฮอร์โมนจากความเครียดจะไปมีผลต่อสมองส่วนไฮโปธาลามัสซึ่งควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของระบบสืบพันธุ์ ทำให้การพัฒนาฟองไข่ในรังไข่ไม่ปกติ ไข่เจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดภาวะไม่ตกไข่ อีกทั้งยังทำให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วฝังตัวที่มดลูกได้ยากขึ้น

ส่วนการนอนดึก หรือ นอนไม่เพียงพอก็เป็นสาเหตุมาจากความเครียดเช่นกัน การนอนไม่เพียงพอในระยะยาวส่งผลโดยตรงต่อการสร้าง Luteinizing Hormone (LH) ผิดปกติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมาในช่วงที่จะมีการตกไข่ มีผลทำให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมาเพื่อรอการปฏิสนธิ LH เป็นฮอร์โมนหนึ่งที่จะหลั่งออกมาในช่วงที่มีการตกไข่ของรอบเดือนนั้นๆ หากฮอร์โมน LH ผิดปกติก็จะส่งผลต่อรอบเดือนที่ไม่ปกติ ส่งผลให้ไข่ไม่ตก หรือ ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ

8.การออกกำลังกายอย่างหนัก/หักโหมเกินไป

การที่ผู้หญิงออกกำลังกายหนักๆ หักโหมนั้น ส่งผลต่อการมีลูกยาก เพราะทำให้หลายๆ ระบบในร่างกายเสียสมดุล เช่น กล้ามเนื้อ ระบบสมองหรือต่อมใต้สมอง มีผลต่อระบบฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอร์โรน ทำให้รังไข่ทำงานผิดปกติ การตกไข่ผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนขาดหายไปได้

อย่างไรก็ตามมีกรณีที่ "ไข่ตก" แต่ "ตกช้า" ไม่เป็นไปตามรอบเดือน การตกไข่ที่ช้ากว่าปกติก็ไม่ได้ให้ไข่ที่มีคุณภาพดีเท่าไรนักและการตกไข่ที่ไม่ปกติยังบอกถึงฮอร์โมนในร่างกายผู้หญิงที่อาจจะทำงานได้ไม่ปกติเท่าไรนัก การที่ฮอร์โมนไม่ปกติบางครั้งอาจทำให้เกิดปัญหา ดังต่อไปนี้
ขาดมูกไข่ตก (Fertile cervical mucus)
ผนังมดลูกบาง หรือหนาเกินไป (ตำแหน่งที่ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะมาฝังตัว)
ระดับฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนต่ำผิดปกติ
ระยะ Luteal phase สั้นลง (ระยะหลังไข่ตกที่ผนังมดลูกจะฟอร์มตัวหนาขึ้นเพื่อรับการฝังตัวของตัวอ่อน)

จะเห็นได้ว่าวาเหตุโดยรวมของภาวะไม่ตกไข่คือการที่ร่างกายมีฮอร์โมนไม่สมดุลนั่นเอง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การหันมาออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการและการทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด สิ่งเหล่านี้ส่งผลเกี่ยวข้องกับสมดุลฮอร์โมนทั้งสิ้น ดังนั้นเริ่มที่ตัวเราง่ายๆนะคะ ปรับพฤติกรรม ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารที่มีประโยชน์ก็จะช่วยปรับฮอร์โมนให้กลับมาปกติได้ค่ะ

ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page