ตอบคำถามคาใจแม่
ท้องแล้ว ตรวจ NIFTY Test ตอนไหน ?
แม่ๆ ที่ตั้งครรภ์มีคำถามถามครูก้อยว่า ต้องตรวจ NIFTY Test หรือ คัดกรองดาวน์ซินโดรมหรือไม่? และต้องตรวจตอนอายุครรภ์เท่าไหร่?
วันนี้ครูก้อยนำข้อมูลจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมาฝากค่ะ
• การทดสอบนิฟตี้ (NIFTY: Non-Invasive Fetal TrisomY test) คือ วิธีการตรวจกรองหาลักษณะความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์มารดาโดยไม่ต้องเจาะน้ำคร่ำ เพียงแค่เจาะเลือดคุณแม่เพียง 10 มิลลิลิตรก็สามารถตรวจลักษณะทางพันธุกรรมของลูกได้
วิธีดังกล่าวนี้คุณแม่สามารถเข้ารับการตรวจได้เมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 10 สัปดาห์ขึ้นไป การตรวจอาศัยหลักการวิเคราะห์หาลำดับของสารพันธุกรรมเพื่อตรวจสอบการเกินของโครโมโซมคู่ที่ 21 คู่ที่ 18 และ 13 และนอกจากนี้ยังสามารถตรวจความผิดปกติอื่นๆ ได้อีกเช่นความผิดปกติของโครโมโซมเพศ
.
• การตรวจ NIFTY มีหลักการอย่างไร?
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 8 สัปดาห์ลูกน้อยจะมีพัฒนาการสร้างอวัยวะที่สมบูรณ์และเมื่อถึงสัปดาห์ที่ 10 หรือประมาณ 2 เดือนครึ่ง อวัยวะภายในของทารกจะทำงานเพิ่มขึ้น ทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารและขับของเสียผ่านทางสายรกที่เชื่อมต่อกับคุณแม่ แต่ระบบเลือดของแม่กับลูกไม่ได้แลกเปลี่ยนสารอาหารโดยตรงแต่จะมีเยื่อบางๆ (placental blood barrier) ในการทำหน้าที่เพื่อป้องกันเซลล์ของลูกและแม่ไม่ให้พบกันและต่อต้านกันเพราะเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของแม่จะตรวจสอบว่าเซลล์ของทารกเป็นสิ่งแปลกปลอม เยื่อบางๆ นี้ยอมให้สารพันธุกรรม (DNA) ของลูกผ่านเข้าไปในระบบเลือดของแม่ได้ ด้วยเหตุนี้เพียงเราเก็บเลือดของแม่ที่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป จะสามารถตรวจหาโรคทางพันธุกรรมจาก DNA ของลูกน้อยที่ปนออกมาในเลือดของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยคุณแม่ไม่จำเป็นต้องเจาะน้ำคร่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงและเจ็บตัวมากกว่า
.
• คุณแม่ตั้งครรภ์กรณีใดที่แนะนำให้ทำการตรวจ NIFTY?
(1) คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
(2) แพทย์ตรวจพบความผิดปกติของทารกที่อาจมีความเสี่ยงต่อโรคพันธุกรรมด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์
(3) ต้องการตรวจยืนยันผลความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกจากการตรวจครั้งแรกด้วยวิธีอื่น
(4) มีสภาวะเสี่ยงที่ไม่แนะนำให้ทำตรวจน้ำคร่ำ เช่น ภาวะแท้งบุตรง่าย ภาวะรกเกาะต่ำหรือรกของทารกนั้นมาเกาะอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูกใกล้กับปากมดลูก หรือมารดาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี (HBV, HCV infection)
(5) มีประวัติความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกชนิด trisomy จากการท้องครั้งก่อน
(6) เข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีการเด็กหลอดแก้ว หรือ มีภาวะแท้งซ้ำซ้อน
(7) มีประวัติครอบครัวหรือญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคที่ผิดปกติทางพันธุกรรม
.
.
ตั้งครรภ์แล้วต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด และต้องไปพบหมอตามนัดนะคะ ที่สำคัญอย่าลืมใส่ใจโภชนาการเป็นพิเศษ เพราะสิ่งที่เราทานส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ ครูก้อยมีความรู้ดีๆเรื่องโภชนาการบำรุงครรภ์ บำรุงน้ำนมมาฝาก