คัดโครโมโซมตัวอ่อน เพิ่มโอกาสท้อง จริงหรือ ?
top of page

ตอบคำถามคาใจแม่

คัดโครโมโซมตัวอ่อน เพิ่มโอกาสท้อง จริงหรือ ?

"หนูต้องคัดมั้ยคะ?" แม่ๆที่ทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI) ถามครูก้อยถึงเรื่อง "การคัดโครโมโซมตัวอ่อน"
ต้องคัดทุกกรณีมั้ย? คัดเพื่ออะไร? ครูก้อยตอบให้ตรงนี้เลยว่า...

ในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วหรือ ICSI นั้นเมื่อแม่ๆได้ตัวอ่อนแล้ว ก่อนจะทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก คุณหมออาจแนะนำให้คัดโครโมโซมตัวอ่อนก่อน เพื่อเป็นการคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนนั้น เนื่องจากว่า
ความผิดปกติทางพันธุกรรมจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการฝังตัวของตัวอ่อนซึ่งอาจทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดลงค่ะ

จากข้อมูลทางการแพทย์แม่ที่มีการตั้งครรภ์เมื่ออายุมากขึ้นจะยิ่งเสี่ยงที่จะมีตัวอ่อนผิดปกติในลักษณะการกลายพันธุ์ของโครโมโซมสูงทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ต่ำ หรือ บางรายพบปัญหาการแท้งซ้ำซากซึ่งเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อนเองค่ะ

ดังนั้นการคัดโครโมโซมตัวอ่อนจึงเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ เพราะตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติจะมีโอกาสฝังตัวที่มดลูกได้อย่างสมบูรณ์ เพิ่มโอกาสท้องมากขึ้น และลดความเสี่ยงโรคทางพันธุกรรมค่ะ

เรามาดู 5 ข้อดีของการคัดโครโมโซมตัวอ่อนก่อนย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกกันค่ะ

1. #เพิ่มอัตราการฝังตัว

เพราะตัวอ่อนที่ผ่านการคัดแล้วเป็นตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติ ไม่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ส่งผลต่ออัตราการฝังตัวที่สูงขึ้น เนื่องจากสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ตัวอ่อนไม่ฝังตัวเกิดจากความผิดปกติทางโครโมโซมนั่นเองค่ะ

2. #ลดอัตราการแท้ง

แม่ๆหลายเคสประสบปัญหาการแท้งบ่อย ท้งซ้ำซาก บางคนคิดว่าทำเด็กหลอดแก้วแล้วทำไมยังแท้ง ซึ่งบางเคสพบว่าไม่ได้คัดโครโครโมโซมตัวอ่อน ตัวอ่อนบางตัวเลี้ยงถึงระยะบลาสต์โตซิสต์ก็จริง ดูแค่ภายนอกไม่สามารถรู้ถึงความผิดปกติทางโครโมโซมได้ค่ะ ถึงแม้จะใส่ตัวอ่อนระยะบลาสต์ก็มีโอกาสแท้งได้ หากตัวอ่อนตัวนั้นโครโมโซมปิดปกติ

3. #ลดอัตราท้องลม

การท้องลมก็คือการแท้งนั่นเอง เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติชนิดหนึ่งที่เกิดจากไข่กับอสุจิผสมกันเป็นตัวอ่อนแล้ว มีการฝังตัวในระยะะแรกแล้ว แต่ส่วนของตัวเด็กฝ่อหายไปก่อน เหลือเพียงแค่ถุงการตั้งครรภ์ สาเหตุของท้องลมนั้นส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 50 เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งอัตราการเกิดท้องลมจะสัมพันธ์กับอายุของฝ่ายหญิง ยิ่งอายุมากความเสี่ยงในการเกิดท้องลมก็มีมากขึ้น

4. #คัดแยกตัวอ่อนที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม

การคัดโครโมโซมตัวอ่อน จะคัดได้หากแม่ๆ มีตัวอ่อนที่เลี้ยงมาถึงระยะบลาสโตซิสต์นะคะ เพราะระยะก่อนหน้านี้ตัวอ่อนยังไม่สมบูรณ์การดึงเซลล์มาตรวจอาจเป็นการทำลายตัวอ่อนได้ การคัดโครโมโซมช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติทางพันธุกรรม โรคทางพันธุกรรมต่างๆ เช่น ดาวน์ซินโดรม ธาลัสซีเมีย ซึ่งหากตรวจพบ แพทย์ก็จะคัดแยกออกมา เหลือตัวที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะเป็นตัวที่จะย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกค่ะ

5. #ทราบเพศ

ข้อนี้เป็นเพียงผลพลอยได้จากการตรวจโครโมโซม เพราะจะทำให้รู้โครโมโซมเพศด้วย อย่างไรก็ตามหากแม่ๆ มีตัวอ่อนที่คัดผ่านหลายตัวและเพศแตกต่างกัน แพทย์จะพิจารณาเลือกตัวอ่อนที่แข็งแรงที่สุด เพราะตัวอ่อนจะมีเกณฑ์ในการคัดเกรดด้วยค่ะ ไม่สามารถเลือกเพศได้ตามกฎหมาย

คำถามต่อมาคือ การตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนเหมาะกับใครแม่ทำ ICSI ต้องส่งตัวอ่อนคัดโครโมโซมทุกรายไหม

คำตอบคือ ไม่ค่ะ การคัดกรองโครโมโซมจะทำในกรณีที่แม่มีข้อบ่งชี้ ดังนี้ค่ะ

(1) สตรีที่มีอายุมาก ( อายุกว่า 35 ปี )

(2) สตรีที่มีประวัติการแท้งบุตรหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ

(3) สตรีที่เคยมีประวัติแท้งบุตรที่โครโมโมโซมผิดปกติ

(4) คู่แต่งงานที่เคยทำเด็กหลอดแก้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป

กลุ่มมารดาที่มีความเสี่ยงข้างต้นควรตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อน รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีโรคพันธุกรรมในครอบครัวที่อาจถ่ายทอดโรคดังกล่าวไปยังรุ่นลูก เป็นการลดความเสี่ยงให้กับครอบครัวที่จะมีบุตรเกิดมาพร้อมกับโรคทางพันธุกรรม

วิธีการคัดโครโมโซมตัวอ่อนก่อนการฝังตัวทำอย่างไร

(1) ตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีจะได้รับการแยกเซลล์ออกมา 1-2 เซลล์ ด้วยเครื่องมือชนิดพิเศษโดยใช้เลเซอร์หรือกรด

(2) เซลล์ที่ได้จะถูกนำมาตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยว่าเซลล์นั้นมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ต้องการตรวจหาหรือไม่

(3) ตัวอ่อนเฉพาะที่มีเซลล์ที่ตรวจพบว่ามีความปกติเท่านั้นที่จะได้ย้ายเข้าโพรงมดลูกตามขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกต่อไป

อย่างไรก็ตามการตรวจโครโมโซมไม่สามารถดึงเอาทุกเซลล์มาตรวจได้ จะดึงแค่เซลล์บางส่วนมาตรวจ ดังนั้นจึงยังมีข้อจำกัดตรงนี้อยู่ แม่ๆ จึงต้องเผื่อใจไว้บ้างค่ะ ถึงแม้การแปรผลจากการตรวจโครโมโซมคือผ่านก็จริง แต่ก็ยังมีเซลล์ที่ไม่ได้ตรวจ มันก็อาจเป็นเซลล์เหล่านั้นก็ได้ที่ผิดปกติและส่งผลต่อการฝังตัว ประกอบกับยังมีปัจจัยอื่นอีกได้แก่ ความแข็งแรงของผนังมดลูก การดูแลตัวเองหลังใส่ตัวอ่อน หรือ การได้รับสารเคมีบางชนิดอาจส่งผลต่อการฝังตัวได้ค่ะ

ท้ายที่สุดนี้การดูแลร่างกายให้แข็งแรง เตรียมบำรุงผนังมดลูกให้พร้อมก่อนใส่ตัวอ่อน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และดูแลตัวเองหลังใส่ตัวอ่อนก็จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสในการฝังตัวได้ค่ะ

ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์
ผู้ก่อตั้ง BaByAndMom.co.th
เพจให้ความรู้ผู้มีบุตรยาก

ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page