ตอบคำถามคาใจแม่
ต้องรู้อะไรบ้าง ก่อนที่คิดจะมีลูก ?
6 คำถาม
ถามตัวเองเมื่อคิดจะมีลูก!
ก่อนคิดจะมีเบบี๋....ลองถามคำถาม 6 ข้อนี้กับตัวเองก่อนนะคะ
1. #วางแผนจะมีลูกกี่คน
"อยากมีลูกกี่คน" เหตุใดจำนวนจึงสำคัญ...
เพราะคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกคนแรกโดยวิธีการคลอดธรรมชาติ ควรทิ้งช่วงพักท้องในการมีลูกคนต่อไปสัก 6 เดือนค่ะ เพื่อให้มดลูกที่ขยายกลับเข้าสู่ภาวะปกติและแข็งแรงเสียก่อน
ส่วนคุณแม่ที่ผ่าคลอดทางหน้าท้องจะต้องทิ้งระยะห่างในการมีลูกคนต่อไปไม่น้อยกว่า 1 ปีค่ะ เพื่อรอให้แผลภายในช่องท้องสมานกันดี มดลูกแข็งแรง จะได้ไม่เกิดภาวะเสี่ยงในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น มดลูกแตก
#ในเรื่องการให้นมลูกคนแรก ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งค่ะ หากคุณแม่วางแผนจะให้นมลูกคนแรกให้เต็มที่ ก็ควรเว้นระยะมีลูกคนที่สองก่อนค่ะ (อาจจะให้นมสัก 1.5 - 2 ปี จึงจะเริ่มแพลนคนที่ 2 ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแม่ๆ แต่ละคน)
เพราะการที่เราให้นมลูกแบบเต็มที่ ส่งผลให้ "ฮอร์โมนโปรแลคติน" ยังสูงอยู่ ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้เรียกอีกอย่างว่า "ฮอร์โมนน้ำนม" มันไปยับยั้งการตกไข่ ส่งผลให้เรา "ไข่ไม่ตก" และยังไม่มีประจำเดือน ถือเป็นการคุมกำเนิดในตัว ซึ่งยังท้องเองตามธรรมชาติยากค่ะ แต่ก็มีบางที่ฮอร์โมนตัวนี้สูงยังมีน้ำนมให้ลูกอยู่ แต่ไข่ก็ฟลุ๊คตกมาได้เหมือนกัน ท้องได้เหมือนกัน ดังนั้นอย่าคาดหวังว่า ประจำเดือนยังไม่มา แล้วจะคุมกำเนิดได้ 100% นะคะ
ถ้าเราต้องการตั้งท้องคนที่สอง ก็ต้องงดให้นมลูกคนแรกเสียก่อน ขั้นตอนนี้อาจจะยากนิดนึงค่ะ เพราะว่าเด็กจะไม่ยอมปล่อยเต้าง่ายๆแน่นอน ต้องเคลียร์กันยาวเลยค่ะ อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงความรู้สึกของลูกคนแรกมาเป็นอันดับสำคัญด้วยนะคะ
อีกประการหนึ่งหากเรายังให้นมลูกคนแรกแล้ววางแผนจะ "ทำเด็กหลอดแก้ว" การกระตุ้นไข่ทำเด็กหลอดแก้วก็สามารถทำได้ค่ะแต่อาจทำให้เสี่ยงแท้งได้ง่ายขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนน้ำนมที่ชื่อว่า “โปรแลคติน” จะไปขัดการทำงานกับฮอร์โมนตั้งครรภ์ "โปรเจสเตอโรน" ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมการฝังตัว ดังนั้นให้นมลูกคนแรกให้เพียงพอแล้ว จึงวางแผนท้องลูกคนที่สองน่าจะดีที่สุด
ที่กล่าวมานี้เพื่อแม่ๆ จะได้วางแผนไว้คร่าวๆ ว่าต้องใช้เวลากี่ปี เพราะแต่ละปีที่เราอายุมากขึ้น ไข่ก็เสื่อมคุณภาพลงไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นต้องวางแผนให้ดี หากมั่นใจแล้วก็ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป เพราะยิ่งนานไป ก็จะยิ่งท้องยากขึ้นค่ะ
2. #ฉันควรฝากไข่หรือไม่
ถามตัวเองให้ชัดค่ะ ว่าจะมีลูกตอนอายุเท่าไหร่ ตอนนี้ยังมีภาระหน้าที่อะไรต้องทำอยู่บ้าง หากต้องศึกษาต่อ มีภาระหน้าที่การงานยังต้องทำอีกเยอะ หรือ สภาพร่างกายเจ็บป่วยต้องรักษาตัวอีกนาน ปล่อยเวลาไปเรื่อยๆ อายุมาก ไข่ก็เสื่อมลงค่ะ
ดังนั้นหากตัดสินใจได้แล้ว "การฝากไข่" ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะหยุดอายุเซลล์ไข่ของเราไว้ได้ พร้อมเมื่อไหร่ก็ชวนคุณสามีไปพบแพทย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้วต่อไปค่ะ
3. #ฉันจะดูแลร่างกายอย่างไรเพื่อรักษาสภาวะเจริญพันธุ์เอาไว้
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงพร้อมส่งผลต่อความสมบูรณ์ของภาวะเจริญพันธุ์และการตั้งครรภ์ที่ง่ายขึ้น
ถึงแม้จะไม่ได้วางแผนจะมีลูกในตอนนี้ แต่ในอนาคตอยากมีแน่ แม่ๆ ต้องเริ่มบำรุงเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนนะคะ
หัวใจหลักของการบำรุงคือ "ต้องบำรุงล่วงหน้าก่อนตั้งครรภ์" จึงจะส่งผลต่อการรักษาภาวะเจริญพันธุ์เอาไว้ได้
และการบำรุงต้องบำรุงให้ "ตรงจุด" ตรงปัจจัยที่สำคัญในการตั้งครรภ์ ในส่วนของผู้หญิง ได้แก่ เซลล์ไข่ มดลูก และ ฮอร์โมนที่สมดุล
การบำรุงทำได้ด้วยการทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการค่ะ
จากงานวิจัยเรื่อง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Public Health, Population, Reproductive and Sexual Health เมื่อปี 2018
เปิดเผยว่า การรับประทานอาหารส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของทั้งหญิงและชาย โดยการหลีกเลี่ยงการทานไขมันอิ่มตัว (ไขมันทรานส์ ) เน้นทานพวกธัญพืชไม่ขัดสี ผักผลไม้ และ โปรตีนจากปลา ส่งผลต่อดีต่อภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิงและส่งผลให้สปิร์มมีคุณภาพมากขึ้นในผู้ชาย
ในขณะที่แอลกอฮอล์ คาเฟอีน ของหวาน(น้ำตาล) และไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) คือตัวร้ายที่ทำให้มีบุตรยาก (Infertility)เพราะทำให้เซล์เสื่อมและแก่
ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัย ยังชี้เฉพาะเจาะจงไปถึงการรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ และการเน้นโปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) โดยผู้หญิงที่เน้นทานโปรตีนจากพืช ทานผักผลไม้ ทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืชต่างๆ) ทานไขมันดี (โอเมก้า 3 ) ทานแร่ธาตุที่สำคัญ อันได้แก่ โฟเลต สังกะสี และธาตุเหล็ก พบว่ามีความเสี่ยงที่อยู่ในภาวะมีบุตรยากน้อยลงถึง 66% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทานอาหารตามรูปแบบข้างต้น
ดังนั้นการทานอาหารจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากต่อภาวะเจริญพันธุ์ (Fertility) ค่ะ ต้องทานให้เพียงพอ ทานให้ครบ ทานที่มีประโยชน์เท่านั้น
ไม่ใช่แค่กินอะไรก็ได้
แต่ต้องกินให้ได้สารอาหารให้ครบ 5 หมู่ อันได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุ
โดยครูก้อยได้สรุป 5 Keys to Success สูตรสำเร็จในการทานอาหารถูกหลักโภชนาการตามงานวิจัยมาให้แล้ว โดยให้ทานอาหารดังนี้ค่ะ
(1) เพิ่มโปรตีน : เน้นโปรตีนจากพืช
(2) ลดคาร์บ : ลดคาร์บขัดสี แป้งขาว ข้าวขาว
(3) งดหวาน : งดหวานเด็ดขาด
(4) ทานกรดไขมันดี : น้ำมันมะกอก ปลาแซลมอน อโวคาโด งาดำ แฟล็กซีด เมล็ดฟักทอง และ Fish oil เป็นต้น
(5) เน้นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ : จากผักผลไม้สด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ หรือ น้ำมะกรูดสด
1 เสริมวิตามินบำรุงก่อนตั้งครรภ์ล่วงหน้า 3 เดือน
4. #ฉันต้องทานวิตามินบำรุงล่วงหน้าก่อนตั้งครรภ์หรือไม่
ข้อนี้สำคัญมาก ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญโดยคิดว่ายังไม่ท้องจึงไม่ต้องทานวิตามินบำรุงล่วงหน้า...จริงๆ แล้วหัวใจสำคัญในการส่งผลให้ตั้งครรภ์ง่ายขึ้น และเป็นครรภ์ที่สมบูรณ์แข็งแรงนั้น แม่ๆ ต้องได้รับวิตามินและแร่ธาตุจำเป็นที่เพียงพออย่างน้อยล่วงหน้า 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์
จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Medicine Insight Womens Health เมื่อปี 2019
ได้รวบรวมผลการศึกษา ถึงความสำคัญของ micronutrients ซึ่งได้แก่ "วิตามินและแร่ธาตุ" ที่จำเป็นที่ผู้หญิงวางแผนท้องที่ควรได้รับล่วงหน้าก่อนตั้งครรภ์
งานวิจัยศึกษาพบว่าสาเหตุของภาวะมีบุตรยากนอกจากการทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการแล้ว การขาดวิตามินและแร่ธาตุก็เป็นสาเหตุหลักประการหนึ่ง เพราะวิตามินและแร่ธาตุมีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมให้ระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้อย่างปกติและสมบูรณ์ รวมถึงระบบสืบพันธุ์ด้วย
วิตามินและแร่ธาตุมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาวะเจริญพันธุ์ และการได้รับวิตามินและแร่ธาตุ "ไม่เพียงพอ" เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้มีบุตรยาก
ดังนั้นการรับประทานวิตามินและแร่ธาตุบำรุง "ก่อนการตั้งครรภ์" จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอและช่วยส่งเสริมภาวะเจริญพันธุ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นค่ะ
ช่วยลดความเสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิด
ส่งผลต่อคุณภาพและการเจริญเติบโตของเซลล์ไข่ (oocyte quality and maturation)
การปฏิสนธิ ( fertilization)
การฝังตัวของตัวอ่อน (implantation)
การเจริญเติบโตของตัวอ่อน (embryo development)
ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นศัตรูตัวร้ายของภาวะเจริญพันธุ์อีกด้วย
โดยหัวใจสำคัญคือ ต้องทานอย่างต่อเนื่องล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ค่ะ เป็น "prenatal vitamins" หรือ "วิตามินเตรียมตั้งครรภ์" ที่จะเสริมสารอาหารให้กับร่างกายแม่ๆเตรียมพร้อมก่อนเกิดการปฏิสนธิและการแบ่งตัวของตัวอ่อน
5. #ฉันต้องพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องการมีลูกหรือไม่
หากวางแผนมีเบบี๋ ในเบื้องต้นควร "ตรวจร่างกาย" เพื่อเตรียมพร้อมมีบุตรค่ะ ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ "ผู้มีบุตรยาก" แต่เป็นการตรวจร่างกายทั่วไป ทุกโรงพยาบาลจะมีแพคเกจตรวจสำหรับคู่สมรสที่เตรียมจะมีลูก
โดยจะเป็นการตรวจเพื่อให้ทราบถึงสุขภาพโดยรวมของทั้งคุณพ่อและคุณแม่ รวมไปถึงหมู่เลือด โรคทางพันธุกรรมต่างๆ หรือความผิดปกติใดๆก็ตามที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือทารกในครรภ์ได้
เมื่อพยายามมีเบบี๋มาเป็นปีแล้วยังไม่ท้อง จึงจะถึงเวลาไปปรึกษา "แพทย์มีบุตรยาก" โดยเฉพาะแล้วค่ะ
จากหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้ประเมิน "ภาวะมีบุตรยาก" มีหลักเกณฑ์ ดังนี้ค่ะ
มีเพศสัมพันธุ์กันอย่างสม่ำเสมอ (สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง)
โดยไม่คุมกำเนิด
เป็นระยะเวลา 1 ปี (ถ้าฝ่ายหญิงอายุ 35 ไม่ต้องรอ 1 ปีค่ะ แค่ 6 เดือน)
แล้วยังไม่ท้อง ถือว่าเข้าข่าย "ภาวะมีบุตรยาก" แล้วค่ะ
พิจารณาตามเกณฑ์นี้ ก็อย่ารีรอ รีบจูงมือกันไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหาสาเหตุอย่างละเอียดต่อไปค่ะ
6. #ฉันจะทำอย่างไรกับการคุมกำเนิด
เมื่อยังไม่คิดจะมีลูก การคุมกำเนิดเป็นสิ่งที่ควรทำ หากแม่ๆ คุมกำเนิดมานานและวางแผนจะมีน้องก็ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะการคุมกำเนิดไม่ว่าด้วยวิธีใด ไม่ส่งผลต่อการที่จะทำให้ตั้งครรภ์ยากขึ้น
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Human Reproduction เมื่อปี 2013 ได้ศึกษาผู้หญิงที่ทานยาคุม (Oral Contraceptive)โดยเก็บข้อมูลเป็นเวลา 3 ปี พบว่าการทานยาคุมกำเนิดไม่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้นผู้หญิงที่ทานยาคุมประเภทที่มีฮอร์โมน estrogen และ progestine เป็นเวลากว่า 2 ปี ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ทานติดต่อกันน้อยกว่า 2 ปี
ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Contraception เมื่อปี 2011 ศึกษาพบว่า...การทานยาคุมไม่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ เช่นเกียวกับการคุมกำเนิดประเภทอื่นๆ ได้แก่ การใส่ห่วงคุมกำเนิด การฉีด แปะ หรือ ฝังยาคุมกำเนิด
กล่าวโดยสรุปคือ ไม่ว่าคุณจะคุมกำเนิดโดยวิธีใดก็ะไม่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ในอนาคตค่ะ
แม่ๆที่ทานยาคุมมานาน...เมื่อวางแผนจะตั้งครรภ์ควรหยุดทานยาคุมและปล่อยให้ประจำเดือนมาก่อนสัก 3 เดือนแล้วค่อยปล่อยตั้งครรภ์ค่ะ เพื่อเป็นการปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกายให้คงที่เสียก่อน ระหว่าง 3 เดือนนั้นก็ให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นไปก่อนค่ะ
ถามตัวเองให้ชัด หาคำตอบให้ได้ วางแผนให้ถูก เพื่อการบำรุงเตรียมตัวล่วงหน้าที่ถูกต้อง เป็นการเพิ่มโอกาสท้อง และให้ครรภ์นั้นเป็นครรภ์ที่สมบูรณ์แข็งแรงที่สุดค่ะ