top of page

ตอบคำถามคาใจแม่

ไข 5 ข้อข้องใจ... ทำไมถึงท้องยาก ?

คู่สมรสหลายคู่ที่พยายามจะมีเบบี๋มาเป็นโซ่ท้องคล้องใจ แต่กลับต้องประสบกับปัญหาการมีบุตรยาก พยายามมาเป็นปีเจ้าตัวน้อยก็ยังไม่มาสักที..วันนี้ครูก้อยรวบรวมข้อมูลมาไขข้อข้องใจให้แล้วค่ะว่าเหตุใดจึงท้องยาก ไปศึกษาพร้อมกันเลยค่ะ

1. #เซลล์ไข่เสื่อม

เซลล์ไข่เสื่อม หรือ เซลล์ไข่ด้อยคุณภาพเป็นปัญหาที่พบเจอมากที่สุดของฝ่ายหญิงเลยค่ะ แม่ๆบางคนอาจจะยังไม่มีความเข้าใจ หรือเข้าใจผิดคิดว่าเรายังอายุไม่เยอะ ยังแข็งแรง ยังไม่แก่ แต่เซลล์ไข่ของเรานั้นเสื่อมไปตามวัยโดยไม่ได้คำนึงว่าเรายังรู้สึกหนุ่มสาวหรือไม่นะคะ ในทางการแพทย์นั้นโครโมโซมของเซลล์ไข่จะผิดปกติขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้นดังนี้

สถิติความปกติของโครโซมของเซลล์ไข่ในแต่ละช่วงอายุ

อายุ 25 โครโมโซมปกติ 75%
อายุ 35 โครโมโซมปกติ 50%
อายุ 40 โครโมโซมปกติ 10-15%

ความสัมพันธ์ของอายุกับคุณภาพของไข่ก็คือ...
เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสที่จะมีไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติ (aneuploid) เพิ่มขึ้น ไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติคือมีจำนวนโครโมโซมมาก หรือ น้อยกว่า 23 แท่ง หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นจากไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติอาจจะส่งผลให้..
ตัวอ่อนไม่ฝังตัว (embryo fails to implant in the uterus)
แท้งในระยะเริ่มแรก (miscarriage)
ทารกเป็นดาวน์ซินโดรม

2. #ผนังมดลูกไม่พร้อม

การจะตั้งครรภ์นั้น นอกจากจะต้องมีเซลล์ไข่ที่สมบูรณ์แล้ว เมื่อเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนน้อยๆ ตัวอ่อนก็จะเคลื่อนมาฝังตัวที่ผนังมดลูกและเจริญเติบโตในครรภ์ต่อไป ดังนั้นผนังมดลูกจึงเปรียบเสมือนบ้านหลังแรกของตัวอ่อน ผนังมดลูกที่แข็งแรงจึงจะเป็นบ้านที่สมบูรณ์พร้อมให้ตัวอ่อนมาฝังตัวและเจริญเติบโตต่อไปได้

ผนังมดลูกที่สมบูรณ์พร้อมต้องมีลักษณะดังนี้
มดลูกที่อุ่น เนื่องจากมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเพียงพอ
หนา 8-10 มิล
ใส ไม่ทึบ
เรียง 3 ชั้นสวย (Triple lines)

นอกจากนี้ต้องไม่มีความผิดปกติที่มดลูก เช่น มีเนื้องอกที่โพรงมดลูก มีติ่งเนื้อที่โพรงมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ หรือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่ขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนทั้งสิ้น

3. #ฮอร์โมนไม่สมดุล

ฮอร์โมนเป็นสิ่งสำคัญมากที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย สำหรับระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงนั้นมีฮอร์โมนที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) มีหน้าที่ควบคุมลักษณะต่าง ๆ ของเพศหญิง เช่น การตกไข่ การมีประจำเดือน สะโพกผาย เสียงแหลม และ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ทำหน้าที่กระตุ้นมดลูกให้เตรียมรับการฝังตัวของตัวอ่อน เมื่อมีการตกไข่ หรือ ปฏิสนธิ หากฮอร์โมนไม่สมดุลหรือผิดปกติจะส่งผลต่อการทำงานของรังไข่ ทำให้ไข่ไม่เจริญเติบโต มีปัญหาเรื่องรอบเดือนไม่ปกติส่งผลต่อวงจรการตกไข่ที่ไม่ปกติ ทำให้ท้องยากนั่นเองค่ะ

นอกจากนี้หากมีความผิดปกติเรื่องการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Luteal Phase Defect) ซึ่งร่างกายจะถูกสร้างหลังไข่ตกเพื่อทำให้ผนังมดลูกฟอร์มตัวหนาขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน หากมีปัญหาเรื่องนี้แม่ๆก็จะประสบกับภาวะที่ตัวอ่อนไม่ฝังตัว หรือ แท้งในระยะเริ่มต้นได้ง่ายนั่นเองค่ะ

4. #ปัญหาระบบสืบพันธุ์ของฝ่ายหญิง

แม่ๆที่ประสบปัญหามีบุตรยาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียด ในทางการแพทย์นั้น หากคู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอโดยไม่คุมกำเนิดเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้วยังไม่ท้อง ถือว่าอยู่ในภาวะมีบุตรยากแล้วค่ะ ยิ่งถ้าฝ่ายหญิงมีอายุ 35 ปีขึ้นไปแล้ว ไม่ต้องรอถึง 1 ปีค่ะ แค่ 6 เดือนแล้วยังไม่ท้องควรรีบปรึกษาแพทย์ เนื่องจากแม่ๆอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธ์ เช่น รังไข่เสื่อมก่อนวัย ท่อนำไข่อุดตัน ปากมดลูกตีบ ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง(PCOS) ท่อนำไข่บวมน้ำ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อการการมีบุตรยาก จึงควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาหตุและรักษาต่อไปค่ะ

5. #ปัญหาอสุจิจากฝ่ายชาย

การตั้งครรภ์แน่นอนว่าต้องการอสุจิจากฝ่ายชายด้วย หากอสุจิของฝ่ายชายไร้คุณภาพ การปฏิสนธิก็เกิดขึ้นได้ยากค่ะ ดังนั้นหากคู่ของคุณกำลังประสบปัญหามีบุตรยาก ควรจะจูงมือคุณสามีไปตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen Analysis) ด้วยนะคะ โดยเกณฑ์การวัดคุณภาพของอสุจิมีดังนี้

1.ปริมาตรของน้ำเชื้อที่หลั่ง ต้องหลั่งได้ไม่น้อยกว่า 1.5 cc. ต่อการหลั่ง 1 ครั้ง

2.จำนวนสเปิร์ม ต่อการหลั่ง 1 ครั้ง ต้องไม่น้อยกว่า 15 ล้านตัวต่อ 1 cc.

3.อัตราการเคลื่อนไหวของสเปิร์ม ต้องมีเปอร์เซ็นการเคลื่อนไหวไม่ต่ำกว่า 40%

4.รูปร่างของสเปิร์ม ต้องมีรูปร่างสมบูรณ์ ปกติไม่น้อยกว่า 4 %

ซึ่งการที่อสุจิไร้คุณภาพตามข้อหนึ่งข้อใดก็อาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยากค่ะ

ดังนั้นคู่สมรสที่วางแผนมีบุตรต้องดูแลบำรุงเซลล์ไข่และสเปิร์มให้สมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลด ละ เลิกพฤติกรรมทำร้ายเซลล์ไข่และสเปิร์ม เช่น การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ฝ่ายหญิงต้องดูแล บำบัดมดลูก ให้สมบูรณ์พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อนด้วยการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์อุ่น กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงมดลูกอย่างเพียงพอ และท้ายที่สุดควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคของการตั้งครรภ์ได้นั่นเองค่ะ

ครูก้อยรวบรวมคัมภีร์อาหารบำรุงไข่ บำรุงสเปิร์ม และการเตรียมผนังมดลูกให้พร้อมมาให้แล้ว อยากท้องต้องศึกษาและปฏิบัติตามนะคะ สู้ๆค่ะ ครูก้อยขอให้ทุกคู่มีเบบี๋ในเร็ววันค่า

ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page