ทำ IUI หรือ ICSI เลือกเองได้ไหม ?
top of page

ตอบคำถามคาใจแม่

ทำ IUI หรือ ICSI เลือกเองได้ไหม ?

คู่สมรสที่มีบุตรยากที่ต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางแพทย์รักษา หากกำลังหาข้อมูลอยู่คงเคยได้ยิน "การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก" (IUI) หรือ "การทำเด็กหลอดแก้ว" (ICSI) มาบ้างแล้ว

เกิดคำถามว่า...คู่เราควรรักษาแบบใด? และเราเลือกเองได้หรือไม่? ไปหาคำตอบกันค่ะ

1.#การฉีดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก
Intra-uterine insemination (IUI)

IUI ไม่ต่างจากการปฏิสนธิตามธรรมชาติ เป็นเพียงการย่นระยะเวลาให้สเปิร์มเจอกับไข่ได้ง่ายขึ้น

โดยกระบวนการทำ IUI มีขั้นตอนดังนี้

มีการกระตุ้นการตกไข่ในผู้หญิง เมื่อขนาดของถุงไข่เจริญเต็มที่ ก็ฉีดยากระตุ้นให้ไข่สุกและเกิดการตกไข่

ฝ่ายชายต้องมาเก็บน้ำเชื้อ

จากนั้นแพทย์จะฉีดน้ำเชื้อที่ผ่านการเตรียมจากห้องปฏิบัติการเรียบร้อยแล้วเข้าไปสู่โพรงมดลูกแล้ว #ให้อสุจิกับไข่ปฏิสนธิกันเอง เป็นการปฏิสนธิในร่างกาย ซึ่งเป็นวิธีใกล้เคียงธรรมชาติ

IUI เหมาะกับใคร

1. คู่สามีภรรยาที่ไม่ทราบสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก

2. เพศหญิงอายุไม่เกิน 35 ปี

3. ฝ่ายหญิงมีท่อนำไข่ปกติอย่างน้อยหนึ่งข้าง เพื่อให้อสุจิว่ายไปพบเซลล์ไข่และเกิดปฏิสนธิได้

4. ฝ่ายหญิงมีความผิดปกติ เช่น ปากมดลูกตีบ (Cervical Stenosis)

5. ฝ่ายหญิงมีภาวะไข่ตกผิดปกติ

6. ฝ่ายชายอสุจิผิดปกติเล็กน้อย-ปานกลาง

2.#การทำเด็กหลอดแก้ว
Intracytoplasmic Sperm Injection (ICSI)

การทำเด็กหลอดแก้วต่างจาก IUI เพราะเป็นการปฏิสนธิภายนอก ไม่ใช่ปฏิสนธิตามธรรมชาติ แพทย์จะจับอสุจิเจาะเนื้อไข่โดยตรง ปฏิสนธิแล้วเลี้ยงเป็นตัวอ่อนในห้องแล็บ จากนั้นจะย้ายตัวอ่อนกลับเข้าโพรงมดลูก

โดยกระบวนการทำ ICSI มีดังนี้

ฉีดยากระตุ้นไข่ฝ่ายหญิง เมื่อไข่เจริญเติบโตเต็มที่ก็จะมีการเก็บไข่ออกมา

ฝ่ายชายต้องมาเก็บน้ำเชื้อ

คัดเลือกไข่สุก และ คัดเลือกเอาสเปิร์มที่ดีที่สุดหนึ่งตัวผสมกับไข่ที่อยู่ในระยะที่เหมาะสมในการปฏิสนธิหนึ่งใบ โดยการใส่สเปิร์มเข้าไปในเนื้อไข่โดยตรง

เลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะที่เหมาะสม (ระยะบลาสโตซิสต์)

ย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก

หากตัวอ่อนฝังตัว ภายใน 14 วันก็ตรวจการตั้งครรภ์ได้

ICSI เหมาะกับใคร

1. ฝ่ายหญิงที่อายุมาก 35 ปีขึ้นไป เซลล์ไข่เริ่มเสื่อมคุณภาพ

2.ฝ่ายชายมีสเปิร์มที่อ่อนแอมากๆ ทั้งทางด้านรูปร่างของ ความสามารถในการเคลื่อนที่ รวมถึงจำนวนของสเปิร์มมีน้อย

3.ฝ่ายชายที่เป็นหมันหรือทำหมัน แต่ยังคงมีการสร้างสเปิร์มและสามารถนำสเปิร์มออกมาได้จากวิธีการผ่าตัด เช่น การทำ PESA, TESE เป็นต้น

4.คู่สมรสที่เคยไม่ประสบความสำเร็จในการทำ IUI

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคู่ของเราเหมาะสมกับการใช้เทคโนโลยีแบบไหน...ขึ้นอยู่กับปัญหาและสภาพร่างกายของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย

การทำ IUI ค่าใช้จ่ายถูกกว่า ICSI หลายเท่า แต่ถ้าคู่เรามีปัญหาหนัก เช่น เป็นหมัน หลั่งแล้วไม่มีตัวสเปิร์ม หรือฝ่ายหญิงอายุมาก ทำ IUI ไปโอกาสสำเร็จก็น้อย

หรือ บางคู่ฝ่ายหญิงท่อนำไข่ตัน แบบนี้ทำ IUI ไม่ได้เพราะไม่มีช่องทางให้สเปิร์มไปพบกับไข่

ดังนั้นการจะใช้วิธีการรักษาแบบไหนแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาจากการตรวจร่างกายของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย แพทย์จะกำหนดการรักษาให้เหมาะสมค่ะ

ที่สำคัญที่สุด ก่อนเข้ากระบวนการเก็บไข่และเก็บน้ำเชื้อครูก้อยแนะนำให้ทานอาหารบำรุงไข่ บำรุงสเปิร์มล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนนะคะ เพื่อบำรุงให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพจากทั้งฝั่งคุณพ่อและคุณแม่

บวกกับความช่วยเหลือของเทคโนโลยีทางการแพทย์
ก็จะช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ไม่เสียเงินและเสียเวลาไปเปล่าๆค่ะ บำรุงไปดี โอกาสได้ตัวอ่อนที่มีคุณภาพมีสูงขึ้น อัตราความสำเร็จก็สูงขึ้นนะคะ

ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page