top of page

ตอบคำถามคาใจแม่

ฝากไข่ไว้ก่อนได้หรือไม่ ?

สาวโสดฟังทางนี้
#ฝากไข่ไว้ก่อนได้...
พร้อมเมื่อไหร่ ท้องได้เลย

สาวๆ ยุคใหม่แต่งงานช้า กว่าจะแต่งอายุก็ปาไป 30 กว่าจะคิดมีลูกก็ 35 อัพ ช้าขนาดนี้น้องไข่เราเค้าขอโบกมือลาไปก่อนแล้วค่า เซลล์ไข่ของผู้หญิงจะเสื่อมไปตามวัย ยิ่งอายุมากไข่ยิ่งเสื่อม โครโมโซมไข่ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์ผิดปกติมากขึ้น ถ้าท้องกับไข่แบบนี้โอกาสลูกเป็นดาวน์ซินโดรมหรือโอกาสแท้งมีสูง แต่จะทำยังไงในเมื่อวัยที่เหมาะสมในการตั้งครรภ์ (20-30ปี) เรายังไม่พร้อมที่จะมีลูก ทางออกอยู่ที่ "การฝากไข่"ค่ะ

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำหน้าในปัจจุบันผู้หญิงเราสามารถสตาร์ฟอายุไข่ตอนวัยสาวไว้ก่อนได้ด้วยการ "ฝากไข่" หรือ "แช่แข็งไข่" พร้อมเมื่อไหร่ก็เอาออกมาใช้ได้เลย อย่างไรก็ตามการฝากไข่มีเงื่อนไขทางกฎหมายกำหนดเอาไว้

วันนี้ครูก้อยรวบรวมเรื่องการฝากไข่มาฝากแม่ๆ
เราไปศึกษาพร้อมกันเลยค่ะว่าผู้หญิงเราสามารถฝากไข่ได้ในกรณีใดบ้าง

ตามประกาศแพทยสภาที่ 95(9)/2558 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการฝากไข่ดังนี้

1.ผู้ฝากไข่ต้องลงนามในหนังสือแสดงความยินยอมในการฝากให้เก็บรักษา

2.ต้องมีการตรวจผู้ฝากไข่เพื่อป้องกันการถ่ายทอดโรคติดต่อ เช่น เอชไอวี ตับอักเสบและซืฟิลิส เป็นต้น

3. การเก็บแช่แข็งไข่ของตนเองเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำไปปฏิสนธิกับอสุจิของสามีที่ชอบด้วยกฎหมายในอนาคต

4. การเก็บแช่แข็งไข่ของตนเองก่อนการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการรักษาอื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อรังไข่

5. กำหนดระยะเวลาเก็บไข่ไว้ ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ยกเว้นมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้อย่างอื่น

#การฝากไข่นั้น ไข่ที่เก็บออกมาจะถูกนำไปแช่แข็ง การแช่แข็งไข่นี้เหมือนเป็นการหยุดอายุไข่ไว้เท่าอายุตอนที่เก็บไข่ไม่ให้มากขึ้นไปตามอายุจริง

ทั้งนี้ความคงทนของไข่ที่ผ่านการแช่แข็งจะน้อยกว่าตัวอ่อน เมื่อถึงเวลาละลายไข่ที่แช่แข็งไว้ออกมาปฏิสนธิอาจได้ปริมาณไข่ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการแช่แข็งแบบเป็นตัวอ่อน

#การฝากไข่ใครทำได้บ้าง

1. #คนที่กำลังรักษาโรคมะเร็ง

เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์เพศหญิง เช่น การรับเคมีบำบัดอาจทำให้ไม่มีการตกไข่ ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หรือในบางรายอาจต้องจำเป็นต้องตัดรังไข่ออก

การนำไข่มาฝากไว้ก่อน จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการวางแผนมีบุตรหลังจากที่รักษาโรคมะเร็งจนหายดีแล้ว

2. #คนในครอบครัวเคยมีประวัติประจำเดือนหมดเร็ว

โดยปกติผู้หญิงจะตกไข่ได้ประมาณ 400-500 ใบ ตลอดช่วงชีวิต ซึ่งจะอยู่ระหว่างช่วงอายุ 47-50 ปี

แต่หากคนในครอบครัวหมดประจำเดือนไวกว่านี้ ก็เป็นไปได้ว่าคุณจะหมดประจำเดือนไวเช่นกัน ทำให้ระยะเวลาที่สามารถตั้งครรภ์ได้ สั้นกว่าคนอื่นๆ หากต้องการมีบุตรควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝากไข่

3. #คนที่ยังไม่พร้อมมีบุตรในตอนนี้แต่อยากมีบุตรในอนาคต

เนื่องจากผู้หญิงหลายคนกำลังวางแผนที่จะเรียนต่อต่างประเทศ หรือกำลังให้ความสำคัญกับการทำงาน จึงทำให้ไม่พร้อมต่อการมีบุตร

หากอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ที่ไข่มีความสมบูรณ์ ก็สามารถนำฝากไข่เพื่อเก็บไว้ผสมหลังจากที่ตนเองมีความพร้อมแล้ว แต่เมื่อพร้อมต้องมีใบทะเบียนสมรสพร้อมสามีมาแสดงตัวนะคะ สาวโสดอยากมีลูกและจะขอรับบริจาคสเปิร์มแบบนี้ทำไม่ได้ตามกฎหมายค่ะ

4. #ผู้มีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการมีบุตรและระบบสืบพันธุ์ในอนาคต

เช่น ผู้มีแนวโน้มที่จะเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝากไข่

#การฝากไข่ควรทำเมื่อไร

หากมีความต้องการฝากไข่ ควรทำตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์และไข่มีความแข็งแรงสมบูรณ์ที่สุด คือช่วงอายุ 20-35 ปี

แต่หากมาฝากไข่หลังจากอายุ 35 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะตั้งครรภ์สำเร็จเมื่อนำไข่ออกมาใช้จะน้อยลง ฉะนั้นการฝากไข่จึงเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การฝากไข่เพื่อตั้งครรภ์ในภายหลังไม่ใช่วิธีที่ได้ผล 100% เนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความแข็งแรงของผู้ฝากไข่ ความแข็งแรงของสเปิร์ม อายุของทั้ง 2 ฝ่ายด้วยค่ะ

#ก่อนฝากไข่ต้องเตรียมตัวอย่างไร

หลายคนคิดว่า หากตัดสินใจได้แล้วว่าจะฝากไข่ ก็สามารถเข้าไปติดต่อเพื่อจัดการได้เลย แต่ความจริงแล้วการฝากไข่ต้องอาศัยการเตรียมการเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ดังนี้

1. ซักประวัติทั่วไป

แพทย์จะทำการซักประวัติทางการแพทย์ทั่วไป เช่น ประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ประเมินความสม่ำเสมอของรอบเดือน ระดับฮอร์โมนในเลือด

2. วางแผนการเพิ่มปริมาณตกไข่

เมื่อซักประวัติและตรวจเลือดแล้ว แพทย์จะพิจารณาให้ฉีดฮอร์โมนตามความเหมาะสม เพื่อเพิ่มปริมาณการตกไข่ในให้มากกว่า 1 ใบ

เนื่องจากปกติรังไข่จะสลับกันตกไข่เดือนละใบเท่านั้น แต่การฝากไข่นิยมเก็บพร้อมกันทีเดียวหลายๆ ใบ อาจอยู่ระหว่าง 10-30 ใบ เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการฝากไข่และการนำไข่มาใช้ภายหลัง

3. ฉีดฮอร์โมนเพิ่มปริมาณตามคำแนะนำของแพทย์

แพทย์อาจให้ฮอร์โมนมาฉีดเองได้ที่บ้านหลายชนิด ได้แก่

Follicle-stimulating hormone (FSH) และ Luteinizing hormone (LH) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่มากขึ้น อาจฉีดต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์

Gonadotropin-releasinh hormone (GnRH)เป็นฮอร์โมนที่ป้องกันไม่ให้ประจำเดือนมาเร็วกว่าปกติ แพทย์อาจให้ฉีดเมื่อผ่านไปเมื่อรอบเดือนผ่านไปครึ่งรอบ

Human chorionic gonadotropin (HCG) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้ไข่สุก

#ขั้นตอนการฝากไข่ทำอย่างไร

ขั้นตอนของการฝากไข่มีดังต่อไปนี้

1. เมื่อถึงกำหนดวันไข่ตกตามที่แพทย์นัด แพทย์จะให้ยาสลบระยะสั้นและยาแก้ปวดก่อนเริ่มกระบวนการ

2.แพทย์จะใช้อัลตราซาวด์ (Ultrasound) ในการฉายภาพรังไข่เพื่อหาตำแหน่งตกไข่ จากนั้นจะดูดออกมาผ่านทางช่องคลอด แต่หากใช้อัลตราซาวด์หาตำแหน่งไม่เจอ แพทย์อาจใช้การผ่าทางช่องท้องเพื่อนำไข่ออกมา

3.หลังจากได้ไข่ออกมา แพทย์จะตรวจความสมบูรณ์ของไข่ภายในห้องปฏิบัติการ จากนั้นก็จะนำไปเข้ากระบวนการแช่แข็ง

หากคู่รักที่มีสเปิร์มจากสามีอยู่แล้ว อาจปรึกษาแพทย์เพื่อผสมตัวอ่อนเอาไว้เลย จากนั้นค่อยนำไปแช่แข็ง (Embryo freezing) ซึ่งการผสมตัวอ่อนก่อนแช่แข็ง มีแนวโน้มจะสำเร็จมากกว่าการฝากไข่เพียงอย่างเดียว

#ฝากไข่ราคาแพงไหม

การฝากไข่จะมีราคาประมาณ 100,000-150,000 บาท ซึ่งราคาจะต่ำหรือสูงนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน และยังมีค่าฝากไข่รายปีอีกด้วย ประมาณ 1,500 บาทต่อปี

นอกจากนี้บางโรงพยาบาลอาจมีค่าเก็บรักษาไข่เป็นรายปีอยู่ระหว่าง 2,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลและจำนวนไข่

#การฝากไข่มีผลข้างเคียงหรือไม่

แม้การฝากไข่ค่อนข้างปลอดภัย หลังจากทำเสร็จแล้วสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่การฉีดฮอร์โมนเข้าไปในร่างกาย อาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลธรรมชาติ ทำให้อาจมีผลกระทบจากกระบวนการฝากไข่ ดังนี้

น้ำหนักขึ้น

ท้องอืด

อารมณ์แปรปรวน

ปวดหัว

#การฝากไข่สามารถทำได้ที่ใดบ้าง

โรงพยาบาลรัฐที่มีบริการฝากไข่ มีดังต่อไปนี้

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์

โรงพยาบาลรามาธิบดี

โรงพยาบาลศิริราช

โรงพยาบาลวิภาวดี

นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกชั้นนำอื่นๆ ที่ให้บริการฝากไข่ รวมถึงให้คำปรึกษาเรื่องการมีบุตรได้ค่ะ

รู้รายละเอียดการฝากไข่แล้วต้องวางแผนให้ดีนะคะเพราะถ้าอายุมากแล้วการฝากไข่ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมค่ะ

แม่ๆ ที่อยากมีบุตรแต่ไม่อยากฝากไข่ เราก็ยังมีโกาสท้องได้ตราบใดที่เรายังมีไข่ค่ะ โดยเราต้องบำรุงไข่ให้สมบูรณ์ด้วยการรับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูง เน้นโปรตีน เน้นสารต้านอนุมูลอิสระ ถึงแม้ไม่ได้ฝากไข่ไว้แต่ถ้าเราบำรุง ดูแลไข่อย่างต่อเนื่อง โอกาสท้องก็มีมากขึ้นแน่นอนค่ะ

ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page