กินยากระตุ้นไข่ตก ช่วยให้ท้องได้หรือไม่ ?
top of page

ตอบคำถามคาใจแม่

กินยากระตุ้นไข่ตก ช่วยให้ท้องได้หรือไม่ ?

สำหรับคู่สมรสที่มีบุตรยากที่จะต้องใช้วิธีการทางการแพทย์ในการรักษา เมื่อไปปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจจะให้ลองใช้วิธีที่ธรรมชาติก่อน นั่นก็คือการให้ฝ่ายหญิง "กินยาเพื่อกระตุ้นใข่" ให้เจริญเติบโตสมบูรณ์ เมื่อไข่โตตามธรรมชาติไข่ก็จะตก จากนั้นก็ให้ทำการบ้านตามปกติในช่วงที่ไข่ตกค่ะ

วิธีนี้อาจช่วยได้ในกรณีที่ปัญหาอยู่ที่ฝ่ายหญิง "ไข่ไม่โต" และ "ไม่ตกตามเวลา" เมื่อทานยาจนไข่โตสมบูรณ์แล้ว บางรายแพทย์จะฉีดยาบังคับให้ไข่ตก แล้วก็ให้คู่สมรสไปทำการบ้านกันเอง

ดังนั้นวิธีนี้ก็คือการปฏิสนธิตามธรรมชาติ แค่ใช้ยาช่วยให้ไข่โตและตกในตอนแรกเท่านั้น

วันนี้ครูก้อยสืบค้นข้อมูลเรื่องการกินยากระตุ้นไข่ตกจาก ร.พ. กรุงเทพ มาฝากแม่ๆ เราไปศึกษารายละเอียดพร้อมกันเลยค่ะ

#การชักนำให้ไข่ตกในหญิงที่มีภาวะมีบุตรยากหมายถึงอะไร

#การชักนำให้ไข่ตก (Ovulation induction) เป็นการใช้ยากระตุ้นการเจริญเติบโตของฟองไข่ (Follicle) จนถึงระยะที่เหมาะสมจนกระทั่งมีการตกไข่ (ovulation) หรือใช้ฮอร์โมนเพื่อชักนำให้เกิดการตกไข่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ตัวอสุจิที่ผ่านโพรงมดลูกเข้าไปยังท่อนำไข่จนพบกับไข่ที่ตกมาจากรังไข่และเกิดการปฏิสนธิต่อไป

#จุดมุ่งหมาย คือ ต้องการให้มีไข่ตก "เหมือนรอบธรรมชาติ" แต่มีความแน่นอนมากขึ้น เนื่องจากตามรอบธรรมชาติแม้จะมีประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอแต่พบว่ามีการตกไข่เพียงแต่ร้อยละ 80 เท่านั้น

หมายความว่าในการมีประจำเดือนประมาณ 12-13 ครั้งในหนึ่งปีจะพบว่ามีไข่ตกเพียง 9-10 รอบเท่านั้นและจะน้อยกว่านี้ถ้าหญิงนั้นมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ

แต่การใช้ยาจากภายนอกกระตุ้นนั้นจะพบไข่ตกได้ถึงร้อยละ 80-90 ดังนั้นการรักษานี้จึงเหมาะกับคู่สมรสที่ฝ่ายหญิงมีปัญหาไข่ไม่ตก หรือในกรณีที่ไม่พบปัญหาชัดเจน

#ขั้นตอนการรักษาเป็นอย่างไร

1.เริ่มใช้ยากระตุ้นรังไข่ในช่วงต้นของรอบเดือน

2.ติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่

3.ชักนำให้ไข่ตกด้วยยาฮอร์โมน หรือ ตรวจหาวันไข่ตกด้วยแถบตรวจฮอร์โมนจากปัสสาวะ

4.กำหนดวันมีเพศสัมพันธ์หรือฉีดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก(ในกรณีที่ต้องการทำ IUI)

การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่สามารถใช้เพียงการรับประทานยาและกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์ได้เลย แต่ต้องประกอบด้วยส่วนที่สำคัญมาก คือ "การติดตามและประเมินการเติบโตของฟองไข่" หรือ การตรวจด้วยวิธีต่างๆ เพื่อหาวันไข่ตกซึ่งแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อให้การกำหนดวันไข่ตกมีความแม่นยำมากที่สุด

#การใช้ยากระตุ้นไข่ #ใช้ยาประเภทใดบ้าง

ยาที่ใช้มีทั้งยารับประทานและยาฉีด

#ยารับประทาน แพทย์มักให้เริ่มทานในช่วงวันที่ 3-5 ของการมีประจำเดือนวันละ 1-3 เม็ดเป็นระยะเวลา 5 วัน

#ส่วนยาฉีด มักใช้ร่วมกับยารับประทาน หรืออาจใช้ยาฉีดอย่างเดียวก็ได้ในบางกรณี
แต่ขนาดยาและวันที่ฉีดมีความแตกต่างได้ตามการปรับยาของแพทย์เพื่อให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน

ยาเหล่านี้เป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ จึงไม่แนะนำให้ไปซื้อยาใช้เองเนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้

#การประเมินวันไข่ตกทำได้อย่างไร

แพทย์มักใช้การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่เป็นระยะตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการตรวจ 1-2 ครั้งในรอบเดือนนั้นๆ

#โดยทั่วไปในรอบธรรมชาติที่ไม่ได้ใช้ยากระตุ้น เมื่อฟองไข่โตจนกระทั่งเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 มิลลิเมตขึ้นไปก็จะเกิดการตกไข่

#แต่รอบที่ได้รับยากระตุ้น ขนาดของฟองไข่ก่อนการตกไข่มักจะโตกว่านั้นเล็กน้อย ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะใช้ความเชี่ยวชาญประเมินวันไข่ตกจากข้อมูลการตรวจอัลตราซาวด์แต่ละครั้ง

นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาวันไข่ตกด้วยการ "ตรวจระดับฮอร์โมน LH" ในปัสสาวะ ธรรมชาติของร่างกายมนุษย์จะผลิตฮอร์โมน LH ขึ้นมาจนถึงระดับสูงสุดประมาณ 1 วันก่อนการตกไข่ หากรอบเดือนปกติ ไข่จะตกใน Day14 แต่อาจจะไม่แน่นอนเสมอไปขึ้นอยู่กับความยาวจองรอบเดือน

ดังนั้นต้องคาดการณ์วันไข่ตกก่อนแล้วใช้การตรวจทั้งก่อนและหลังวันไข่ตกที่คาดการณ์ไว้

การกำหนดวันไข่ตกอีกวิธีหนึ่งคือ #การฉีดยากระตุ้นการตกไข่ แพทย์จะวัดขนาดฟองไข่จากการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดก่อน เมื่อได้ขนาดที่เหมาะสมแล้วแพทย์จะฉีดยากระตุ้นการตกไข่และหลังจากนั้นอีกประมาณ 34-46 ชั่วโมงจะเกิดการตกไข่
ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ฉีดเชื้อ IUI หรือมีเพศสัมพันธ์หลังการฉีดยากระตุ้นการตกไข่ประมาณ 36 ชั่วโมง

#โอกาสประสบความสำเร็จมีมากเพียงใด

โดยปกติโอกาสการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติในคู่สมรสมีประมาณร้อยละ 30 ดังนั้นโอกาสการตั้งครรภ์ในคู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากที่ใช้การรักษาวิธีนี้ก็ไม่สามารถจะมากกว่าร้อยละ 30 ไปได้

โดยเฉลี่ยโอกาสการตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-20 ต่อรอบเดือน ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้ทำการชักนำให้ไข่ตกซ้ำประมาณ 3-6 รอบเดือนก่อนจะเปลี่ยนไปรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไป

#การกินยากระตุ้นไข่มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่

จุดมุ่งหมายของการชักนำให้ไข่ตกนั้นต้องการให้มีไข่ตกเพียง 1 ใบเท่านั้น แต่การตอบสนองต่อยากระตุ้นไข่ในผู้ป่วยแต่ละรายไม่เท่ากัน ทำให้บางรายมีไข่ตกมากกว่า 1 ใบต่อรอบ จึงพบโอกาสการตั้งครรภ์แฝดจากการรักษาด้วยวิธีนี้ประมาณร้อยละ 5-8 ซึ่งมากกว่าตามธรรมชาติ

การตั้งครรภ์แฝดนี้ถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของการรักษานี้ เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อทั้งมารดาและทารก

อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้ทำการรักษานั้นจะแจ้งเตือนผู้ป่วยก่อนเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารอบใดคาดว่าจะมีไข่ตกมากกว่า 1 ใบ เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการรักษาในรอบนั้นๆ

สุดท้ายในวันไข่ตกต้องมี "ตัวอสุจิว่ายเข้าไปในโพรงมดลูก" จนถึงท่อนำไข่เพื่อเจาะเข้าไปในไข่ให้เกิดการปฏิสนธิตามมา โดยอาจมีเพศสัมพันธ์ตามปกติหรือใช้การฉีดเชื้อผสมเทียมก็ได้ พิจารณาตามความเหมาะสมของปัญหาในผู้ป่วยจึงจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ค่ะ

กล่าวโดยสรุป "การกินยากระตุ้นไข่" ช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ได้เพราะเป็นการช่วยให้ไข่เจริญเติบโตและตกลงมาแน่นอนขึ้น อย่างไรก็ตามยังต้องอาศัยตัวอสุจิที่แข็งแรงจากฝั่งคุณพ่อด้วยจึงจะปฏิสนธิและมีโอกาสตั้งครรภ์ต่อไปค่ะ

ในการตั้งครรภ์นั้น การเตรียมตัวดูแลร่างกายให้พร้อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ อย่าลืมใส่ใจเรื่องโภชนาการการทานอาหาร "บำรุงไข่" "บำรุงสเปิร์ม" ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงควบคู่ไปกับการปรึกษาแพทย์นะคะ

ครูก้อยรวบรวมคัมภีร์อาหารบำรุงไข่และบำรุงสเปิร์มมาให้แล้ว ศึกษาและทำตามนะคะ ครูก้อยขอให้ประสบความสำเร็จมีเบบี๋ในเร็ววันค่ะ

ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page