เพราะอะไร จึงมีลูกยาก ?
top of page

ตอบคำถามคาใจแม่

เพราะอะไร จึงมีลูกยาก ?

คู่สมรสหลายคู่ที่อยากมีเบบี๋ แต่พยายามมาเป็นปีเจ้าตัวน้อยก็ยังไม่มาซักที ทำไมเราจึงลูกยากจัง
วันนี้ครูก้อยรวบรวมข้อมูลสาเหตุการมีบุตรยากมาฝากแม่ๆ เราไปศึกษาพร้อมกันเลยค่ะ

#ภาวะมีบุตรยาก หมายถึง.....

การที่คู่สมรสไม่สามารถมีการตั้งครรภ์ได้
โดยที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกันอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง
และไม่ได้คุมกำเนิดมาเป็นระยะเวลา 1 ปี
หรือระยะเวลา 6 เดือนในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหญิงที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไป

#ภาวะมีบุตรยาก แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. ภาวะมีบุตรยากแบบปฐมภูมิ (Primary infertility) หมายถึง ภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่ไม่เคยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นมาก่อนเลย

2. ภาวะมีบุตรยากแบบทุติยภูมิ (Secondary infertility) หมายถึง ภาวะมีบุตรยากในคู่สมรสที่เคยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยที่ไม่ว่าการตั้งครรภ์นั้นที่เป็นการตั้งครรภ์ที่สิ้นสุดลงด้วยการแท้งหรือการคลอดก็ตาม

#ภาวะมีบุตรยากมาจากสาเหตุใดบ้าง

#สาเหตุจากฝ่ายชาย

สาเหตุจากฝ่ายชายจะพบประมาณร้อยละ 30-40 ซึ่งสามารถทราบได้โดย #การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ

เป็นการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา หรือ อาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยตรวจหา กรณีที่ผลออกมาผิดปกติ กรรมวิธีการรักษาจะข้ามขั้นตอนไปทำ "อิ๊กซี่" หรือ "เด็กหลอดแก้ว" เพราะการท้องธรรมชาติจะมีโอกาสลดลง

กรณีที่ผลออกมาปกติ ต้องทดสอบคุณสมบัติของตัวอสุจิต่อไป โดยตรวจดูความสามารถของตัวอสุจิในมูกปากมดลูก ตรวจว่าตัวอสุจิสามารถอยู่รอดและเคลื่อนไหวในมูกปากมดลูกได้หรือไม่ การทดสอบนี้จะช่วยบอกได้ว่าปัญหาอยู่ที่ปากมดลูกหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาภูมิต้านทานต่อตัวอสุจิซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก

#ปัญหาที่พบได้บ่อยจากฝ่ายชาย ได้แก่

จำนวนสเปิร์มน้อย การเคลื่อนไหวแหวกว่ายผิดปกติ รูปร่างสเปิร์มผิดปกติ
ท่อนำเชื้อตีบตัน
โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ การติดเชื้อ หรือผิดปกติตั้งแต่กำเนิดในระบบสืบพันธุ์
ความอ้วน
ภาวะทุพโภชนา
ความเครียด
สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายหนักไป ซึ่งจะมีผลต่อความแข็งแรงของเชื้ออสุจิทั้งสิ้น
ผู้ป่วยโรคต่อมไร้ท่อชนิดขาดฮอร์โมนเพศชาย ทำให้พัฒนาการของลูกอัณฑะผิดปกติ การสร้างตัวอสุจิลดน้อยลง และระดับของฮอร์โมนเพศชายลดลง
โรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดปัญหาการมีบุตรยากที่สำคัญได้แก่ โรคหนองในแท้ และโรคติดเชื้อคลามัยเดีย ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ที่พบได้บ่อย การติดเชื้อทำให้ทางเดินน้ำอสุจิเกิดภาวะตีบแคบ และมีผลต่อการสร้างตัวอสุจิอีกด้วย

#สาเหตุจากฝ่ายหญิง

สาเหตุจากฝ่ายหญิงพบได้ประมาณร้อยละ 60-70 ได้แก่...

อายุมากกว่า 35 ปี ส่งผลให้โครโมโซมของเซลล์ไข่ผิดปกติ
การทำงานของระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด การติดเชื้อ
ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนทำให้ไม่มีการตกไข่
ผนังมดลูกเจริญเติบโตไม่ดี
พบท่อรังไข่อุดตัน
มีพังผืดในอุ้งเชิงกราน
มีติ่งเนื้อในโพรงมดลูก
เนื้องอกในมดลูก
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

#การตรวจเพื่อหาสาเหตุจากฝ่ายหญิง

ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการตรวจคุณสมบัติของมูกปากมดลูก
เช่นตรวจ ความเป็นกรด-ด่าง การทดสอบหลังมีเพศสัมพันธ์ ตรวจการตกผลึกเป็นรูปเฟิร์น และ การยืดตัวในช่วงไข่ตก รวมทั้งการเพาะเชื้อ เป็นต้น

ตรวจประเมินสภาพของมดลูก
โดยการฉีดเข้าโพรงมดลูก การส่อง กล้องเข้าไปดูภายในโพรงมดลูก การเจาะท้องส่องกล้องดูพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน การขูดมดลูกเพื่อตรวจสอบการตกไข่ และการทำงานของรังไข่

การตรวจสอบสภาพของปีกมดลูก
เพื่อดูว่ามีการอุดตันหรือไม่ โดยการฉีดสีเข้าโพรงมดลูกและเอ็กซเรย์ การเจาะท้องส่องกล้องร่วมกับการฉีดสีเข้าทางปากมดลูก การฉีดลมผ่านเข้าโพรงมดลูกและให้ผ่านออกทางปีกมดลูก และการฉีดของเหลวทางปากมดลูก พร้อมกับตรวจอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด เพื่อดูการผ่านของของเหลวในปีกมดลูกเข้าไปสะสมที่อุ้งเชิงกรานส่วนต่ำสุด

การประเมินสภาพของรังไข่
โดยการเจาะเลือดตรวจฮอร์โมน (FSH, LH, Estradiol, Progesterone) และติดตามดูอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดเป็น ระยะๆ เพื่อให้ทราบว่ามีการตกไข่หรือไม่ การทำงานของรังไข่ก่อนและหลังไข่ ตกเป็นอย่างไร อาจตรวจโดยวิธีอ้อม เช่น การวัดอุณหภูมิกายพื้นฐาน การขูดเอาเยื่อบุโพรงมดลูกมาตรวจเพื่อดูการทำงานของรังไข่ภายหลังไข่ตก เป็นต้น

#ภาวะมีลูกยากที่หาสาเหตุไม่พบ

ภาวะมีลูกยากที่หาสาเหตุไม่พบ หมายความว่า คู่สามีภรรยาที่มีลูกยากนั้นได้ทดสอบทุกวิธีกระบวนการหาสาเหตุเท่าที่จะทำได้แล้ว ไม่พบความผิดปกติทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสาเหตุจริงๆ บางทีต่อไปเมื่อมีเครื่องมือทดสอบที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสค้นหาสาเหตุได้ 10 ปีที่ผ่านมาอุบัติการนี้จะพบประมาณร้อยละ 10-20 ปัจจุบันในบางสถาบันอุบัติการได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

ดังนั้นหากพยายามมาเป็นปีแล้วยังไม่สำเร็จ ถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้มีบุตรยาก ควรจูงมือกันไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัดจะได้ทำการรักษาและเตรียมตัวบำรุงพร้อมตั้งครรภ์ต่อไปนะคะ

ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page