top of page

ตอบคำถามคาใจแม่

ท้องลมเกิดจากสาเหตุใด ป้องกันได้หรือไม่ ?

"ท้องลม" เป็นฝันร้ายของคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะตั้งครรภ์ธรรมชาติ หรือ ตั้งครรภ์จากการทำเด็กหลอดแก้วก็สามารถเกิดท้องลมได้ ท้องลมคืออะไร เกิดจากสาเหตุใด และสามารถป้องกันได้หรือไม่

วันนี้ครูก้อยสืบค้นข้อมูลมาให้แล้ว ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ

#ภาวะท้องลม คืออะไร

เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติชนิดหนึ่งที่เกิดจาก ไข่กับอสุจิผสมกันเป็นตัวอ่อนแล้ว มีการฝังตัวในระยะะแรกแล้ว แต่ส่วนของตัวเด็กฝ่อหายไปก่อน เหลือเพียงแค่ถุงการตั้งครรภ์ ซึ่งไม่ฝ่อไปเอง ต้องลงท้ายด้วยการขูดลอกออก หรือบางรายถ้าฝ่อเร็วมาก ถุงการตั้งครรภ์จะเล็กมาก สามารถแท้งธรรมชาติหลุดออกมาทั้งถุงหมดเลยได้โดยเฉพาะในช่วง 6 สัปดาห์แรก หรือหลัง 12 สัปดาห์ถุงก็สามารถหลุดออกมาได้ครบเช่นเดียวกัน แต่ในช่วงหลัง 7 สัปดาห์จนถึงก่อน 12 สัปดาห์ การแท้งมักจะไม่ครบ จึงอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนคือการตกเลือดก่อนมาโรงพยาบาลได้

#ท้องลมเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของท้องลมนั้นส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 50 เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อน ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ

ในท้องธรรมชาติ การเกิดท้องลมเกิดได้ทุกอายุ

อายุน้อยกว่า 35 ปี มีโอกาสเกิดท้องลมซึ่งเป็นแท้งธรรมชาติได้ร้อยละ 15
อายุ 35-38 ปี เสี่ยงท้องลมเพิ่มเป็นร้อยละ 20-25
อายุ 39-40 ปี เสี่ยงท้องลมร้อยละ 30
อายุมากกว่า 40 ปี เสี่ยงท้องลมร้อยละ 35-40

จะเห็นได้ว่าโอกาสเกิดท้องลมนั้นสัมพันธ์กับอายุ
เมื่อผู้หญิงเราอายุมากขึ้น ความปกติในแง่พันธุกรรมของไข่จะลดลงไป ทำให้ไข่ที่ได้ออกมานั้นเมื่อไปผสมกับอสุจิ จะได้ตัวอ่อนที่มีจำนวนโครโมโซมไม่ปกติ คืออาจจะขาดหรือเกินที่โครโมโซมคู่ใดคู่หนึ่งหรือหลายคู่พร้อมๆกัน

ซึ่งอายุของผู้หญิงเราก็สัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์ความผิดปกติทางโครโมโซมของเซลล์ไข่ กล่าวคือ ยิ่งอายุมาก เปอร์เซ็นต์ความผิดปกติทางโครโมโซมของเซลล์ไข่ยิ่งเพิ่มขึ้น ดังนี้

อายุ 25 โครโมโซมผิดปกติ 25%
อายุ 35 โครโมโซมผิดปกติ 50%
อายุ 40 โครโมโซมผิดปกติ 85-90%

การเกิดท้องลมเป็นเรื่องของธรรมชาติของไข่มนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบเสมอไป ไข่ที่ตกตามธรรมชาติที่มีโครโมโซมผิดปกตินั้นสามารถผสมเป็นตัวอ่อนได้ แต่ฝังตัวได้ไม่นานก็ฝ่อและเหลือแต่ถุงการตั้งครรภ์กับส่วนของรก จึงทำให้ขาดประจำเดือนเหมือนท้องทั่วไป แต่วันที่มาตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูตัวเด็กและหัวใจในช่วง 6-7 สัปดาห์ เราจะพบแต่ถุงว่างๆ ไม่มีตัวเด็กอยู่ภายใน

#มีโอกาสในการท้องลมซ้ำอีกหรือไม่

โอกาสในการเกิดซ้ำของท้องลมนั้นขึ้นกับอายุของฝ่ายหญิง โดยเมื่อเกิดในท้องแรก ท้องที่สองยังคงมีความเสี่ยงตามอายุเหมือนเดิม แต่เมื่อเกิดท้องลมถึงสองครั้ง ความเสี่ยงครั้งที่สามนั้นจะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก เนื่องจากอาจจะไม่ได้เกิดจากไข่ที่ผิดปกติตามธรรมชาติเพียงอย่างเดียว อาจจะพบว่าคู่สมรสคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมน้ันๆให้กับตัวอ่อน

การเกิดท้องลมพบได้ทั้งในการตั้งครรภ์ธรรมชาติ และการตั้งครรภ์จากการผสมภายนอกร่างกาย โดยโอกาสเกิดนั้นเป็นไปตามอายุของผู้หญิง การเกิดท้องลมบ่อยๆ นั้นเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะความผิดปกติของโครโมโซมตัวอ่อนมากขึ้น

หากเกิดท้องลมซ้ำซ้อนมากกว่าสองครั้ง ควรจะตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น คู่สมรสคนใดคนหนึ่งมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ แต่คนๆนั้นไม่พบความผิดปกติทางร่างกายเลย เราเรียกภาวะนี้ว่า balance translocation ซึ่งสามารถตรวจเลือดเพื่อดูโครโมโซมได้

#อาการของท้องลมเป็นอย่างไร

อาการของคนที่เป็นท้องลมนั้น เหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไป เนื่องจากรกมีการสร้างฮอร์โมน HCG เหมือนกับคนท้องปกติ เพียงแต่ระดับจะต่ำกว่าปกติ จึงทำให้คนท้องลมบางคนไม่ค่อยมีอาการแพ้ท้อง หรือมีอาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากคนปกติ อย่างไรก็ตามท้องลมบางคนมีอาการแบบคนท้องปกติได้เช่นเดียวกัน เช่นขาดประจำเดือน คัดเต้านม คลื่นไส้ เพียงแต่อาการมักจะน้อยกว่าคนปกติ เนื่องจากระดับของฮอร์โมน HCG ที่ต่ำกว่าปกติ

#การวินิจฉัยนั้น ทำได้โดยการตรวจอัลตราซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ 6-7 สัปดาห์ขึ้นไป เห็นว่ามีถุงการตั้งครรภ์ในมดลูก และวัดขนาดของถุงการตั้งครรภ์แล้วมีขนาดที่ใหญ่เกินกว่า 17-20 mm แต่ยังไม่พบว่ามีตัวเด็กทารก ถ้ายังไม่มั่นใจ ควรนัดตรวจติดตามภายใน 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากทารกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้รวดเร็ว ดังนั้นเมื่อมีการนัดตรวจซ้ำภายในหนึ่งสัปดาห์ เราควรจะเห็นการเจริญเติบโตของทารก และเห็นการเต้นของหัวใจ ถ้าตรวจซ้ำแล้วยังเห็นแต่ถุงที่มีขนาดที่โตขึ้น แต่ไม่เห็นตัวเด็ก แสดงว่าเป็นภาะวะท้องลมอย่างแน่นอน

#ท้องลมรักษาได้หรือไม่

เราไม่สามารถแก้ไขเหตุการณ์ได้ หากมันเกิดขึ้นแล้ว ทำได้เพียงรอการแท้งครบตามธรรมชาติ หรือถ้าไม่หลุดเอง ก็ต้องดูด หรือขูดมดลูก แล้วต้องมาพักฟื้นร่างกาย

#ท้องลมป้องกันได้หรือไม่

จะเห็นได้ว่าท้องลมมีสาเหตุมาจาก "เซลล์ไข่ที่ไม่สมบูรณ์" และสัมพันธ์กับ "อายุของฝ่ายหญิง" เพราะตามธรรมชาติยิ่งอายุมากโครโมโซมของเซลล์ไข่ยิ่งผิดปกติมากขึ้น สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด คือ #การบำรุงไข่ให้สมบูรณ์ เพราะสาเหตุของมัน คือ การที่ไข่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่แรก เราต้องจัดการที่ต้นเหตุของปัญหา

การบำรุงเซลล์ไข่ให้สมบูรณ์ได้ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารที่มีโภชนาการสูง เน้นโปรตีนและสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อบำรุงเซลล์ไข่ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อบำรุงเซลล์ไข่ให้แรง และอาจลดความเสี่ยงในการเกิดท้องลมได้ค่ะ

ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page