ราชวิทยาลัยสูติฯ เตือน!
ลักษณะหญิง...ที่ไม่ควรท้องด้วยเทคโนโลยี
ท้องยาก อยากใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วย แต่ถ้าหากมีปัญหาเรื่องสุขภาพหรืออายุที่มากเกินไป การใช้เทคโนโลยีอาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ได้ค่ะ วันนี้ครูก้อยนำข้อมูลเรื่องนี้จาก รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มาฝาก ไปศึกษาพร้อมกันเลยค่ะ
รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯได้ออกคำแนะนำกรณีที่ไม่สมควรให้มีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการตั้งครรภ์ ได้แก่
1.หญิงอายุมากกว่า 48 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
2.มีภาวะอ้วนรุนแรง ดัชนีมวลกายมากกว่า 40
3.เคยคลอดบุตรมาแล้ว 4 ครั้ง หรือผ่าคลอด 3 ครั้ง
4.ป่วยทางจิตเวชขั้นรุนแรง ที่จิตแพทย์ให้ความเห็นว่า
ไม่ควรตั้งครรภ์
5.กรณีหญิงเป็นมะเร็งระยะลุกลาม
6.กรณีเคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะที่สำคัญ เช่น หัวใจ ตับ ไต และ
7.กรณีที่มีโรคประจำตัวรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายจากการตั้งครรภ์ เช่น โรคหัวใจที่มีความรุนแรง ตับวาย ไตวาย
“กรณีเหล่านี้ราชวิทยาลัยสูติฯแนะนำว่าไม่ควรใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์โดยให้หญิงนั้นตั้งครรภ์เอง เพราะอาจเกิดอันตรายจากการตั้งครรภ์ได้ จึงต้องป้องกันไม่ให้หญิงที่มีลักษณะตามข้อแนะนำตั้งครรภ์
.
อย่างไรก็ตาม หากประสงค์อยากมีบุตร ควรไปใช้วิธีการอุ้มบุญแทน ซึ่งปัจจุบันพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้เมื่อตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2558 โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่งคือ
กำกับควบคุมการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งสถานพยาบาลที่จะให้บริการได้จะต้องขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) ได้รับอนุญาตแล้ว 75 แห่งทั้งรัฐและเอกชนกระจายอยู่ในทุกภาคทั่วประเทศ และการตั้งครรภ์แทนหรืออุ้มบุญจะต้องได้รับอนุญาตจาก กคทพ.เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว 157 คู่ โดยอนุญาต 149 คู่ คิดเป็น ร้อยละ 95
ซึ่งราชวิทยาลัยสูติฯจะเสนอไปยัง กคทพ.เพื่อให้กรณีเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ใช้ในการยื่นเพื่อพิจารณาขอให้ตั้งครรภ์แทนได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ รวมถึงกรณีผู้ที่ทำเด็กหลอดแก้ว 3 ครั้งแล้วไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ปัจจุบันในทางปฏิบัติจะใช้เป็นเงื่อนไขในการตั้งครรภ์แทนได้เช่นกัน แต่อนาคตอาจจะต้องเพิ่มเติมทำเด็กหลอดแก้วไม่ได้เนื่องจากมดลูกมีปัญหาด้วยจึงจะอนุญาต เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยที่มีปัญหาจริง ๆ” รศ.นพ.สุภักดี กล่าว
.
รศ.นพ.สุภักดี กล่าวอีกว่า การใช้เทคโนโลยีช่วยใน
การตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญที่อยากเน้นย้ำคือสูตินรีแพทย์ที่จะให้บริการในด้านนี้ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับวุฒิบัตรในอนุสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์เท่านั้น สูตินรีแพทย์ที่ยังอยู่ระหว่างการอบรมอนุสาขา อนุญาตให้ทำได้เฉพาะในสถานพยาบาลที่ฝึกอบรมและอยู่ภายใต้กำกับของสูตินรีแพทย์ที่รับวุฒิบัตรอนุสาขาแล้วเท่านั้น ไม่สามารถไปทำที่สถานพยาบาลอื่นได้
.
👉กรณีการตรวจคัดกรองพันธุกรรมตัวอ่อนให้กระทำได้ในกรณีที่กฎหมายกำหนด คือ กรณีจำเป็นและสมควรตามประกาศแพทยสภา อาทิ
(1) สามีหรือภรรยามีพันธุกรรมผิดปกติ
(2) มีประวัติการตั้งครรภ์ที่ทารกมีความพิการหรือเป็นโรคหรือความผิดปกติที่รุนแรง
(3) มีบุตรที่ป่วยเป็นโรคหรือมีความผิดปกติอย่างรุนแรงซึ่งอาจรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
(4) มีประวัติการแท้งบุตร เป็นต้น
❌ไม่ให้ทำเพื่อเลือกเพศเด็ก
ในหญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไปซึ่งอุบัติการณ์เด็กในท้องมีความเสี่ยงที่ผิดปกติเพิ่มขึ้นตามอายุมารดานั้น สามารถตรวจคัดกรองตัวอ่อนได้ตามความสมัครใจและต้องการของหญิงตั้งครรภ์
.
.
การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์อาจช่วยเพิ่มโอกาสให้เรามีลูกได้สมใจหวัง อย่างไรก็ตามต้องศึกษาถึงคุณสมบัติ ข้อบ่งชี้และสุขภาพของแม่เป็นหลักนะคะ
สำหรับแม่ๆที่สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยได้ หัวใจสำคัญในการเพิ่มโอกาสสำเร็จคือ การบำรุงเตรียมตัวไปล่วงหน้าก่อนเข้าสู่กระบวนการ ไข่ที่สมบูรณ์ สเปิร์มที่มีคุณภาพ สามารถบำรุงได้ล่วงหน้าก่อนนำไปเสิร์ฟให้กับคุณหมอ บำรุงดีมีชัยไปกว่าครึ่ง โอกาสสำเร็จก็สูงขึ้นค่ะ
Comments