top of page
ค้นหา

"หลังใส่ตัวอ่อน" เมนูไหน บำรุงร่างกายแข็งแรงทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์



หลังใส่ตัวอ่อน เป็นขั้นตอนอีกหนึ่งที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน และต้องได้รับการดูแลอย่างระมัดระวังมากๆ เนื่องจากหลังจากขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนนั้น จะสามารถพัฒนาเป็นทารก จนกระทั่งการตั้งครรภ์ ได้หรือไม่นั้น ก็จะขึ้นอยู่กับการดูแลในช่วงนี้นั่นเอง อย่างไรก็ดี ในเรื่องของโภชนาการเพื่อบำรุงตัวอ่อนให้แข็งแรงจึงต้องใส่ใจอย่างยิ่ง ซึ่งคุณแม่ควรต้องเสริมโภชนาการอย่างไรบ้าง มาดูกันค่ะ


หลังใส่ตัวอ่อน


การดูแลตนเองหลังใส่ตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญที่ทั้งสามีและภรรยาจะต้องช่วยกันดูแลสุขภาพกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้ตัวอ่อนที่กำลังจะเติบโตเป็นทารกน้อยสามารถฝังตัวอยู่ในร่างกายมารดาได้อย่างแข็งแรง ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย หรือความผิดปกติแต่กำเนิด


อยากให้ตัวอ่อนแข็งแรง ต้องดูแลโภชนาการอย่างไร?


ในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากใส่ตัวอ่อนและแพทย์ยืนยันการตั้งครรภ์แล้ว ตัวอ่อนจะมีแหล่งอาหารของตนเองซึ่งมีชื่อว่า “ถุงไข่แดง” เป็นอาหารที่เกิดจากกระบวนการธรรมชาติของตัวอ่อนเอง ถึงแม้ในช่วงนั้นมารดาจะไม่ได้กินอาหารหรือแพ้ท้องหนักจนกินอะไรไม่ได้ ตัวอ่อนก็จะยังมีถุงไข่แดงคอยหล่อเลี้ยงเป็นอาหารให้ตนเองอยู่


แต่หลังจากการตั้งครรภ์ผ่านไป 3 เดือน การผลิตถุงไข่แดงจะหยุดลง และตัวอ่อนจะหันมาพึ่งพาอาหารจากมารดา ซึ่งสารอาหารที่จำเป็นต่อการเลี้ยงตัวอ่อนเพียงรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่อย่างครบถ้วนไม่ให้ขาดก็เพียงพอแล้ว และหญิงตั้งครรภ์ทุกคนยังต้องรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามช่วงอายุของตนเองกับช่วงอายุครรภ์ด้วย


สำหรับรายการวิตามินและแร่ธาตุเสริมอื่นๆ ที่คุณแม่ทุกคนควรจะรับให้เพียงพอ เพื่อเสริมความสมบูรณ์ของสุขภาพตนเองและตัวอ่อน มีดังต่อไปนี้


ธาตุเหล็ก (Ferrous)


มีส่วนช่วยผลิตปริมาณเม็ดเลือดแดงให้กับตัวอ่อน และยังช่วยเสริมปริมาณเลือดมารดาให้เพียงพอเพื่อเตรียมชดเชยการเสียเลือดระหว่างคลอดด้วย


แคลเซียม


เพื่อเสริมกระบวนการสร้างกระดูกของทารก และลดโอกาสเกิดตะคริวกับภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) ในระหว่างตั้งครรภ์ของมารดา สามารถรับประทานเป็นเม็ดแคลเซียมเสริม หรือรับประทานเป็นนมก็ได้


วิตามินซี


ช่วยลดโอกาสเลือดออกตามไรฟันของหญิงตั้งครรภ์


กรดโฟลิกหรือโฟเลต


ช่วยป้องกันโอกาสเกิดภาวะพิการที่กระดูกสันหลัง ช่องปาก หน้าท้อง รวมถึงโอกาสเกิดความผิดปกติที่ระบบประสาทของทารก แต่ไม่จำเป็นต้องกินเยอะเกินไป แค่วันละ 1 เม็ดก็เพียงพอ


ดูแลตัวเองอย่างไรหลังใส่ตัวอ่อน ตามฉบับ ครูก้อย


ในการทำเด็กหลอดแก้ว มีหลายขั้นตอนที่ว่าที่คุณแม่ต้องฝ่าฟัน สิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่คุณภาพของไข่และตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติ เมื่อเก็บไข่เสร็จไปแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เราก็ต้องผ่านกระบวนการเตรียมผนังมดลูกให้หนา สวย ใสเป็นวุ้น เรียงสามชั้น เปรียบเสมือนการเตรียมบ้านที่พร้อมที่สุด อบอุ่นที่สุด ให้ลูกน้อยของเรามาพักอาศัยอยู่ แน่นอนว่าโอกาสประสบความสำเร็จก็ย่อมขึ้นอยู่กับความพร้อมของเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย และขั้นตอนสุดท้ายที่เป็นการทดสอบความอดทนของคนที่กำลังจะเป็นแม่ ก็คือการดูแลตัวเองหลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้ว แม่ๆ อาจจะเกิดคำถามมากมายว่าต้องดูแลปฏิบัติตัวอย่างไรหลังจากใส่ตัวอ่อน แม่ๆ รู้ไหมช่วง 7 วันแรกหลังย้ายตัวอ่อน เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด เป็นช่วงที่ตัวอ่อนจะฟักออกจากเปลือก เกาะติดเข้าสู่โพรงมดลูก และจะฝังตัว ช่วงนี้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แม่ๆควรนอนพักผ่อนให้มาก อย่าเคลื่อนไหวร่างกายเร็วๆ ไม่ควรทำงานหนัก และงานที่อาจก่อให้เกิดความเครียดเป็นเวลา 2-3 วันหลังการย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก


เมนูจากบันทึกครูก้อย ช่วงพักฟื้นหลังใส่ตัวอ่อน (วันที่ 6)


วันนี้คุณพ่อมีงานตอนเช้าค่ะ แต่ก็ไม่ลืมที่จะเตรียมมื้อเช้าไว้ให้ง่ายๆ แต่อร่อย และสะอาดค่ะ


ก็คือ เมนู "ราดหน้าหมูคุโรบูตะ"

ไม่ต้องปรุงน้ำปลา น้ำส้ม และใส่พริก เพิ่มนะคะ ทานรสชาติอ่อนๆ แบบนี้ดีที่สุดในช่วงนี้ค่ะ


ปกติก็เป็นคนชอบทานราดหน้าทะเล แต่ ช่วงใส่ตัวอ่อนใหม่ๆให้งดอาหารทะเลไปก่อน เนื่องจากอาหารทะเลมีแบคทีเรีย และอาจมีสารคงความสด เช่น ฟอร์มาลีน (ยกเว้นเราทราบแหล่งที่ไว้ใจได้) ซึ่งอาจไปทำลายตัวอ่อนได้


คุณพ่อซื้อกล้วยน้ำว้ามาตั้งไว้ให้ 1 หวี

ตั้งแต่เมื่อวานแบ่งทานได้หลายวันเลยค่ะ ช่วยป้องกันท้องผูกได้ดีเลย ส่วนส้มโชกุน ก้อยก็ทานระหว่างวันเป็นประจำค่ะ มีกากใยอาหารสูง และวิตามินซีสูงด้วย เน้นทานให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย


เรามาอัพเดทพัฒนาการของหนูบลาสต์กันหน่อย วันนี้ถือเป็น day11 ของเค้าแล้วค่ะ ถ้านับจากวันปฏิสนธิ เค้ามีส่วนคล้ายรากชอนไชเข้าไปในตัวแม่และก็กำลังจะพัฒนาไปเป็นรกในเร็วๆนี้ และตัวเค้าก็เริ่มฟอร์มตัวเป็นกลุ่มเซลล์ที่มีตัวตนมากขึ้นแล้วล่ะค่ะ

ตลอดในช่วงที่วางแผนตั้งครรภ์จนถึงตั้งครรภ์แล้ว

ห้ามลืมทาน “โฟลิก” โดยเด็ดขาดนะคะ โดยเฉพาะช่วงเวลานี้สำคัญกับตัวอ่อนมากเลย เพราะเค้าจะเริ่มสร้างหลอดประสาทปิดกั้นเสร็จสิ้นภายใน 28 วันหลังปฏิสนธิ หากคุณแม่เพิ่งรับโฟลิกเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ไปแล้วก็จะไม่ช่วยในเรื่องของการลดภาวะพิการของทารกนะคะ เพราะทุกพัฒนาการไม่สามารถย้อนกลับไปสร้างใหม่ได้


ติดตามเมนูอื่นๆ ได้ที่: คัมภีร์บำรุงหลังใส่ตัวอ่อน


บทความที่น่าสนใจ


ดู 1,667 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page