top of page
ค้นหา

ภาวะไข่ไม่ตกเกิดจาก 8 สาเหตุที่ไม่ควรละเลย

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนมีลูกยากก็คือภาวะไข่ไม่ตกซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยที่ไม่ควรละเลย วันนี้ครูก้อยจะพามาทำความรู้จักกับภาวะดังกล่าวกันค่ะ



ภาวะไข่ไม่ตกคืออะไร


เป็นภาวะที่ไม่มีฟองไข่ตกออกจากรังไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นหลังจากมีประจำเดือนรอบก่อนประมาณ 14 วัน ปกติแล้วผู้หญิงจะตกไข่เดือนละ 1 ฟอง หรือทุกๆ 28-30 วัน แต่หากคุณผู้หญิงมีรอบเดือนน้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 36 วัน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีภาวะไข่ตกน้อยหรือไข่ไม่ตก ซึ่งเกิดจากร่างกายไม่ได้สร้างกลุ่มเซลล์คอร์ปัสลูเทียมซึ่งเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้ขบวนการเติบโตของไข่หยุดชะงัก ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาตามปกติและมีลูกยากขึ้น


สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไข่ไม่ตก


1. ระบบควบคุมการผลิตฮอร์โมนสำหรับสตรีวัยเจริญพันธุ์ยังพัฒนาไม่เต็มที่


มักเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนวัยจากวัยเด็กสู่วัยรุ่น และช่วงที่รังไข่ใกล้หยุดทำงาน ได้แก่ ช่วงใกล้หมดประจำเดือน จึงทำให้การทำงานของฮอร์โมนไม่สม่ำเสมอเหมือนช่วงวัยเจริญพันธุ์


2. ภาวะมีถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS)


เกิดจากระบบต่อมไร้ท่อ หรือฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติจนเกิดถุงซีสต์หลายๆ ใบในรังไข่ และเบียดรังไข่จนรังไข่ทำงานผิดปกติ มักเกิดกับผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน


3. ภาวะรังไข่เสื่อม


หรือรังไข่หยุดทำงานก่อนวัย เนื่องจากรังไข่สร้างฮอร์โมนเพศไม่ได้ก่อนอายุ 40 ปี สังเกตได้จากการขาดประจำเดือน, การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ และมีฮอร์โมน folliclular stimulating hormone (FSH) สูงมาก มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แต่สามารถพบได้ในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี โดยคิดเป็นอัตราส่วน 1% แต่ผู้ป่วยร้อยละ 50-75 รังไข่ยังคงกลับมาทำงานได้เป็นครั้งคราว


4. โปรแลคตินสูง


เป็นฮอร์โมนผลิตออกมาจากสมองส่วนหน้าเพื่อทำหน้าที่กระตุ้นต่อมน้ำนมให้สร้างน้ำนม ระดับโปรแลคตินจะสูงขึ้นในช่วงที่คุณแม่ขณะตั้งครรภ์และช่วงให้นมลูก ซึ่งระดับที่สูงไปจะยับยั้งการหลั่งของ FSH และ LH เมื่อ FSH และ LH ลดลง รังไข่จะถูกกระตุ้นให้ทำงานน้อยลง ส่งผลให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนลดลงจนไม่ตกไข่ ภาวะโปรแลคตินสูงมีระดับความรุนแรงต่างกันไม่ว่าจะเป็นการตกไข่ปกติ, ตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ตกไข่เลย ทำให้ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอหรือขาดประจำเดือน นอกจากนี้ยังส่งผลให้รังไข่ทำงานผิดปกติจนทำให้มีลูกยาก, แท้งบ่อย, ปากช่องคลอดหรือช่องคลอดแห้ง, รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์, ความรู้สึกทางเพศลดลง, กระดูกพรุน หากมีเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมอง อาจทำให้ปวดศีรษะหรือรูปแบบการมองเห็นภาพผิดปกติ, อาจมีน้ำนมไหลทั้งที่ไม่ได้ตั้งครรภ์


สาเหตุของภาวะโปรแลคตินสูงผิดปกติอาจเกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนล่าง หรือเนื้องอกของต่อมใต้สมอง, โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, ต่อมไทรอยด์อักเสบ, มะเร็งต่อมไทรอยด์ หรืออาจเกิดจากความเครียดของประสาท, เต้านมหรือหัวนมถูกกระตุ้น, เส้นประสาทบริเวณทรวงอกถูกรบกวน, การทานยาบางอย่าง เช่น ยาฮอร์โมน, ยาระงับประสาท ยาคุมกำเนิด ฯลฯ


5. กินอาหารรสหวาน


การทานอาหารรสจัดโดยเฉพาะรสหวานจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและกระตุ้นให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนทำงานหนัก เพราะต้องผลิตอินซูลินเพิ่มและทำให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนมากเกินไป ส่งผลต่อการสร้างถุงน้ำในรังไข่และการตกไข่ ส่งผลให้ไข่ไม่ตก


6. น้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยจนเกินมาตรฐาน


ไม่ว่าจะเป็นภาวะโรคอ้วน, ภาวะเบื่ออาหาร หรือแม้แต่ความเครียดก็ตาม ส่งผลให้สมองส่วนไฮโปธาลามัสที่ทำหน้าที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ฟองไข่ในรังไข่พัฒนาผิดปกติและตกไข่ไม่ได้



7. ออกกำลังกายหักโหมเกินไป


ส่งผลให้สมองส่วนไฮโปธาลามัสและทำให้ไข่ไม่ตกได้เช่นกัน ดังนั้นควรออกกำลังกายแต่พอดี



8. เป็นโรคที่มีผลกระทบต่ออวัยวะที่ใช้ในการผลิตฮอร์โมนเจริญพันธุ์


เช่น เนื้องอกกดสมองส่วนไฮโปธาลามัส, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานหนัก หรือต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป หรือขาดไทรอยด์ฮอร์โมน


บทความที่น่าสนใจ













ดู 11,157 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page