top of page
ค้นหา

อย่าปล่อยให้มดลูกหย่อนบั่นทอนสุขภาพของคุณแม่

แม่ๆ รู้มั้ยคะว่ามดลูกหย่อน หรือภาวะมดลูกต่ำคืออะไร ส่งผลอะไรต่อคนอยากมีลูกมั้ย วันนี้ครูก้อยจะพามาทำความเข้าใจกับภาวะดังกล่าวกันค่ะ

มดลูกหย่อนคืออะไร ทำไมต้องระวังเป็นพิเศษ

โดยปกติแล้วมดลูกจะต้องอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน เนื่องจากเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง มดลูกมีรูปร่างคล้ายกับลูกแพร์กลับด้าน มีกล้ามเนื้อห้อยอยู่ระหว่างกระดูกก้นกบกับกระดูกหัวหน่าวที่ทำหน้าที่ยึดมดลูก กระเพาปัสสาวะ และลำไส้ มีเอ็นและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันยึดมดลูกให้อยู่ในอุ้งเชิงกราน หากเนื้อเยื่อดังกล่าวถูกทำลายหรือไม่แข็งแรง จะทำให้มดลูกหย่อนลงไปที่ช่องคลอด จึงเรียกภาวะนี้ว่า มดลูกหย่อน หรือมดลูกต่ำ (Pelvic Organ Prolapse)

และเป็นสาเหตุหนึ่งของการแท้งบุตรได้ง่าย หากตรวจพบว่ามีภาวะมดลูกต่ำขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะให้คุณแม่นอนอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ทั้งนี้คุณแม่จะต้องดูแลตัวเองเต็มที่ นอนพักเฉยๆ ห้ามเดินมาก ห้ามยกของหนัก และห้ามมีเพศสัมพันธ์ในระยะนี้ หากรู้สึกปวดหลัง แนะนำให้ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่ปวดอาการเพื่อบรรเทาอาการ เมื่อมดลูกกลับเข้าที่แล้วจึงดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติค่ะ จริงอยู่ว่ามดลูกต่ำไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยากค่ะ ยกเว้นแต่ว่ามดลูกต่ำมากจริงๆ จนเคลื่อนลงมา นอกช่องคลอด และทำให้ไข่ฝังตัวเพื่อตั้งครรภ์ไม่ได้


มดลูกหย่อนมีกี่ระดับ


ถ้าเกิดว่ามีมดลูกหย่อนไม่มากอาจจะรักษาโดยการฝึกขมิบช่องคลอด แต่ถ้าเป็นหนักมากแนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาทางรักษาต่อไป โดยจะต้องผ่าตัดตามระดับความรุนแรง 4 ระดับ ดังนี้

  • ระดับที่ 1 เกิดภาวะมดลูกหย่อนมาที่ช่องคลอดครึ่งหนึ่ง

  • ระดับที่ 2 เกิดภาวะมดลูกหย่อนมาใกล้ปากช่องคลอด

  • ระดับที่ 3 เกิดภาวะมดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอด

  • ระดับที่ 4 เกิดภาวะมดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอดทั้งหมด (เรียกว่า มดลูกย้อย) ที่เกิดจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทั้งหมดเสื่อมสภาพ

อาการโดยทั่วไปของภาวะมดลูกต่ำ


ภาวะมดลูกหย่อน จะแสดงอาการแตกต่างกันตามระดับความรุนแรง คุณผู้หญิงที่เกิดมดลูกหย่อนเล็กน้อย อาจไม่แสดงอาการใดๆ ส่วนผู้หญิงที่เกิดภาวะมดลูกหย่อนมาก หรือค่อนข้างรุนแรงไปถึงขั้นรุนแรงมาก อาจมีอาการเหล่านี้ค่ะ

  • รู้สึกหน่วงเหมือนถูกถ่วงที่อุ้งเชิงกรานตลอดเวลา หรือรู้สึกมีบางสิ่งโผล่ออกมาจากช่องคลอด บางครั้งจำเป็นต้องดันกลับเข้าไปข้างในช่องคลอด บางทีอาจรู้สึกเหมือนนั่งทับลูกบอลเล็กๆ อยู่ตลอดเวลา

  • มองเห็นเยื่อโผล่ออกมาจากช่องคลอด หรือมองเห็นมดลูกโผล่ออกมาจากช่องคลอด

  • รู้สึกไม่สบายตัว หรือลำบากขณะมีเพศสัมพันธ์

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะช้า ปัสสาวะไม่สุด ต้องการปัสสาวะตลอดเวลา หรือปัสสาวะเล็ดเมื่อไอ จาม และการออกกำลังกาย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • ท้องผูกบ่อยครั้ง และปวดหลังส่วนล่างมากเป็นพิเศษ


รักษาภาวะมดลูกหย่อนได้ด้วย 3 วิธี


1. ฝึกขมิบช่องคลอด

  • เริ่มจากเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน (เหมือนการกลั้นปัสสาวะ)

  • เกร็งค้างไว้และนับ 1-10 จากนั้นจึงคลายออกช้าๆ

  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง ให้ได้ 3 เซ็ต/วัน และทำอย่างน้อย 4 วัน/สัปดาห์


2. การใส่ห่วงพยุงช่องคลอด (Pessary)


เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้มดลูกและกระเพาะปัสสาวะอยู่ในตำแหน่งเดิม มีลักษณะเหมือนโดนัทและทำมาจากยาง โดยแพทย์จะใส่อุปกรณ์เข้าไปในช่องคลอดและดันขึ้นไปข้างบน วิธีนี้จะช่วยป้องกันการหย่อนคล้อยได้ชั่วคราว แต่จำเป็นต้องถอดออกเพื่อทำความสะอาดเป็นประจำ และถอดออกทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์


3. การผ่าตัด


เหมาะสำหรับผู้ป่วยบางคนที่มีช่องผนังช่องคลอด, มดลูกหย่อน, กระเพาะปัสสาวะ และทวารหนักหย่อนค่อนข้างมาก ได้แก่ การทำรีแพร์, การผ่าตัดแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ด, การตัดมดลูก เป็นต้น


วิธีป้องกันมดลูกหย่อน

  • ฝึกขมิบเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนและหลังคลอดบุตร

  • หลีกเลี่ยงอาหารท้องผูก เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานเกร็ง

  • ควบคุมน้ำหนักโดยการทานอาหารที่มีโภชนาการที่ดีและออกกำลังกายเป็นประจำ

  • งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ไอเรื้อรัง จนกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานอ่อนแรงลง

  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือออกกำลังกายหักโหมเกินไป

  • สำหรับสตรีวัยหมดประจำเดือน ครูก้อยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เรื่องการบำบัดโดยการใช้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy: HRT)


บทความที่น่าสนใจ


ดู 1,412 ครั้ง0 ความคิดเห็น
ครูก้อย.jpg

คุยกับครูก้อย/ทีมงาน

ครูก้อยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นเจ้าของเพจ BabyAndMom.co.th (เพจให้ความรู้สำหรับผู้มีบุตรยาก) ครูก้อยยินดีอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านใดที่ต้องการคุยกัน สามารถทัก LINE@ เข้ามาได้เลยนะคะ โดยจะมีครูก้อยและทีมงานคอยให้การต้อนรับค่ะ

bottom of page